ก่อนสายเกินแก้! 6 เหตุผลว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่โซลชาต้องไป

 

วิกฤต , หายนะ , สภาวะฉุกเฉิน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ใช้บ่งบอกถึงสถานการณ์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเวลานี้ได้ทั้งสิ้น โดยพวกเขาเพิ่งเก็บไปได้แค่ 9 คะแนนเท่านั้น จากการลงสนามในพรีเมียร์ลีก 8 นัดแรก พร้อมเดินหน้าทำลายสถิติในด้านลบของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ต้องรับดาเมจมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นคนเป็นผู้จัดการทีมอย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา

 

“สร้างทีม” คือคำที่ดูเหมือนจะเป็นเกราะคอยห่อหุ้มตัวกุนซือหน้าทารกเอาไว้ในขณะนี้ ซึ่งการที่เจ้าตัวเพิ่งได้กระโจนเข้าสู่ตลาดซื้อขายนักเตะไปเพียงรอบเดียว ก็ไม่แปลกอะไรหากจะให้เวลากับตำนานของสโมสรรายนี้ได้พิสูจน์ตัวเองต่อไป แต่อีกมุมหนึ่ง ด้วยปัญหามากมายที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้เกิดคำถามเช่นกันว่าเรากำลังวางใจวิศวกรให้สร้างบ้านผิดคนหรือเปล่า ?

 

และต่อไปนี้ คือ 6 เหตุผลที่ว่าทำไมการปลด โซลชา จึงเป็นทางเลือกที่ควรทำ

 

ไม่มีแนวทางการเล่นที่ชัดเจน

 

 

เจอร์เก้น คล็อปป์ , เป๊ป กวาร์ดิโอล่า หรือแม้กระทั่งกุนซือหน้าใหม่อย่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด ทุกคนล้วนมีสไตล์การเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง พวกเขานำระบบเข้ามาติดตั้งให้กับทีม แล้วค่อยๆปรับจูนนักเตะให้ลงล็อคกับแนวทางที่วางเอาไว้ หากลายเซ็นของเทรนเนอร์ชาวเยอรมันคือเฮฟวี่เมทั่ลฟุตบอล ลายเซ็นของนายใหญ่ชาวสแปนิชคือการต่อบอลที่สวยงาม เมื่อมองมาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ในตอนนี้ คุณมองออกไหมว่าลายเซ็นของ โซลชา คืออะไร ?

 

บางคนอาจแย้งว่า คล็อปป์ ใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะสร้างอาณาจักรหงส์แดงให้เกรียงไกรขึ้นมาได้ แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้เริ่มต้นอย่างราบรื่น แต่พวกเขาต่างมีในสิ่งที่ภาษาบ้านๆเรียกว่า “ทรงบอล” แม้ผลงานอาจไม่เป็นดั่งใจบ้างในช่วงตั้งไข่ แต่แฟนบอลก็พร้อมที่จะอดทนรอเมื่อได้เห็นแนวโน้มของทีมที่พัฒนาขึ้น กลับกัน เมื่อสาวกอสูรไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บางที โซลชา อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมสำหรับการสร้างทีมปีศาจแดงก็เป็นได้

 

ขาดกึ๋นในการแก้เกม

 

 

“ในครึ่งแรก มันเป็นฟอร์มการเล่นที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ครึ่งหลังเราทำได้ดีขึ้น แต่เราก็สร้างสรรค์เกมรุกไม่ได้เลย เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร เราเล่นตามปรัชญาและแนวทางเดิมของเรา” นี่เป็นส่วนหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา หลังจบเกมที่ แมนฯ ยูไนเต็ด บุกไปพ่าย นิวคาสเซิ่ล 0-1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

 

ถ้อยคำดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นว่ากุนซือนอร์วีเจี้ยนยังเลือกที่จะเล่นแบบเดิม ทั้งที่เกมบุกของปีศาจแดงไม่ได้สร้างความอันตรายให้กับเจ้าถิ่นเลย และปัญหานี้ก็เป็นมาตลอดตั้งแต่ต้นซีซั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมที่ ยูไนเต็ด ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่ลงไปรับลึกหน้าปากประตู จนบางทีอดคิดไม่ได้ว่าเจ้าตัวเชื่อมั่นในแผนการเล่นเกินไป หรือหมดไอเดียในการเข้าทำแล้วกันแน่ ซึ่งถ้าไม่นับเกมเปิดหัวที่ถล่ม เชลซี ไป 4-0 ฤดูกาลนี้พลพรรคอสูรเพิ่งเจาะตาข่ายคู่แข่งในลีกได้แค่ 5 ลูกเท่านั้น

