ทำได้แค่ฝัน : 10 ดาวดังแดนละตินที่ไม่เคยคว้าแชมป์โคปา อเมริกา

 

สิ้นสุดไปแล้วกับศึกโคปา อเมริกา 2019 ซึ่งเจ้าภาพบราซิลเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ในปีนี้ไปครองหลังถล่มเปรูไปถึง 3-1 ทำให้พลพรรคแซมบ้าได้เป็นเจ้าแห่งลูกหนังแดนละติน อเมริกาถึง 9 สมัย เป็นรองแค่ อาร์เจนติน่า (14 ครั้ง) และ อุรุกวัย (15 ครั้ง) เท่านั้น

 

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่คนพูดถึงกันในทัวร์นาเม้นต์คือการล้มเหลวในทีมชาติอีกครั้งของ ลิโอเนล เมสซี่ ยอดแข้งชาวอาร์เจนไตน์ ที่ไปไม่ถึงฝันในรายการนี้ซักที หลังเข้าชิงมาถึง 3 ครั้งแล้ว และยังคงต้องรอคอยต่อไปหลังพาทีมฟ้าขาวไปไกลแค่รอบตัดเชือกในปีนี้ 

 

ด้วยการทวีปแห่งนี้ได้ผลิตนักฟุตบอลระดับโลกมาประดับวงการลูกหนังมากมาย และเต็มไปด้วยการแข่งขันที่ดุเดือดยามพบกันในรายการชิงแชมป์บอลทวีป ทำให้เราไม่สามารถการันตีได้ว่าใครจะเป็นชูถ้วยแชมป์ทวีปในบั้นปลาย ต่อให้ในชาตินั้นๆมีดาวดังอยู่มากมายก็ตาม

 

ด้วยเหตุนั้น นี่คงพออธิบายได้ว่าทำไมนักเตะโคตรเทพอย่างเช่น เมสซี่ หรือใครอีกหลายๆคนไม่สามารถคว้าแชมป์รายการนี้กับทีมชาติได้ แม้ว่าจะคว้าแชมป์โลกได้หรือรางวัลทุกอย่างในสโมสรมาแล้ว

 

และนี่คือ 10 ดาวดังแดนละตินที่ไปได้ไม่ถึงฝั่งฝันในการคว้าแชมป์โคปา อเมริกา ตั้งแต่แข้งในอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน

 

 

ลิโอเนล เมสซี่ | อาร์เจนติน่า

 

 

เมสซี่ได้รับการยกย่องจากแฟนบอลทั่วสารทิศเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา เพราะตัวเขาคว้าแชมป์มาแล้วทุกรายการกับบาร์เซโลน่า รวมถึงทำลายและสร้างสถิติต่างๆมากมายแก่วงการลูกหนัง อย่างไรก็ตามคำสาปในทีมชาติของดาวเตะชาวอาร์เจนไตน์ก็ยังติดตัวเขาไปอย่างไม่มีท่าว่าจะสิ้นสุดในเร็วๆนี้

 

ช่วงปี 2014-2016 เป็นช่วงเวลาที่ดาวเตะร่างเล็กพาทัพฟ้าขาวเข้าชิงทัวร์นาเม้นต์สำคัญระดับโลก แต่ตลอดเวลา 3 ปีนั้นเขาก็ต้องอกหักอยู่ร่ำไป ทั้งแพ้เยอรมันในนัดชิงบอลโลกปี 2014, แพ้ชิลีในนัดชิงบอลทวีปอเมริกาใต้ 2 ปีติด หรือย้อนกลับครั้งแรกที่เมสซี่เข้าชิงโคปา อเมริกา ในปี 2007 เขาก็แพ้บราซิลชุดที่ขี้เหร่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไปแบบหมดสภาพ 3-0 

  

โอกาสของแข้งวัย 32 ปียังไม่หมดสิ้นซะทีเดียว แม้ปีนี้จะมาจอดแค่รอบตัดเชือก เนื่องจากอีก 4 ปีข้างหน้า เมสซี่ก็พอมีหวังคว้าแชมป์แรกกับทีมชาติได้ซักครั้งและหวังไว้ลึกๆว่าคำสาบนั้นจะจบสิ้นในวัย 36 ปี ซักที

