จากปิยะพงษ์ถึงศศลักษณ์ : 35 ปีเคลีกเปลี่ยนไปแค่ไหน

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เรียกเสียงฮือฮาจากแฟนบอลไทย เกิดขึ้น หลัง ศศลักษณ์ ไหประโคน แบ็คซ้าย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถูกดึงไปร่วมทัพ ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ในศึก เค ลีก เกาหลีใต้ ด้วยสัญญายืมตัว 6 เดือน

 

โดยการย้ายไปค้าแข้งบนลีกสูงสุดแดนโสมขาวของ ศศลักษณ์ ไหประโคน ทำให้เจ้าตัวกลายเป็นนักเตะไทย คนที่สองที่ได้รับโอกาสดังกล่าวต่อจาก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตำนานศูนย์หน้าทีมชาติไทย ซึ่งเคยสร้างความยิ่งใหญ่กับ ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ เมื่อปี 1984-1986 จนถูกยกย่องเป็นหนึ่งผู้เล่นระดับตำนาน เค ลีก

 

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาระหว่างยุค ปิยะพงษ์ จนมาถึง ศศลักษณ์ ไหประโคน ซึ่งยาวนานกว่า 35 ปี วงการฟุตบอลลีกเกาหลีใต้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพ, ความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งความนิยม

 

เพราะฉะนั้นวันนี้ UFAARENA จะขอพาไปย้อนดูกันว่า นับตั้งแต่ช่วงเวลาของ มาจนถึงยุคปัจจุบันซึ่ง ศศลักษณ์ ไหประโคน กำลังจะย้ายค้าแข้งบนลีกฟุตบอลอาชีพเกาหลี ศึกฟุตบอล เค ลีก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และถูกปรับโฉมไปมากน้อยแค่ไหน

 

 

เปลี่ยนแปลงระบบการแข่งขันฟุตบอลลีก

 

ย้อนกลับไปสมัย “เพชฌฆาตหน้าหยก” ย้ายค้าแข้งกับ ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ เมื่อปี 1984 ศึกฟุตบอล เค ลีก ยังคงใช้ระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบแบ่งแชมป์สองสเตจครึ่งฤดูกาลแรกและครึ่งฤดูกาลหลัง

 

รูปแบบการแข่งขันดังกล่าวทุกสโมสรจะลงเตะ 28 นัด ตลอดทั้งซีซั่น โดยอันดับ 1 ในช่วงครึ่งฤดูกาลแรกและครึ่งฤดูกาลหลังจะคว้าแชมป์แต่ละสเตจ หลังจากนั้นเมื่อจบเกมนัดที่ 28 ผู้ชนะของสองสเตจจะต้องมาเตะเพลย์ออฟแบบเหย้าเยือน เพื่อหาแชมป์ เค ลีก ประจำซีซั่น

 

ระบบการแข่งขันนี้ ถูกใช้ในลีกฟุตบอลแดนโสมขาว ตั้งแต่เมื่อซีซั่น 1984 จนถึงฤดูกาล 1996 หลังจากนั้นระหว่างปี 1998-2000 เค ลีก เปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งเป็นการหาแชมป์โดยเอาอันดับ 1-4 หลังจบเกมนัดสุดท้ายของซีซั่นมาเตะเพลย์ออฟนัดเดียวรู้ผล ซึ่งอันดับ 3 พบกับอัน 4 ผู้ชนะจะเข้าไปเจอทีมอันดับ 2 รอบรองชนะเลิศ ส่วนอันดับ 1 ของลีก ได้สิทธิ์ยืนรอนัดชิงชนะเลิศ

 

กระทั่งซีซั่น 2001 เพื่อความทันสมัยมากขึ้นช่วงฟุตบอลเกาหลีกำลังขาขึ้น หลังพวกเขาได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 รวมกับประเทศญี่ปุ่น เค ลีก ปรับรูปแบบการแข่งขันมาเป็นระบบลีกแบบเต็มฤดูกาลไม่มีเพลย์ออฟ อันดับ 1 หลังจบเกมนัดสุดท้ายคว้าแชมป์ทันที และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงอีกเลยจนถึงตอนนี้

