ทุ่มเยอะแล้วไง : ปีศาจแดงกับ 5 ปีที่ไร้โทรฟี่แชมป์

ปีศาจแดง

หลังพ่ายให้กับ แอตเลติโก้ มาดริด คา โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ด้วยสกอร์ 0-1 ทำให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุติเส้นทาง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาลนี้ที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย และตกรอบด้วยสกอร์รวม 1-2

นอกจากนี้ การตกรอบจากบอลยุโรปกลายเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่านี่เป็นอีกฤดูกาลที่ ‘ปีศาจแดง’ ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัล หลังก่อนหน้าตกรอบบอลถ้วยในประเทศไปเรียบร้อย ทั้ง ลีกคัพ และ เอฟเอ คัพ ตามลำดับ และมีเพียงแค่ตำแหน่งท็อปโฟร์ที่พอลุ้นมากที่สุดเท่านั้นในพรีเมียร์ลีก

 นี่กลายเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันไปแล้วที่ ยูไนเต็ด ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆมาครองได้เลย ที่แย่ไปว่านั้นก็คือตลอดช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขาคือสโมสรที่ทุ่มเงินเสริมทัพไปมากที่สุดในเกาะอังกฤษเช่นกัน

เพียงแต่ผลลัพธ์ที่ออกมากกลับว่างเปล่า และก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จในเร็ววันนี้…

 

ชูถ้วยครั้งสุดท้าย

Ajax 0-2 Manchester United: Paul Pogba and Henrikh Mkhitaryan win Europa League final | Football News | Sky Sports

นับตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือไปในฤดูกาล 2012-13 แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ไม่เคยคว้าแชมป์ลีกมาครองได้อีกเลย แต่อย่างน้อยกุนซือที่รับช่วงต่อหลังจากนั้นบางคนก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์ในรายการอื่นๆมาครองได้

หลุยส์ ฟาน กัล ที่ถึงแม้จะโดนวิจารณ์เรื่องระบบการเล่นที่เน้นจ่ายบอลไปมาอันสุดแสนจะน่าเบื่อ มากกว่าการเข้าทำประตู จนทำให้ทีมพลาดตั๋วไปเล่น แชมเปี้ยนส์ลีก ก็ยังทิ้งทวนด้วยการพา ‘ปีศาจแดง’ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครองในฤดูกาล 2015-16

ถัดในยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่ ก็ประสบความสำเร็จในปีแรกด้วยการคว้าแชมป์ลีก คัพ และ ยูโรป้า ลีก ในฤดูกาล 2016-17 หลังทุ่มทุนเสริมทัพไปมากกว่า 145 ล้านปอนด์ ทั้ง เอริค ไบยี่, เฮนริค มคิตาร์ยาน และ ปอล ป็อกบา โดยที่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ย้ายมาแบบไร้ค่าตัว

ทว่านั่นกลับกลายเป็นหนที่สุดท้ายที่ สาวก ‘เร้ด เดวิลส์’ เห็นทีมรักของพวกเขาชูโทรฟี่แชมป์ และทำได้แค่เป็นพระรองหรือคว้าแค่ท็อปโฟร์พรีเมียร์ลีกในอีก 5 ปีต่อมา

 

เต็มที่แค่ที่ 2

The highs and lows of Manchester United's 2017-18 season - The Busby Babe

ด้วยความสำเร็จในฤดูกาล 2016-17 ทำให้หลายคนคาดหวังว่า ‘ปีศาจแดง’ ในมือของ สเปเชียล วัน จะกลับมาผงาดเป็นเบอร์หนึ่งอีกครั้ง หลังจัดหนักเสริมทัพยิ่งกว่าปีก่อน ด้วยการคว้าทั้ง วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ, โรเมลู ลูกากู และ เนมานย่า มาติช ที่มีค่าตัวรวมกันราวๆ 160 ล้านปอนด์

อีกทั้งยังสลับตัว มคิตาร์ยาน เพื่อดึงตัว อเล็กซิส ซานเซช จากอาร์เซน่อล มาร่วมทีมในช่วงตลาดหน้าหนาวของฤดูกาลนั้นด้วย แต่สุดท้ายพวกเขาก็เร่งเครื่องตาม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มาตรฐานสูงเกินไปไม่ไหว จบด้วยอันดับ 2 แม้เข้าชิงเอฟเอ คัพ ในปีนั้นก็พ่ายให้กับ เชลซี ของอันโตนิโอ คอนเต้ 0-1