 

 

โซคราเตส| บราซิล

 

 

โซคราเตสเป็นที่รู้อย่างกว้างขวางสำหรับแฟนบอลรุ่นเก๋า ด้วยการเขาจบแพทย์มา ทำให้เขามีอีกฉายาในวงการว่า ‘คุณหมอยอดนักเตะ’ ด้วยสไตล์การที่เต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราว การผ่านบอลชั้นยอด วิสัยทัศน์เยี่ยม อ่านเกมเฉียบขาดและแข็งแกร่ง ไม่แปลกใจที่เขาจะเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลทั่วโลก

 

แต่ถึงแม้ว่า ดาวดังชาวบราซิลเลี่ยนจะเก่งกาจเพียงใด ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะไม่เคยคว้าแชมป์เมเจอร์มาครองได้แม้แต่รายการเดียว ไม่ว่าในระดับสโมสรหรือทีมชาติ โดยรายการที่โซคาเตสทำได้ใกล้เคียงที่สุดก็คือศึกโคปา อเมริกา ซึ่งครั้งแรกในปี 1979 เขาไปพลาดให้กับปารากวัย ว่าที่แชมป์ของปีนั้นในรอบตัดเชือก จากนั้น อีก 4 ปีต่อมา แม้กองกลางมากทักษะจะฝ่าด่านเข้าไปถึงรอบชิงได้ (ณ ตอนนั้นแข่งนัดชิง 2 นัด) ทว่าก็พ่ายให้กับอุรุกวัยด้วยสกอร์รวม 3-1

 

 

มาริโอ เคมเปส | อาร์เจนติน่า

 

 

ในปี 1978 มาริโอ เคมเปส เป็นดั่งวีรบุรุษของแฟนบอลอาร์เจนติน่า หลังพาทีมทัพฟ้าขาวคว้าแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรก โดย ณ ตอนนั้น หัวหอกจากบาเลนเซีย เป็นนักเตะคนเดียวจากลีกนอกประเทศที่ เซซาร์ ลุยซ์ เมน็อตติ เรียกมาติดทีมชาติ และการเสี่ยงดวงครั้งนั้นก็ประสบผลสำเร็จอย่างมาก แถม เคมเปสยังระเบิดฟอร์มโหดจนคว้าดาวซัลโวประจำทัวร์นาเม้นต์ด้วยจำนวน 6 ประตู

 

แต่ทว่าความยอดเยี่ยมของอาร์เจนติน่าในบอลโลกตอนนั้นกลับไม่เคยปรากฏออกมาให้เห็นเลย ยามที่ลงแข่งขันในศึกฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งตัวของดาวยิงทีมค้างคาวได้ลงเล่นช่วยทีมฟ้าขาวแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในปี 1975 และก็จอดแค่รอบแบ่งกลุ่มไม่ต่างปี 1979 และ 1983 ที่เคมเปสไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าไหร่นัก

 

 

ซิโก้| บราซิล

 

 

ฟลาเมงโก้ครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลสโมสรของแดนละติน อเมริกาใต้ในช่วงปลายยุค 1970 ถึง ช่วงต้นๆยุค 1980 ทั้งหมดต้องขอบคุณความอัจฉริยะของ ซิโก้ ที่พาทีมคว้าแชมป์ระดับรัฐ, ระดับชาติ, ระดับทวีป และระดับโลกได้อย่างงดงาม หลังถล่มลิเวอร์พูลตอนนั้นไปแบบหมดสภาพแชมป์ยุโรป 3-0 ในศึกอินเตอร์คอนติเนนทัล คัพ ปี 1981

 

ส่วนในระดับทีมชาตินั้น ทุกอย่างดูส่วนทางอย่างสิ้นเชิง หรือจะบอกว่า ซิโก้ ประสบชะตากรรมเดียกับ โซคราเตส เพื่อนร่วมชาติก็คงไม่ผิดนัก เพราะตัวเขาไม่เคยพาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์ได้แม้แต่รายการเดียว ทั้งฟุตบอลโลก หรือ โคปา อเมริกา ที่ทำได้แค่รองแชมป์เท่านั้น ในปี 1986