 

 

มีสโมสรลงเล่น 8 ทีม ก่อนเพิ่มเป็น 12 ทีม

 

เดิมทีมศึกฟุตบอลลีกสูงสุดเกาหลีใต้ มีเพียง 8 สโมสร เข้าร่วมการแข่งขันเท่านั้น และลงแข่งขันกันแบบไม่มีการตกชั้น ก่อนถูกเพิ่มเป็น 12 ทีม ต่อมาจนถึงฤดูกาลปัจจุบัน

 

โดยในซีซั่น 1984 ที่ “อดีตดาวยิงทหารอากาศ” ย้ายไปเล่นกับยอดทีมแห่งกรุงโซล อย่าง ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ เวลานั้นศึก เค ลีก ลงแข่งขันกันแค่เพียง 8 สโมสร เท่านั้น ได้แก่ ยูก็อง เอเลแฟนส์ (เชจู ยูไนเต็ด), แดวู โรยัล (ปูซาน ไอพาร์ค), ฮุนได ฮอรัง-อี (วุลซาน ฮุนได), ฮาลเลลูยาห์ เอฟซี (ยุบสโมสรปี 2016), โปฮัง สตีลเวิร์ค (โปฮัง สตีลเลอร์), ฮานิล แบงค์ เอฟซี (ยุบสโมสรปี 1997), กุกมิน แบงค์ (ยุบสโมสร ครั้งแรกปี 2000 และครั้งที่สองปี 2012) และ ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ (เอฟซี โซล)

 

หลังจากนั้นจนถึงฤดูกาล 2003 มีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันศึก เค ลีก ซึ่งถูกยกระดับเป็นลีกอาชีพเต็มตัวเพิ่มขึ้นอีก 7 ทีม เป็น 12 ทีม จนถึงปัจจุบัน นำโดย กิมชอน ซังมู เอฟซี (เข้าร่วมปี 1985), ซองนัม เอฟซี (เข้าร่วมปี 1989), ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส (เข้าร่วมปี 1994), ชุนนัม ดรากอนส์ (เข้าร่วมปี 1995), ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ (เข้าร่วมปี 1996), แดจยอน ซิตีเซน (เข้าร่วมปี 1998) และ แดกู เอฟซี (เข้าร่วมปี 2003)

 

 

ยกระดับเป็นลีกฟุตบอลอาชีพเต็มตัวเมื่อปี 1987

 

เดิมทีสมัย “”เดอะตุ๊ก” ย้ายไปค้าแข้งยังแดนโสมขวา ฟุตบอลลีกเกาหลีใต้ ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก และมีแค่เพียงสองสโมสรอย่าง ฮาลเลลูยาห์ เอฟซี และ ยูก็อง เอเลแฟนส์ เท่านั้น ที่เป็นอาชีพแบบเต็มตัว

 

อย่างไรก็ตามด้วยความนิยมการแข่งขันเบสบอล ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นรูปแบบลีกอาชีพนับตั้งแต่ปี 1983 ส่งผลกระทบให้ฟุตบอลลีกแฟนบอลน้อยลง และลดความนิยมอย่างมากตลอดหลายปีหลังจากนั้น กระทั่งปี 1987 สมาคมฟุตบอลเกาหลี ตัดสินใจปรับรูปแบบการแข่งขันใหม่ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น และจัดได้ตั้งสหพันธ์ฟุตบอลอาชีพเกาหลี นับตั้งแต่นั้น พร้อมเปลี่ยนชื่อลีกเป็น เกาหลี โปรเฟสชันนัล ลีก ก่อนกลายเป็น เค ลีก ในปี 1998 จนถึงทุกวันนี้

 

 

