ก่อน FIFA ครองเมือง : Winning Eleven 4 เกมลูกหนังสุดฮิตยุค PS1

Winning Eleven 4

Pro Evolution Soccer หรือ Winning Eleven เป็นหนึ่งในวีดีโอเกมฟุตบอลที่อยู่คู่กับคอบอลและเกมเมอร์มานานกว่า 26 ปี ไล่เลี่ยกับ FIFA คู่แข่งจาก EA 

แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกมจากค่าย Konami จะตามหลัง FIFA อยู่บ้าง โดยเฉพาะในปีล่าสุดที่รีแบรนด์เกมใหม่ยกชุดกับ eFootball 2022 ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่หากย้อนไปในช่วงแรกๆที่เกมซี่รี่ย์นี้วางจำหน่าย ไม่มีเกมลูกหนังไหนได้รับความนิยมเท่าพวกเขาอีกแล้ว

และหนึ่งในภาคที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคก่อนคงหนีไม้พ้น Winning Eleven 4 ซึ่งเป็นภาคแรกที่มีโหมดคุมทีม หรือ มาสเตอร์ ลีก เข้ามา จนกลายเป็นโหมดสุดฮิตที่มีติดมาทุกภาคจนถึงปัจจุบัน

ทาง UFA ARENA จึงขอพาทุกท่านไปย้อนรำลึกถึงหนึ่งในเกมฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลในช่วงต้นยุค 2000 ผ่านบทความชิ้นนี้กัน

 

กำเนิดยุคทอง

Winning Eleven 4 English Version ⚽️ Match Mode 🇯🇵 Golden World Japan vs Japan National Team 🇯🇵 "4K" - YouTube

Winning Eleven 4 วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1999 โดยลงในเครื่องเพลย์สเตชั่น 1 เพียงแพลตฟอร์มเดียวเท่านั้น และทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษภายในชื่อ ISS Pro Evolution ก่อนวางจำหน่ายในวันที่ 6 มิถุนายนของปีถัดมา

นอกจากโหมดใหม่, รายละเอียดลูกเล่นต่างๆที่ปรับปรุงจากภาคก่อน และทีมชาติที่มีให้เลือกเล่นจนจุใจแล้ว ในภาคนี้ Konami ค่ายผู้พัฒนาเกมยังเพิ่มสโมสรให้เลือกเล่นถึง 16 ทีม เพียงแต่สามารเล่นได้ในโหมดมาสเตอร์ลีกเท่านั้น

ในยุคนั้นสื่อวีดีโอเกมหลายสำนักได้ยกให้ Winning Eleven 4 เป็นเกมฟุตบอลที่ดีที่สุดแห่งยุค และรับเสียงวิจารณ์ด้านบวกอย่างมาก ทั้ง เพลย์ แม็กกาซีน (9/10), คอมพิวเตอร์ แอนด์ วีดีโอเกมส์ (5/5), ฟามิซึ (31/40)

เสียงตอบรับของแฟนก็ดีไม่แพ้กัน แถมยังดึงผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาได้มากโข โดยเฉพาะในบ้านเราที่มักจะเห็นบรรดาเด็กเกรียนในร้านเกมต่างๆนั่งดวล วินนิ่งฯ กันแทบทุกเครื่อง

อีกทั้งความสำเร็จในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ยังนำมาต่อยอดให้ วินนิ่งฯ กลายเป็นเกมฟุตบอลอันดับหนึ่ง นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคเพลยสเตชั่น 2 เป็นต้นมาในปี 2001 อีกด้วย 

 

ชื่อผิดต้อง Edit เอง

รู้จักกับ Winning Eleven 4 อดีตเกมฟุตบอลแห่งมวลมนุษยชาติ (2021) 💡 Aloccw 💡

เรื่องบางอย่างในเกมวินนิ่งภาคเก่าที่อาจทำให้แฟนๆรู้สึกขัดใจนิดๆ ก็คือบรรดาชื่อนักเตะ หรือทีมต่างๆในเกม ที่ไม่ตรงกับชีวิตจริงในวงการลูกหนัง เนื่องจากปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์

เช่นทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะเปลี่ยนไปเรียกว่า ‘แมน เรด’ หรือกรณีของทีมเชลซี ก็จะเปลี่ยนมาเรียกว่า ‘เวสต์ ลอนดอน บลู’ แทน เป็นต้น ตลอดจนชื่อสนามแข่งขัน เช่น สแตมฟอร์ด บริดจ์ ของเชลซี ก็จะใช้คำว่า ‘บลู บริดจ์’ หรือโอลด์ แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะใช้คำว่า ‘แทรด บริค สเตเดี้ยม’ แทน

