บอลโลกแสนวุ่น : ลิขสิทธิ์ยิงสดที่ คนไทย ต้องลุ้นถึงเฮือกสุดท้าย(อีกครั้ง)

 

เหลืออีกเพียง10 วัน ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่โยกมาฟาดแข้งกันในช่วงปลายปี ที่ดินแดนอาหรับ อย่าง ประเทศ กาตาร์ จะเปิดฉากฟาดแข้งกัน

 

แน่นอนด้วยความที่ต้องมาหวดช่วงกลางฤดูกาล ทำให้เวลานี้กระแสฟุตบอลโลกหนนี้จึงไม่ฟีเวอร์เท่าที่ควร แต่เชื่อขนมกินได้เลยเมื่้อมันเริ่มต้น แฟนบอลทั่วโลกต้องจดจ้องไปการแข่งขันครั้งนี้

 

แต่ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย ยังคงเป็นชาติเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่ยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหนนี้ นี่คือสิ่งที่้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุก 4 ปี และครั้งนี้ก็ไม่ต่าง

มองไปที่ตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 หนนี้ เอเย่นต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประจำภูมิภาคอาเซียนได้เรียกค่าลิขสิทธิ์เข้ามาทั้งหมดเต็มแพ็คเกจเป็นเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5พันล้านบาท)

 

หากเทียบราคากับครั้งก่อนๆ จะพบว่าในปี 2018 นั้นบริษัทเอกชน 9 แห่ง ของประเทศไทย จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 1,141 ล้านบาท ขณะที่เมื่อปี 2014 ที่ บริษัท อาร์เอส เป็นผู้ชนะการประมูลนั้นมีราคาอยู่ที่เพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น

 

ส่วนหนนี้หากดูที่ค่าลิขสิทธิ์บอลโลกของแต่ละชาติในอาเซียน เรียกว่าถูกกว่าไทยแทบทุกชาติอาทิ มาเลเซีย ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 261 ล้านบาท ครอบคลุมการถ่ายทอดสด 27 แมตซ์ ,เวียดนาม ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 532 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทุกเกม (64 แมตซ์) ,สิงคโปร์ ซื้อลิขสิทธิ์ราคา 670 ล้านบาท ถ่ายทอดสด 9 แมตซ์ (ขายแพ็คเกจเพิ่ม) ,ฟิลิปปินส์ ซื้อลิขสิทธิ์ราคา 1,306 ล้านบาท (ขายแพ็คเกจเพิ่ม) ,อินโดนีเซีย ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมูลค่า 1,456 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทุกแมตช์

 

ปัญหาหลักที่ ประเทศไทย เรานั้นต้องเผชิญนั่นก็คือกฏ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ที่ระบุว่า ฟุตบอลโลกเป็น 1 ใน 7มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรี ประกอบด้วย กีฬาซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

 

แน่นอนว่าพอมีกฏดังกล่าวออกมา ทำให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์เกี่ยวกับกีฬา 7 มหกรรมที่จะนำมาเผยแพร่ในประเทศ จะต้องนำไปถ่ายทอดสดให้คนไทยชมฟรีทางช่อง ฟรีทีวี ทำให้คราวนี้เมื่อค่าลิขสิทธิ์แพงหูฉี่ขนาดนี้ จึงไม่มีบริษัทเอกชนเจ้าใดสนใจที่

 

จะซื้อ เพราะแทบมองไม่เห็นช่องทางการหารายได้ให้คุ้มกับเงินที่เข้าไปซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่กระชั้นชิดเข้ามาเช่นนี้ด้วย

 

นั่นหละครับเมื่อไม่มี เอกชน พร้อมทุ่มเงิน “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็สั่งการประกาศทันทีว่าคนไทยจะได้รับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลกอย่างแน่นอน โดยจะมีการนำเงินจากหน่วยงานอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ไปซื้อลิขสิทธิ์

 

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. กสทช. ยอมอนุมัติงบมาให้แล้ว แต่แค่ 600 ล้านบาทเท่านั้น นั่นทำให้เป็นเรื่องที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำยังไงก็ได้เพื่อหาเงินมาเพิ่มอีกกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกหนนี้มาครอง และด้วยเวลาที่บีบคั้นเช่นนี้ บอกเลยว่างานนี้ยากยิ่งกว่า เข็นภูเขาขึ้นครก ซะอีก

 

 

ก่อนหน้านี้ “บิ๊กก้อง” ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เคยกล่าวไว้ “แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องงบ แต่เรามีความตั้งใจจะถ่ายทอดให้ประชาชนได้ดูฟรี และแม้ว่าเราจะลงทุนหลักพันล้านบาท แต่ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่กลับมานั้น นอกจากสร้างความสุขแล้ว สร้างกระแสให้คนดู คนเชียร์กีฬา และเล่นกีฬามากขึ้นแล้ว การถ่ายทอดสดครั้งนี้จะสร้างรายได้ในภาคเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท”

 

แต่ต้องยอมรับว่าการที่ทางเอเย่นต์ของฟีฟ่ารู้ว่าบ้านเรามีกฎ กติกา เรื่องลิขสิทธิ์แบบนี้ จึงเรียกราคามาค่อนข้างสูง ซึ่งอันที่จริงปัญหานี้มันควรแก้ไขกันตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้ารัฐบาลคิดว่ารับมือไหว จากการที่ตั้งกฏ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ออกมา ก็ทำให้ชัดเจนไปเลยว่าจะใช้งบจากส่วนไหนมาจ่ายซื้อลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ต้องรอให้เวินเว่อเนิ่นนานเป็นดินพอกหางหมูหรือไฟลนก้นเช่นนี้

 

หรืออีกทางก็คงต้องยกเลิกกฏ “มัสต์แฮฟ” ออกไปเสียที พร้อมเปิดทางให้ภาคเอกชน เข้ามาทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ และนำไป่ทำกลไกในการทำธุรกิจกลับมา เอาไปทำ เพย์ เพอร์ วิว ให้คนที่อยากดูต้องเสียเงินเหมือนที่เราต้องชมบอล พรีเมียร์ลีก หรือไทยลีก นั่นแหละ

 

ณ เวลาที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์บทความอยู่ ก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้าย คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกครั้งนี้แบบถูกลิขสิทธิ์หรือไม่ หรือสุดท้ายต้องไปหาช่องทางธรรมชาติ

 

สุดแท้แล้วแต่เวรแต่กรรมละกันครับ

 

DaboyG

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : EA Sports ทำนายฟ้าขาวคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022

EA Sports ทำนายฟ้าขาวคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022