กาลครั้งหนึ่งแดนผู้ดี : เมื่อลีกอังกฤษต้องหยุดชะงักเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ฟุตบอลทั่วโลกจำเป็นต้องหยุดการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ลีกลูกหนังชื่อดังในยุโรปแทบทั้งหมด ถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขณะที่ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปประจำปี 2020 ก็ถูกเลื่อนแข่งในปีต่อไปแแทน ทำให้สโมสรหลายแห่งต้องปล่อยตัวสต๊าฟออกไป และไม่มีใครรู้เลยว่าฟุตบอลอาชีพจะกลับมาแข่งขันต่อเมื่อไหร่

 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่หนแรกที่ เกมลูกหนังในอังกฤษ หยุดชะงักลงเพราะวิกฤตการณ์ระดับโลก เช่นเดียวกับในยุโรปและส่วนที่เหลือของโลกที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1939 ถึง 1945 

 

กีฬาที่ทุกคนรู้จักและหลงรักต้องมาหยุดนิ่งไปพร้อมๆกับการที่ผู้เล่นต้องออกไปมีส่วนร่วมกับสงคราม ชุมชนต่างๆถูกแยกออกจากกัน หัวเมืองหลายแห่งถูกคุกคามจากบุกรุกของต่างแดน

 

ทาง UFA ARENA จะพาทุกท่านย้อนไปดูว่าฟุตบอลแดนผู้ดีหยุดลงได้อย่างไร, การเปลี่ยนแปลงต่อจากนั้น รวมถึงช่วงเวลาที่สามารถกลับมาแข่งขันได้ตามปกติ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

จุดเริ่มต้นของการปิดลีกผู้ดี

 

 

ณ เวลานั้น แบล็คพูล ที่ไม่เคยคว้าแชมป์ลีก รั้งอันดับหนึ่งในตาราง ด้วยสถิติชนะ 3 นัดรวด ตามหลังมาด้วย เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล และ ลิเวอร์พูล

 

ชาร์ลตัน แอธเลติก อยู่เหนือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในตารางลีกสูงสุด ขณะที่ ลีดส์ ยูไนเต็ด สะกดคำว่าชนะไม่เป็นเลยในฤดูกาล 1939-40 ส่งผลให้ทีมนกยูงทองจมอยู่ท้ายตาราง ส่วน ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็โลดแล่นอยู่กลางตารางของลีกดิวิชั่น 2 

 

เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องให้คนหนุ่มเข้าร่วมกองทัพเพื่อสู้รบในสงคราม หลายคนเชื่อว่ามันจะกลายเป็นจุดจบของฟุตบอลในอีกหลายปีข้างหน้า

 

ใน  Football Is My Business หนังสืออัตชีวประวัติของ ทอมมี่ ลอว์ตัน อดีตกองหน้าเอฟเวอร์ตัน ได้กล่าวว่า “จากนั้น สงครามก็มาถึงและเป็นจุดสิ้นสุดอาชีพค้าแข้งของผม หรือไม่ผมก็รู้สึกแบบนั้น”

 

“แน่นอนว่าคงไม่มีช่องว่างให้กับฟุตบอลอาชีพในโลกที่บ้าคลั่งแบบนี้หรอก ผมที่ยังหนุ่มแน่น, ฟิตสมบูรณ์ในวัย 20 ปี ก็คงต้องไปรับใช้ชาติ”

 

“ในขณะเดียวกัน เวลาว่างที่ผมเหลือจากการทำเรื่องส่วนตัว ผมสาปแช่ง ฮิตเลอร์ และพลพรรคของเขาทั้งหมด และในบางครั้งก็นั่งคิดทวบทวนถึงสิ่งที่เคยเป็นและสิ่งที่อาจเกิดขึ้น”

 

  

ลีกภูมิภาคเข้ามาแทน

 

 

แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากและความวุ่นวายของสงคราม ฟุตบอลยังคงมีบทบาทในชีวิตประจำวันของนักเตะและผู้คนอยู่

 

กีฬาชนิดนี้ถือว่ามีอิทธิพลที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจแก่ ทหาร หรือ พลเรือน และฟุตบอลแดนผู้ดีก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแบบชั่วคราว

 

ข้อจำกัดในการเดินทางทำให้ฟุตบอลต้องลำบากไม่น้อย หลังรัฐบาลกำหนดให้เดินทางในระยะ 50 ไมล์ และจำกัดแฟนบอล 8,000 คนต่อนัดเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในสาธารณะ

 

นั่นหมายความว่า ฟุตบอล 4 ดิวิชั่นในอังกฤษ ถูกแทนที่ด้วย ลีกภูมิภาค ซึ่งทำให้สโมสรต่างๆจะแข่งขันกันได้โดยลดระยะการเดินทางด้วย

 

มีการแบ่งลีกออกต่างภูมิภาคต่างๆในอังกฤษ ทั้งฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ, ตะวันตกเฉียงใต้, ตะวันออกเฉียงเหนือ, มิดแลนด์, มิดแลนด์ตะวันออกและทางตะวันตกของประเทศ ขณะที่ เอฟเอ คัพ ถูกยกเลิกไป และแทนที่ด้วย ฟุตบอล ลีก วอร์ คัพ

 

เกมระดับนานาชาติของทีมชาติอังกฤษก็ถูกยกเลิกด้วย แต่การแข่งขันเกมไม่เป็นทางการและเกมกระชับมิตรกับทีมอื่นๆในสหราชอาณาจักรก็เข้ามาทดแทนในส่วนนั้น

 