 

 

การ์รินช่า| บราซิล

 

 

ปีกจอมเลื้อยที่พริ้วที่สุดในยุค 60 การ์รินช่า คือหนึ่งในนักเตะทีมชาติบราซิลชุดแชมป์โลก 2 สมัยซ้อนในปี 1958 และปี 1962 ร่วมกับ เปเล่ เพื่อนร่วมทีมของเขา แต่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ฟอร์มการเล่นแบบนั้นของการรินช่าคือสิ่งที่แฟนบอลไม่สามารถเห็นได้ หากเป็นศึกชิงเจ้าแห่งฟุตบอลวงการละติน อเมริกา

 

สำหรับรายการนี้ การ์รินช่าลงเล่นแค่ 4 นัดเท่านั้นในปี 1958 เนื่องจาก บิเซนเต้ ฟีโอล่า กุนซือทัพเซเลเซา เลือก ดอร์วาล โรดิเกวซ เป็นปีกขวาเบอร์หนึ่งแทน แต่เรื่องที่น่าเจ็บใจมากกว่านั้นคือ บราซิลเป็น 1 ใน 2 ทีมที่ไม่แพ้ใครในรายการนั้น (ซึ่งยังเป็นการแข่งขันแบบลีกอยู่) แต่พลาดโอกาสชูถ้วยแชมป์ เนื่องจากตามหลังอาร์เจนติน่า คู่แค้นตลอดกาล อยู่แต้มเดียวเท่านั้น

  

 

เปเล่ | บราซิล

 

 

แชมป์โลก 3 สมัย แต่ไม่มีแชมป์โคปา อเมริกาซักครั้ง แต่หากมองกันดีๆแล้ว การเปเล่ทำได้แค่นั้นในฟุตบอลระดับทวีปก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะตลอดเวลาที่รับใช้ทัพเซเลเซา 24 ปี เขาลงเล่นในรายการนี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น

 

ครั้งเดียวที่ว่าเกิดขึ้นในปี 1959 หรือหลังจากที่เขาคว้าแชมป์โลกกับทีมชาติปีเดียว ซึ่งก็ทำได้แค่รองแชมป์ เนื่องจากตามหลังอาร์เจนติน่าอยู่แค่แต้มเดียวไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่เขาคว้าตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมและดาวซัลโวประจำทัวร์นาเม้นต์ด้วยจำนวน 8 ประตู เป็นรางวัลปลอบใจแทน

 

 

ดีเอโก้ มาราโดน่า | อาร์เจนติน่า

 

 

มีนักเตะไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่สร้างปรากฏการณ์ได้เหมือนกับดีเอโก้ มาราโดน่า หลังทำประตูสุดอื้อฉาวใส่อังกฤษในบอลโลกปี 1986 แต่ไม่กี่นาที่ต่อมาเขากลับลากเลื้อยโซโล่เดี่ยวไปยิงประตูแบบเหนือชั้น จนหลายๆคนยกให้เป็นประตูที่ดีที่สุดในรายการนั้นเลย ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ดาวเตะร่างชาวอาร์เจนไตน์พาทัพฟ้าขาวคว้าแชมป์โลกได้เป็นสมัยที่ 2  

 

แต่ในขณะเดียวกัน เสือเตี้ยกลับไม่มีได้สัมผัสถ้วยโคปา อเมริกา แม่แต่หนเดียว เนื่องจากในช่วงที่อาร์เจนติน่าคว้าแชมป์ทวีปไปครองอย่างยิ่งใหญ่ในปี 1991 มาราโดน่าถูกพักการเล่นฟุตบอลเป็นเวลา 15 เดือนในปี 1991 หลังจากตรวจพบว่าเขาเสพโคเคนในประเทศอิตาลี  รวมถึงเขาไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้นด้วย เช่นเดียวกับปี 1993 เป็นปีล่าสุดที่ฟ้าขาวคว้าแชมป์รายการนี้ได้ เขาก็ขอถอนตัวจากทีมบ้านเกิดหลังมีเหตุพิพาทไม่ลงรอยกับทีม