สโมสรเกาหลีใต้ คว้าถ้วยเอเชีย 12 ครั้ง

 

หากพูดถึงความสำเร็จของสโมสรเกาหลีใต้ ในระดับทวีปเอเชีย ช่วงเวลาตลอดเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ถือว่าพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการคว้าแชมป์รายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก

 

ระหว่างปี 1984-1986 ที่ “ศูนย์หน้าดาราเอเชีย” ย้ายไปอยู่กับ ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ มีแค่เพียงสโมสรเดียวจากคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งประสบความสำเร็จบนเวทีระดับทวีป นั่นคือ แดวู โรยัล พวกเขาถือเป็นทีมแรกของเกาหลี สำหรับการผงาดคว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือชื่อเดิม ณ เวลานั้น เอเชียน คลับ แชมเปี้ยนชิพ

 

หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันมีสโมสรเกาหลีใต้ คว้าถ้วยแชมป์เอเชีย เพิ่มอีก 11 ครั้ง ได้แก่ ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส 2 สมัย (ปี 2006 และ 2016), โปฮัง สตีลเลอร์ 3 สมัย (ปี 1997, 1998 และ 2009), ซองนัม เอฟซี 2 สมัย (1995 และ 2010), ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ 2 สมัย (2001 และ 2002) และ อุลซาน ฮุนได (2012 และ 2020)

 

 

ถ่ายทอดสด 30 ประเทศทั่วโลก

 

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการแข่งขันระดับอาชีพเมื่อปี 1987 ฟุตบอลเกาหลี เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และยกมาตรฐานกลายเป็นหนึ่งในลีกที่ดีที่สุดของเอเชีย รวมถึงมีสโมสรประสบความสำเร็จบนเวทีระดับทวีปต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

 

ความนิยมซึ่งเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดแดนโสมขาว อย่าง เค ลีก 1 มีการถ่ายทอดสดออกไปมากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงผ่านช่องทางออนไลน์ YouTube ซึ่งแฟนบอลสามารถรับชมได้ทั่วโลก

 

โดยประเทศซึ่งได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอด เค ลีก ซีซั่น 2021 อาทิ สหราชอาณาจักร, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สหรัฐอเมริกา, จีน และ มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนประเทศไทย ยังไม่มีการถ่ายทอดสด แต่สามารถรับชมได้ผ่านทางช่อง YouTube อย่างเป็นทางการของ เค ลีก แค่เพียงบางคู่เท่านั้น

 

 

เปิดรับนักเตะต่างชาติเต็มตัวหลังยุค 2000

 

อีกหนึ่งสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดหลัง เค ลีก กลายเป็นการแข่งขันแบบอาชีพเต็มตัว นั่นคือการเปิดรับผู้เล่นต่างชาติย้ายเข้ามาค้าแข้งยังคาบสมุทรเกาหลี เพิ่มมากขึ้น

 

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แข้งจากหลายชาติทั่วโลก ตบเท้าเข้ามาค้าแข้งยังลีกสูงสุดเกาหลี อย่างต่อเนื่อง โดยชาติซึ่งได้รับความนิยมมากสุดคือ บราซิล, เซอร์เบีย, โครเอเชีย, รัสเซีย, ออสเตรเลีย และเพื่อนบ้านอย่าง ญี่ปุ่น

 

หากพูดถึงนักเตะต่างชาติซึ่งประสบความสำเร็จช่วงยุคตั้งไข่ของวงการฟุตบอลลีกเกาหลี อย่าง ปิยะพงษ์ กับการคว้าแชมป์ซีซั่น 1985 รวมถึงครองตำแหน่งดาวซัลโวและติดทีมยอดเยี่ยมในฤดูกาลเดียวกัน เดเจน ดามยาโนวิช และ เมาริซิโอ โมลินา คงต้องถูกกล่าวถึงด้วยเช่นกัน

 