จริงๆแล้วคุณสามารถเข้าไปเปลี่ยนชื่อเหล่านั้นให้ถูกต้องด้วยตัวเองได้ โดย Edit ได้ในโหมด Option ของเกม ถ้าคุณมีเวลาและความพยายามมากพอในการแก้ไขข้อมูลและชื่อเหล่านั้น

แม้ชื่อของผู้เล่นในเกมภาคนั้นจะไม่ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์จากทีมหรือสโมสรในปัจจุบัน แต่แฟนบอลก็พอจะรู้ได้ว่านักเตะที่ตนเองเล่นเป็นใครจากรูปลักษณ์ หรือ ชื่อที่มีตัวสะกดที่ผิดไปจากปกติเล็กน้อย เช่น Rabanilli (ราวาเนลลี่) จากอิตาลี, ปีกซ้ายทีมชาติเวลส์อย่าง Gigsi (กิ๊กส์)

เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเห็นเมื่อคุณเห็นแบ็คซ้ายทีมชาติบราซิล หัวโล้น และมีท่าซัดฟรีคิกระยะไกลด้วยการซอยเท้าหลายเมตรก่อนยิง ใครๆก็ต้องบอกว่านี่คือ โรแบร์โต้ คาร์ลอส ชัดๆ แม้ในเกมจะใช้ชื่อ R.Larcos ก็ตาม

แต่ด้วยการแแก้ไขข้อมูลเกมในเวลาต่อมาทำให้ชื่อหรือทีมต่างๆเหมือนกับฟุตบอลในเรื่องจริงๆ เพื่อให้ผู้เล่นรับอรรถรสในการเล่นมากยิ่งขึ้น

 

แข้งไวใครๆก็ชอบ

World Soccer Jikkyou Winning Eleven 4 [PS1] gameplay (BRA🇧🇷 x FRA🇫🇷) - YouTube

ค่าพลังของนักเตะที่ส่งผลอย่างมากกับเกมเพลย์ในภาคนี้คือ Speed หรือ ความเร็ว ที่แบ่งออกเป็นค่าตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 ซึ่งถ้านักเตะคนไหนมีค่าสปีดเต็ม 9 พวกเขาสามารถวิ่งพุ่งไปข้างหน้าราวกับจรวด จนแนวรับคู่แข่งฉีกเป็นชิ้นๆ

เพราะฉะนั้นนี่จึงกลายเป็นค่านิยมการเสริมทัพในโหมดมาสเตอร์ ลีก ของเกมเมอร์ยุคก่อน และสร้างให้สโมสรของตนไร้เทียมทานได้ตั้งแต่ยังไม่ทันผ่านครึ่งฤดูกาลแรกด้วยซ้ำ

เงินซื้อผู้เล่นในเกมก็ทำได้ง่ายสุด เพียงแต่เอาชนะคู่แข่งได้ไม่กี่เกม ก่อนจะนำเงินจำนวนมาคว้านักเตะที่มีทั้งความเร็ว และ ความอึด ในระดับที่ดีเยี่ยมมาร่วมทีมแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก และที่สำคัญคุณสามารถซื้อนักเตะคนไหนมาร่วมทีมก็ได้ โดยไม่มีการจำกัดเวลาซื้อขาย ตราบเท่าที่คุณมีเงินซื้อ 

โดยนักเตะที่ผู้เล่นนิยมซื้อไปร่วมทีมยกตัวอย่างเช่น โรนัลโด้ (บราซิล), โรแบร์โต้ คาร์ลอส (บราซิล), , แดเนียล อโมคาชี่ (ไนจีเรีย), อังเดร เชฟเชนโก้ (ยูเครน), โรเบิร์ต ยาร์นี่ (โครเอเชีย) หรือ กาเบรียล บาติสตูต้า (อาร์เจนติน่า) เป็นต้น

นอกจากนี้ การนำ คาร์ลอส มาเล่นเป็นกองหน้าคู่กับ โรนัลโด้ ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่หยิบทีมชาติบราซิลมาเล่น เพราะทั้งคู่สามารถเลี้ยงฉีกหนีคู่แข่งได้ตั้งแต่กลางสนามยันหน้าปากประตูคู่แข่ง รวมไปถึงซื้อมาเป็นกองหน้าคนใหม่ในมาสเตอร์ลีกก็มีไม่น้อยเช่นกัน

 