เข้าสู่ปีที่ 3 ของกุนซือชาวโปรตุกีส การใช้เงินเสริมทัพอาจเพลาลงไปบ้าง แต่การคว้า เฟร็ด ที่มีค่าตัวราวๆ 47 ล้านปอนด์ กับ ดีโอโก้ ดาโลต์ อีก 19 ล้านปอนด์ ก็คือว่าไม่น้อยเช่นกัน โดยได้ ลีแกรนท์ นายทวารวัยเก๋าจาก สโต๊ค ซิตี้ เข้ามาเป็นอะไหล่ ด้วยค่าตัวเพียง 1.5 ล้านปอนด์

จากปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล 2018-19 ทั้งความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับ ป็อกบา, การวิจารณ์นักเตะหลายๆคนในทีมทั้ง มาร์คัส แรชฟอร์ด, อองโตนี่ มาร์กซิยาล หรือ ลุค ชอว์ รวมไปถึงฟอร์มการเล่นที่ย่ำแย่ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของ มูรินโญ่ ใน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ได้ขาดลงหลังเกมพ่าย ลิเวอร์พูล 1-3 ในเดือนธันวาคม

โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ถูกแต่งตั้งเข้ามารับช่วงต่อเป็นกุนซือขัดตาทัพ ก่อนทำผลงานได้ยอดเยี่ยมจนพาทีมกลับมาลุ้นท็อปโฟร์อีกครั้ง ทว่าทันทีที่จะได้รับสัญญาคุมทีมถาวร ฟอร์มของทีมก็ตกลงดื้อๆ จนจบปีนั้นด้วยอันดับที่ 6 ต้องไปเล่น ยูโรป้า ลีก แทน

 

ถ้วยเล็กยุโรปก็แค่พระรอง

To fall and rise' - Man United star De Gea reacts to final misery

อย่างน้อยการเป็นตำนานกับทีม พร้อมเคยเรียนรู้วัฒนธรรมในสโมสรและแทคติกจาก เฟอร์กี้ นานนับ 11 ปี ทำให้หลายคน ณ ตอนนั้น เชื่อว่า โซลชา คือคนที่ใช่ในการพา ยูไนเต็ด กลับสู่การเป็นยอดทีมอีกครั้ง

บอร์ดสโมสรที่นำโดย เอ็ด วู้ดเวิร์ด ก็เชื่อมั่นแบบนั้นด้วยเช่นกัน หลังให้งบเสริมทัพแบบจัดเต็มไม่แพ้ยุค มูรินโญ่ แม้ไม่เคยคว้าแชมป์ใดๆในการเป็นกุนซือมาก่อนหน้านี้ ด้วยการคว้าทั้ง แดเนี่ยล เจมส์, อารอน วาน-บิสซาก้า และ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ ที่มีค่าตัวรวมกัน 150 ล้านปอนด์ 

โดยเฉพาะ แม็คไกวร์ ที่กลายเป็นกองหลังค่าตัวแพงที่สุดในโลก 80 ล้านปอนด์ แซงหน้า เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค เจ้าของสถิติเดิมที่ย้ายไป ลิเวอร์พูล ด้วยค่าตัว 75 ล้านปอนด์ เมื่อเดือนมกราคมปี 2018

การที่กองหลังชาวดัตช์ พา หงส์แดง คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 2019 ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับ แม็คไกวร์ ว่าจะเข้ามายกระดับ ‘ปีศาจแดง’ ได้มากแค่ไหน ซึ่งสุดท้าย การมาของ กองหลังทีมชาติอังกฤษ ก็ไม่ได้ทำให้เกมรับของทีมเหนี่ยวแน่นกว่าเดิมนัก และมีลุ้นแค่เต็มที่กับการลุ้นท็อปโฟร์เท่านั้น

ยังดีที่การคว้า บรูโน่ แฟร์นันเดส มาเสริมแกร่งในเดือนมกราคม ด้วยค่าตัวราวๆ 47 ล้านปอนด์ บวกเงื่อนไขเพิ่มเติมที่อาจแตะ 67 ล้านปอนด์ สามารถยกระดับเกมรุกของ ยูไนเต็ดในยุค โซลชา ได้ จนคว้าอันดับ 3 มาครอง แม้ในบอลถ้วยทั้ง เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ หรือ ยูโรป้า ลีก จะตกรอบด้วยการจอดที่รอบรองชนะเลิศทั้ง 3 รายการ