 

จังหวะเหมาะที่จะดึงกุนซือมือดี

 

 

มัสซิมิเลียโน่ อัลเลกรี , หลุยส์ เอ็นริเก้ และ อาร์แซน เวนเกอร์ กำลังว่างงาน ขณะที่ในรายของ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ก็กำลังระหองระแหงกับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นยอดฝีมือที่ แมนฯ ยูไนเต็ด มีโอกาสสูงที่จะดึงมากุมบังเหียนได้ (แม้รายหลังอาจจะยากขึ้นมาหน่อย) ดังนั้น หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยเกินไป บางทีสถานการณ์อาจไม่เหมือนเดิม เพราะไม่ได้มีแค่ปีศาจแดงเท่านั้นที่กำลังมองหาแม่ทัพคนใหม่

 

มีส่วนทำให้นักเตะทยอยกันเจ็บ

 

 

หลังจาก โซลชา ก้าวเข้ามารับงานบนถิ่น โอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้ระยะหนึ่ง อาการบาดเจ็บก็เริ่มเกิดกับขุนพลปีศาจแดงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนน่าวิตก และส่วนใหญ่นั้นเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเอง น้อยครั้งมากที่มาจากการปะทะ ซึ่งการที่ปัญหาดังกล่าวลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน มันทำให้เราสามารถตัดปัจจัยที่นักเตะกำลังอยู่ในช่วงปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับแนวทางของเจ้านายใหม่ทิ้งได้ ฉะนั้น ในเมื่อทีมงานที่ดูแลด้านนี้เกือบทั้งหมดยังเป็นชุดเดิม คนที่ควรจะรับผิดชอบกับปัญหาคือผู้ที่ออกแบบวิธีการเล่นและการฝึกซ้อมจริงไหม ?

 

ดื้อในสิ่งที่ไม่เวิร์ค

 

 

โซลชา ยึดมั่นในระบบ 4-2-3-1 มาตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่น และดันทุรังใช้มาตลอดจนถึงตอนนี้ทั้งที่ผลงานก็ให้คำตอบแล้ว โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แผนนี้ไม่สำแดงผล คือการที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีเพลย์เมคเกอร์ตำแหน่งหมายเลข 10 ชั้นอ๋องที่สามารถปั้นเกมได้ การเปลี่ยนกลับมาใช้ระบบ 4-3-3 ที่ไม่ต้องการมิดฟิลด์ตัวรุกจึงน่าจะเป็นทางออกที่เข้าท่าที่สุด อย่างไรก็ตาม อดีตนายใหญ่โมลด์กลับหลงลืมไปแล้วว่าตัวเองแจ้งเกิดขึ้นมากับปีศาจแดงจากระบบนี้ และดูแล้วคงจะยังเชื่อมั่นในแผนการเล่นปัจจุบันไปอีกนาน

 

เป็นเด็กดีของบอร์ดบริหาร

 

 

แฟนบอลปีศาจแดงส่วนใหญ่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในตอนนี้อยู่ที่บอร์ดบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องธุรกิจก่อนผลงานในสนามอย่าง เอ็ด วู้ดเวิร์ด แม้ว่าซีอีโอหน้าเงินรายนี้จะแทรกแซงการซื้อขาย , จัดการเรื่องสัญญาได้ห่วยแตก หรือเดินดีลในตลาดนักเตะได้บัดซบขนาดไหน โซลชา ก็มักจะยอมแต่โดยดี จนกลายเป็นเสมือนหุ่นเชิดของสโมสรอย่างที่ โชเซ่ มูรินโญ่ เคยแซะเทรนเนอร์หน้าทารกเอาไว้หลังจบฤดูกาลที่แล้ว

 

เมื่อเบื้องบนไม่ไล่ตัวเองออก การเปลี่ยนแปลงในระดับผู้จัดการทีมก็คงเป็นทางเลือกที่ทำได้และเห็นผลที่สุด ซึ่งผู้ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ ก็ควรเป็นคนที่มีพาวเวอร์พอที่จะต่อรองกับบอร์ดบริหารได้ (บ้าง) และสามารถจัดการกับทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนแบบเต็มร้อย ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด ก็เห็นจะเป็นเคสของ โปเช็ตติโน่ ที่พาไก่เดือยทองทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจเมื่อซีซั่นก่อน ทั้งที่ไม่ได้เสริมทัพเลยแม้แต่รายเดียว