 

 

คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า | โคลอมเบีย

 

 

คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่าถูกยกให้เป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดของในวงการลูกหนังของโคลอมเบีย ด้วยลักษณะผมที่แอฟโฟรฟูฟ่องและมีสีบลอนด์ทอง ทำให้เขาเป็นที่จดจำของแฟนบอลในยุค 90 ได้เป็นอย่างดี และมีฉายาที่แฟนเมืองไทยรู้จักกันในนาม ‘กุลลิตขาว’

 

เอล ปิเบ้ เป็นนักเตะที่ลงเล่นให้ทีมโคลอมเบียมากที่สุดด้วยจำนวน 111 นัดและไม่มีใครทำได้เทียบเท่าจนถึงปัจจุบัน โดยมีโอกาสสู่ศึกในฟุตบอลโลก 3 ครั้ง และ โคปา อเมริกา ถึง 5 ครั้ง แต่ทว่าทีมชาติโคลอมเบียที่ใครต่อใครยกให้เป็นยุคทองในตอนนั้น กลับไม่เคยก้าวขึ้นคว้าแชมป์อะไรอย่างที่ใครคาดหวังไว้เลย และทำได้ดีที่สุดแค่อันดับ 3 เท่านั้น (1987, 1993, 1995)

 

 

ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ | อาร์เจนติน่า

 

 

ตำนานแบ็คขวาทีมชาติอาร์เจนติน่าคงไม่ใครยอดเยี่ยมไปว่า ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ อย่างแน่นอน หลังทำสถิติติดทัพฟ้าขาวมากที่สุด 143 นัด ตั้งแต่ปี 1994-2011 และลงเล่นให้กับอินเตอร์ มิลานถึง 858 นัด พร้อมคว้าแชมป์กับทีมงูใหญ่มาแล้วทุกรายการที่เขาลงเล่น

 

แต่ถึงอย่างนั้น ความสำเร็จในทีมชาติของเขาก็ไม่ต่างจาก เมสซี่ รุ่นน้องในทีมชาติมากนัก หลังได้โอกาสลงเล่นในโคปา อเมริกา 5 ครั้ง ได้เข้าชิง 2 ครั้งในปี 2004 กับ ปี 2007 แต่ก็ผิดหวังทั้ง 2 ครั้งซ้อน จากน้ำมือของทีมอริตลอดกาลในละติน อเมริกา อย่าง บราซิล ก่อนจะลาทีมชาติไปในปี 2011 หลังตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในรายการนี้ที่บ้านเกิดของซาเน็ตติเป็นเจ้าภาพ 

 

 

อัลบาโร่ เรโคบ้า  | อุรุกวัย

 

 

ถึงแม้ว่าอุรุกวัยไม่เคยเฉียดเข้าไปใกล้แชมป์โลกได้อีกเลย นับตั้งแต่เวิล์ด คัพที่บราซิลในปี 1950 แต่ทีมจอมโหดก็ทีมขาประจำที่คว้าแชมป์ทวีปอเมริกาใต้ อยู่เรื่อยมานับตั้งแต่มีการแข่งขันรายการนี้ตั้งแต่ปี 1916 จนถึงปัจจุบัน แถมยังทำสถิติคว้าแชมป์มากที่สุด 15 สมัย มากกว่าทั้ง บราซิล และ อาร์เจนติน่า โดยแชมป์ล่าสุดคือปี 2011 ที่ถล่มปารากวัยไปแบบสบายเท้า 3-0

 

โชคร้ายที่เพลย์เมกเกอร์ตัวเก่งของทีมอย่าง อัลบาโร่ เรโคบ้า โด่งดังในยุคที่อุรุกวัยกำลังตกต่ำในวงการลูกหนัง ส่งผลให้ เอล ชิโน่ ต้องแบกทีมด้วยตัวเดียวมานานหลายปี ซึ่งเขาทำได้ดีที่สุดในรายการนี้แค่อันดับ 4 เท่านั้นในปี 2007 ที่ประเทศเวเนซุเอล่าเป็นเจ้าภาพ และประกาศลาทีมชาติหลังจบทัวร์นาเม้นต์นั้นเลย