สำหรับหัวหอกทีมชาติมอนเตเนโกร อย่าง เดเจน ดามยาโนวิช เริ่มต้นการค้าแข่งศึก เค ลีก กับ อินชอน ยูไนเต็ด เมื่อปี 2007 ก่อนย้ายมาอยู่กับ เอฟซี โซล ซึ่งเจ้าตัวมีส่วนสำคัญพาสโมสรคว้าแชมป์ลีก 3 สมัย พร้อมกับครองตำแหน่งดาวซัลโว 3 สมัย, รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปี 1 สมัย, รางวัลนักเตะทรงคุณค่า 1 สมัย และติดทีมยอดเยี่ยมประจำซีซั่น 4 สมัย ตลอดเวลาที่ค้าแข้งลีกเกาหลี เดเจน ดามยาโนวิช ลงสนามทั้งหมด 380 นัด ยิง 198 ประตู ครองตำแหน่งนักเตะต่างชาติยิงประตูมากสุดตลอดกาลของลีก และอันดับ 2 ดาวยิงตลอดกาล เค ลีก เป็นรองแค่เพียง ลี ดอง กุ๊ก สุดยอดศูนย์หน้าทีมชาติเกหลีใต้ ซึ่งซัดไปทั้งหมด 228 นัด จากการลงสนาม 548 เกม

 

ส่วนทางฝั่งดาวเตะชาวโคลัมเบีย อย่าง เมาริซิโอ โมลินา ย้ายมาอยู่กับ ซองนัม เอฟซี เมื่อปี 2009 ก่อนพาสโมสรคว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่น 2010 หลังจากนั้นถูกดึงตัวร่วมทัพ เอฟซี โซล ในปี 2011 และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ซิวแชมป์ เค ลีก 1 สมัย และ เอฟเอ คัพ เกาหลี 1 สมัย ซีซั่น 2012 และ 2015 นอกจากนั้นเจ้าตัวยังครองสถิตินักเตะที่ทำแอสซิสต์ได้มากสุดตลอดกาลอันดับ 3 ของลีก ด้วยจำนวน 69 ลูก จากการลงเล่น 209 นัด เป็นรองแค่เพียง ลี ดอง กุ๊ก ซึ่งทำไป 77 แอสซิสต์ และ คี-ฮุน ยอม 110 แอสซิสต์

 

 

หมดยุคยักษ์ใหญ่หน้าเดิม ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ครองลีก

 

หากย้อนกลับไปก่อนยุค 2000  อิลวา ชุนม่า หรือ ชุนนัม เอฟซี ในปัจจุบัน และ ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ คือสองสโมสรซึ่งผลัดกันครองความยิ่งใหญ่บนลีกสูงสุดเกาหลีใต้ ซึ่งระหว่างปี 1990-2000 อิลวา ชุนม่า คว้าแชมป์ 3 สมัย และ ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ คว้าแชมป์ 2 สมัย

 

อย่างไรก็ตามนับตั้งปี 2009 ซึ่ง ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ก้าวขึ้นมาครองแชมป์ เค ลีก สมัยแรกของสโมสร พวกเขายกระดับขึ้นมาเทียบเท่ากับทีมยักษ์ใหญ่หน้าเดิมอย่าง ชุนนัม เอฟซี, ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์, โปฮัง สตีลเลอร์ รวมถึง เอฟซี โซล พร้อมกับคว้าแชมป์เพิ่มอีก 7 สมัย ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา

 

ส่วนในศึก เค ลีก 2021 การลุ้นแชมป์ของพวกเขาอาจไม่ง่ายเหมือนเคย หลัง ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ กลับมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งอีกครั้ง รวมถึงยังมีกระดูดชิ้นโตอย่าง อุลซาน ฮุนได เจ้าของแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่น 2020 ซึ่งหมายมั่นปั้นมือหวังซิวแชมป์ลีกสมัยที่ 3 ของสโมสร หลังห่างหายไปนานนับตั้งแต่ปี 2005 หรือกว่า 16 ปีที่แล้ว