ถึงจะมีการแข่งขัน แต่ฟุตบอลในสหราชอาณาจักรก็ไม่ง่ายเลยในช่วงสงคราม เนื่องจากสนามต่างๆถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองทัพ หรือถูกทำลายจากการจู่โจมทางอากาศ เช่น ไฮบิวรี่ รังเหย้าของอาร์เซน่อล กลายเป็นศูนย์ป้องกันการโจมตีทางอากาศ ดังนั้น ปืนใหญ่จึงต้องขอใช้สนามร่วมกับอริร่วมเมืองอย่าง ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์

 

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในกีฬาฟุตบอลก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะอยู่ในช่วงโกลาหลจากสงคราม การจำกัดแฟนบอลถูกผ่อนปรน และมีผู้ชมกว่า 60,000 คนในเกมนัดชิง ฟุตบอล ลีก วอร์ คัพ ของปี 1941 ณ สนามเวมบลี่ย์ แม้ว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดของนาซี จะโจมตีกรุงลอนดอนก็ตาม

 

 

ผู้เล่นรับเชิญ

 

 

ไม่ใช่แค่รูปแบบของลีกที่ถูกเปลี่ยนไปเท่านั้นในช่วงสงคราม แต่รวมไปถึงสัญญาของผู้เล่นก็ถูกยกเครื่องใหม่เช่นกัน

 

สถิติในช่วงสงครามได้บันทึกไว้ในระหว่างปี 1939 ถึง 1945 ว่ามีนักฟุตบอลว่า 784 คนที่เข้าร่วมสงครามระดับชาติ โดยแบ่งเป็นนักเตะวูล์ฟแฮมป์ตัน 91 คน, นักเตะลิเวอร์พูล 76 คน และ นักเตะ 65 คนจากฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์

 

นั่นทำให้สโมสรต่างๆเหลือผู้เล่นในทีมไม่มาก ดังนั้น เอฟเอ จึงละทิ้งแนวคิดเกี่ยวกับสัญญานักเตะออกไป และ อนุญาตให้สโมสรสามารถดึงแข้งรับเชิญมาลงเล่นได้ นั่นหมายความว่า นักเตะที่เข้าร่วมสงครามสามารถย้ายไปเล่นได้หลากหลายสโมสร โดยขึ้นอยู่ว่าพวกเขาจะประจำอยู่สถานีที่ไหนของกองทัพ

 

ลอว์ตัน ที่เข้าร่วมกองทัพสหราชอาณาจักรในปีช่วงต้นปี 1940 ประจำอยู่ที่ เบอร์เกนเฮด ทำให้เขาสามารถเล่นให้ เอฟเวอร์ตัน ได้ อีกทั้งกองหน้าทีมท็อฟฟี่ ยังเล่นให้กับ เลสเตอร์ ซิตี้, กรีน็อค มอร์ตัน, เชสเตอร์ ซิตี้, อัลเดอร์ช็อต และ ทรานเมอร์ โรเวอร์ส ในช่วงสงครามด้วย

 

“ผมเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ยังรับราชการทหารในประเทศนี้ และสามารถเข้าร่วมการแข่งขันประจำสัปดาห์ตลอดระยะเวลาของการทำสงครามได้” ลอว์ตันกล่าวเสริม

 

ขณะที่ บิล แชงคลีย์ กุนซือระดับตำนานของลิเวอร์พูล ก็เล่นฟุตบอลในช่วงสงครามให้กับ นอริช, อาร์เซน่อล, ลูตัน กับ พาทริค ตริสเทิล และถึงแม้เขาจะเล่นให้กับ เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ ในช่วงก่อนและหลังสงคราม ครั้งหนึ่ง อดีตกองกลางชาวสก็อตก็เคยเป็นแข้งหงส์แดงในนัดที่เอาชนะ เอฟเวอร์ตัน 4-1 ณ สนามแอนฟิลด์ ในเดือนพฤษภาคมปี 1942 ด้วย

 

นอกจากนี้ ช่วงเวลาของสงครามยังทำให้ แจ็คกี้ มิลเบิร์น ประเดิมอาชีพค้าแข้งเป็นครั้งแรกกับ นิวคาสเซิล ในปี 1943 ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในกองหน้าที่ยอดเยี่ยมที่สุดของวงการลูกหนังแดนผู้ดี และปิดฉากการค้าแข้งด้วยการซัดให้ สาลิกาดงถึง 200 ลูก

 

  

กลับสู่ปกติ

 

 

หลังจากการตายของ ฮิตเลอร์ และ เยอร์มัน ประกาศยอมแพ้สงคราม ในเดือนพฤษภาคมปี 1945 จุดจบที่หลายคนรอคอยก็มาถึง และมาพร้อมกับการแข่งขันใหม่อีกครั้งของ เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1945-46

 

ขณะที่ลีกระดับภูมิภาคก็มีการแข่งขันต่อไปอีกหนึ่งฤดูกาล แต่เป็นเพียงแค่ลีกจากฝั่งเหนือและฝั่งใต้เท่านั้น ก่อนที่รูปแบบฟุตบอล 4 ดิวิชั่นเดิมจะหวนกลับมาอีกครั้งในฤดูกาล 1946-47

 

อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนั้นก็ยังส่งผลกระทบต่อวงการลูกหนัง แม้ว่าจะสิ้นสุดไปนานแล้วก็ตาม อย่างกรณีของ เบิร์ต เทราท์มันน์ ผู้รักษาประตูของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกแฟนบอลของตัวเองเยาะเย้ยถากถาง ทั้งๆที่เขาเป็นฮีโร่ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1956 เนื่องจาก นายทวารชาวเยอรมันเคยเป็นอดีตทหารของนาซีมาก่อน

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า อาจส่งกระทบจนเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ แต่ฟุตบอลและชุมชนต่างๆก็เคยพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่าสามารถกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งจากวิกฤตระดับโลกในยุคก่อน

 

และเชื่อว่าในครั้งนี้พวกเขาก็จะทำได้เช่นกัน