เข้าสู่ปีที่ 2 ของกุนซือชาวนอร์เวย์ในการคุม ยูไนเต็ด แบบเต็มฤดูกาล อาจไม่ได้ใช้เงินมากเท่าซีซั่นก่อน แต่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ดึงเข้ามาก็ดูดีไม่ใช่น้อยทั้ง ดอนนี่ ฟาน เดอ เบค และ อเล็กซ์ เดลเลส ด้วยค่าตัวรวมกันราว 50 ล้านปอนด์ (รวมออปชั่นเสริม)

นอกจากนี้ยังได้ เอดินสัน คาวานี่ มาเสริมแดนหน้าแบบไร้ค่าตัวด้วย หลังหมดสัญญากับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ ฟากุนโด้ เปยิสตรี ดาวรุ่งชาวอุรุกวัยจาก เปญารอล ด้วยค่าตัวราว 9 ล้านปอนด์

ผลงานโดยรวมอาจดีขึ้นจากฤดูกาลที่แล้ว แต่ด้วยความไม่เด็ดขาดสะดุดเสมอในหลายๆเกม และมาตรฐานสูงของ ‘เรือใบสีฟ้า’ อีกครั้ง ทำให้พวกเขาจบที่รองแชมป์ลีกอีกครั้ง ขณะที่ เอฟเอ คัพ และ ลีกคัพ ก็ร่วงไปในระหว่างฤดูกาล

แม้ โซลชา มีโอกาสคว้าแชมป์แรกในฐานะกุนซือ หลัง ยูไนเต็ด เข้าชิง ยูโรป้า ลีก แต่สุดท้ายก็พ่ายช่วงดวลจุดโทษชี้ขาดแก่ บียาร์เรอัล ที่มี อูไร เอเมรี่ เจ้าพ่อบอลยุโรปถ้วยเล็ก ส่งผลให้ทีมสีแดงจาก แมนเชสเตอร์ จบฤดูกาลแบบมือเปล่าเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

 

ร้างแชมป์ปีที่ 5 

Player Ratings: Manchester United 0-1 Atletico Madrid

ถึงบอร์ดสโมสรจะไว้ใจให้คุมทีมต่อไป แต่หลายคนก็เชื่อว่าฤดูกาล 2021-22 คือโอกาสสุดท้ายที่ โซลชา จะได้รับ เมื่อคว้าทั้ง เจดอน ซานโช่ ที่ตามจีบมานานหลายปีด้วยค่าตัว 85 ล้านปอนด์, ราฟาแอล วาราน จาก เรอัล มาดริด 44 ล้านปอนด์ (รวมแอดออน) และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ตำนานเบอร์ 7 ของสโมสร ที่กลับมาโรงละครแห่งความฝันอีกครั้ง ด้วยค่าตัว 19 ล้านปอนด์ (รวมแอดออน)

และก็เป็นดั่งที่หลายคาดไว้ด้วยผลงานที่ขาดความสม่ำเสมอ และฟอร์มอันย่ำแย่ทำให้ ‘ปีศาจแดง’ หมดลุ้นแชมป์ตั้งแต่ยังไม่ถึงคริสมาสต์ ก่อนที่ โซลชา จะถูกปลดหลังเกมพ่าย วัตฟอร์ด ทีมหนีตกชั้น 1-4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยมีเกมพ่าย ลิเวอร์พูล 0-4 คาโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เป็นตราบาปที่ติดตัวแฟนผีไปจนตาย

การดึง ราล์ฟ รังนิค เข้ามาแทนที่ก็ดูดีแค่ช่วงแรก หลังจากนั้นพวกเขาก็ยังหาความสม่ำเสมอไม่เจอ พร้อมทั้งตกรอบ เอฟเอ คัพ ในรอบ 4 ด้วยการพ่าย มิดเดิ้ลสโบรห์ ในช่วงดวลจุดโทษ ขณะที่ ลีก คัพ ก็ร่วงไปตั้งแต่ช่วงที่ โซลชา ยังคุมทีมอยู่แล้ว