 

แน่นอนว่าหลังจากนี้ ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส คงกลายเป็นอีกหนึ่งทีมขวัญใจแฟนบอลชาวไทย หลังพวกเขาตัดสินใจคว้า ศศลักษณ์ ไหประโคน จาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปร่วมทีมด้วยสัญญายืมตัว 6 เดือน และไม่แน่ว่าแข้งวัย 25 ปี อาจมีโอกาสชูถ้วยแชมป์กับสโมสรในฤดูกาล 2021 เป็นไปได้เช่นกัน

 

 

แข้งอาเซียน ย้ายไปค้าแข้ง 4 คน

 

สำหรับ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ถือเป็นนักเตะคนแรกของไทย รวมถึงอาเซียน ซึ่งย้ายไปค้าแข้งลีกเกาหลีใต้ เมื่อปี 1984-1986 พร้อมประสบความสำเร็จมากมาย และถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นระดับตำนาน เค ลีก

 

หลังจากนั้นตลอด 35 ปีที่ผ่านมา มีนักเตะจากอาเซียน แค่เพียง 4 คน เท่านั้น ซึ่งมีโอกาสย้ายไปโลดแล่นฟุตบอลลีกสูงสุดเกาหลี นำโดย อัลบาโร ซิลบา ปราการหลังเชื้อสายฟิลิปินส์-สเปน ซึ่งเล่นกับ แดจยอน ซิตีเซน เมื่อปี 2015 ต่อด้วย โรดริโก้ ซูซ่า ซิลวา มิดฟิลด์ตัวรุกทีมชาติติมอร์-เลสเต ที่เคยอยู่ แดกู เอฟซี ปี 2017

 

นอกจากนั้นยังมีสองนักเตะซุปเปอร์สตาร์ทีมชาติเวียดนาม อย่าง เลือง ซวน เชือง ซึ่งเคยเล่นถึงสองสโมสรกับ อินชอน ยูไนเต็ด ฤดูกาล 2016 และ กังวอน เอฟซี ฤดูกาล 2017 ส่วนอีกหนึ่งคนคือ เหงียน คอง เฟือง ย้ายมาอยู่ อินชอน ยูไนเต็ด ในปี 2019 อย่างไรก็ตามหากมองผลงานโดยรวมถือว่าทั้งสองคนไม่ประสมความสำเร็จอย่างที่ใครหลายคนตั้งความหวังไว้ 

 

โดยรายแรกอย่าง เลือง ซวน เชือง ย้ายจาก ฮอง อันห์ ยาลาย มาอยู่กับ อินชอน ยูไนเต็ด ด้วยสัญญายืมตัว ซึ่งเขาถือเป็นนักเตะดาวทอง คนแรกที่มาเล่นลีกเกาหลีใต้ ทว่าตลอดทั้งซีซั่น 2016 เจ้าตัวได้รับโอกาสลงสนามแค่เพียง 4 เกม ส่วนอีกครั้งกับ กังวอน เอฟซี ฤดูกาล 2016 อดีตแข้ง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีชื่อเล่นให้กับทีม 3 นัด เท่านั้น

 

ขณะที่ เหงียน คอง เฟือง ถูกดึงจาก ฮอง อันห์ ยาลาย มาอยู่กับ อินชอน ยูไนเต็ด แบบยืมตัวในปี 2016 เช่นกัน โดยเขาถือเป็นผู้เล่นซึ่งถูกคาดหวังจากแฟนบอลเวียดนาม ว่าอาจทำผลงานโดดเด่นสำหรับการค้าแข้งลีกเกาหลี ทว่าความเป็นจริงแล้วแข้งดีกรีลีกสูงสุดเบลเยียม กับ แซงต์ ทรุยด็อง ได้สัมผัสเกม เค ลีก แค่เพียง 8 นัด และยิงไม่ได้แม้แต่ประตูเดียว