L1+X= ประตู

รู้จักตัวจริงของ “ออกุสติน ซิโม” นักเตะโนเนมในวินนิ่ง 4 ที่แทบทุกคนต้องซื้อ

จริงๆแล้วการทำชิ่ง หรือที่หลายๆคนเรียกติดปากว่า ‘วัน-ทู’ มีขึ้นครั้งแรกใน Winning Eleven 3 และก็มียังมีเห็นอยู่ในภาคต่อมา แต่ด้วยความโกงของมันต้องทำให้ Konami ต้องปรับความสามารถของมันลง

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการกด L1+X ในภาค 3 ทำให้ผู้เล่นทำชิ่งจนหลุดผ่านกองหลังเข้าไปดวลกับผู้รักษาประตูอย่างง่ายดาย, ได้ผล 100 เปอร์เซนต์ ราวกับเป็นบั๊กที่แก้ยังไงก็แก้ไม่หาย 

แม้จะปรับความสามารถลงมา แต่การทำชิ่งในภาค 4 ประสิทธิภาพและผลลัพธ์ก็ยังยอดเยี่ยม (และโกง) ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก เป็นเหตุให้ผู้เล่นหลายคนมีการจำกัดการกดใช้ต่อเกมและถึงขั้นยกให้ L1+X เป็นปุ่มต้องห้ามด้วยซ้ำ

 

‘วินนิ่งไหมสาด!’

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Winning Eleven 4 กลายเป็นกระแสกับเกมเมอร์ในบ้านเราเป็นอย่างมาก ก็คงหนีไม่พ้นบทเพลงแปลงสุดเกรียนที่ชื่อ ‘วินนิ่งไหมสาด’ 

เพลง Parody เป็นการเอาทำนองมาจากเพลง “น้องเปิ้ล” ของวง Paradox พร้อมถูกบรรจุลงในแผ่นเกมวินนิ่งฯเวอร์ชั่นคนไทยทำเอง จนกลายเป็นบทเพลงในตำนานแห่งยุค

ด้วยการร้องที่ยียวนกวนอวัยวะเบื้องล่างของ ซ้ง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล เจ้าของเพลงฮิตของคอเกม ช่วงต้นยุค 2000 ช่วยส่งเสริมความโด่งดังของเกมนี้ขึ้นไปอีกระดับ

โดยจุดเริ่มต้นของเพลงนี้ ซ้ง ได้เล่าเรื่องนี้ผ่าน Mainstand  ว่าตนเองแต่งเพลงนี้ให้กับ ‘กี้’ หนึ่งในสมาชิกเว็บบอร์ด “ซังกะบ๊วย” ที่เขาก่อตั้งขึ้น ซึ่งท้าดวลวินนิ่งฯ กับชาวบ้านไป แม้แพ้ให้เขาไปแบบยับเยิน แต่ก็ยังโม้ว่าตนเป็นฝ่ายชนะซะอย่างนั้น

หลังไปปล่อยเพลงในเว็บบอร์ด ‘วินนิ่งไหมสาด’ กลายเป็นบทเพลงที่โด่งดังสร้างกระแสให้คอเกมลูกหนังอย่างมหาศาล ก่อนจะกลายเป็นเพลงชาติของวินนิ่งไทยในช่วงเวลานั้น

 

คลาสสิคที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังหมดยุค PS1 เป็นต้นมา การทำชิ่ง ไม่สามารถทำสำเร็จได้ทุกครั้งที่ใช้ ส่วนนักเตะก็มีการเพิ่มค่าความสามารถต่างๆให้สมดุลมากขึ้นไม่ใช่แค่วิ่งเร็วแล้วจะโหดกว่าใครๆ หรือ โหมด มาสเตอร์ ลีก ที่มีการเจรจาค่าตัว, ค่าเหนื่อย และช่วงเวลาในการซื้อขายให้เหมือนกับฟุตบอลในชีวิตจริงมากขึ้น

อีกทั้ง ลิขสิทธิ์จากทีมชาติ, สโมสร และ ผู้เล่นชั้นนำต่างๆ ก็นำมาซื้อมาใช้ในเกมอย่างถูกต้อง จนผู้เล่นไม่ต้องลำบากไปแก้ไขเองอีกต่อไป

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ Winning Eleven 4 มีเอกลักษณ์โดดเด่นเหนือ FIFA อยู่หลายขุม และเป็นอะไรที่สมจริงที่สุดเท่าที่เกมๆนึงจะทำได้ในสมัยนั้นแล้ว 

และความคลาสสิคเหล่านี้ที่ทำให้เกมเมอร์รุ่นเก๋าต้องหยิบยกมาพูดถึงเป็นครั้งคราวและไม่มีทางเลือนหายไปจากความทรงจำอย่างแน่นอน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่คาดผม
แก้ปวดหัว? : 10 แข้งดังกับที่คาดผมสุดคูล