โอกาสสุดท้ายในการคว้าแชมป์จึงเหลือแค่รายการ แชมเปี้ยนส์ลีก เท่านั้น และสุดท้ายก็ต้องจบฤดูกาลแบบไร้แชมป์ในตู้โชว์ไปอีกเป็นปีที่ 5 เมื่อพ่าย แอตเลติโก้ มาดริด ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ด้วยสกอร์รวม 1-2

นี่ทำให้การกลับมาของ CR7 ในโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดคำรบที่ 2 ดูย่ำแย่กว่าเดิม เพราะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่โรนัลโด้ จะจบฤดูกาลด้วยการไม่มีโทรฟี่ติดมือ นับตั้งแต่สมัยเล่นให้ เรอัล มาดริด ในฤดูกาล 2009-10

 

เสริมเยอะกว่าใครแต่ไร้ถ้วย

Manchester United season simulated after Cristiano Ronaldo, Jadon Sancho and Raphael Varane deals - Manchester Evening News

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่ใช้เงินในการเสริมทัพมากที่สุดในอังกฤษ เมื่อรวมทั้งนักเตะที่ซื้อและขายไป พวกเขามีตัวเลขที่ใช้จ่ายในด้านนี้ไปถึง 532.27 ล้านยูโร จากการอ้างอิงของ transfermarkt เว็บไซต์สถิติลูกหนัง

ในช่วงเวลานั้น บิ๊กทีมในพรีเมียร์ลีก ต่างใช้จ่ายเงินมากมายเช่นกัน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (472.01 ล้านยูโร), ลิเวอร์พูล (219.11 ล้านยูโร), เชลซี (265.03 ล้านยูโร) หรือ อาร์เซน่อล (371.92 ล้านยูโร)

แต่ถึงอย่างนั้น ทีมคู่แข่งทั้ง 4 ต่างได้ผลตอบแทนจากลงทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แมนฯ ซิตี้ กับแชมป์ลีก 3 สมัย, เอฟเอคัพ 1 สมัย และ ลีกคัพ 4 สมัย หรือ ลิเวอร์พูล แชมป์ลีก, ลีกคัพ, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ แชมป์สโมสรโลก อย่างละสมัย

เชลซี กับ แชมป์เอฟเอ คัพ, ยูโรป้าลีก, แชมเปี้ยนส์ลีก และ สโมสรโลกอย่างละสมัย หรือแม้แต่ อาร์เซน่อล ที่หลุดท็อปโฟร์ตั้งแต่ 2 ปีสุดท้าย อาร์เซน เวนเกอร์ คุมทีม และร้างแชมป์ลีกมาตั้งแต่ปี 2004 ก็ยังได้แชมป์เอฟเอ คัพ มาครองในปี 2020

การห่างความสำเร็จถ้วยรางวัลถึง 5 ปีคือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในยุคของ เซอร์ แมตส์ บัสบี้ หรือยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซึ่งเป็นช่วงที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุด

และในประวัติศาสตร์ของสโมสร ปีศาจแดง เคยห่างหายโทรฟี่แชมป์ติดต่อกันนานที่สุดแค่ 9 ปีเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1968-69 ถึง 1976-77 โดยที่พวกเขาหยุด ลิเวอร์พูล กับการครองทริปเบิ้ลแชมป์ ด้วยการคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ในปีนั้น

แต่ สถานการณ์ของ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการตั้งแต่เบื้องบนไปจนถึงผลงานในสนามของ ‘ปีศาจแดง’ ไม่ได้มีความสอดคล้องกัน และเต็มไปด้วยปัญหาที่บ่มเพาะมานานหลายปีจนยากจะแก้ไขให้ได้ในเวลาไม่กี่ปี

มากไปกว่านั้นยังเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์แย่ๆของตระกูลเกลเซอร์ว่าตราบใดที่สามารถทำกำไรมหาศาลจากทีมนี้ การพาสโมสรกลับไปสู่จุดสูงสุดอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดเช่นกัน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

สาหัสสุดๆ : 5 วิกฤตที่เชลซีต้องเผชิญหลังเสี่ยหมีโดนคว่ำบาตร
สาหัสสุดๆ : 5 วิกฤตที่เชลซีต้องเผชิญหลังเสี่ยหมีโดนคว่ำบาตร