พรีเมียร์ลีกในยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยแข้งต่างชาติมากมาย แต่หากย้อนกลับไปในช่วงปีแรกๆของลีกผู้ดียุคใหม่นั่นมีไม่มากเท่าไหร่ ทว่า เจอร์เก้น คลินส์มันน์ คือคนที่เปลี่ยนแปลงมันได้จริงๆเมื่อ 26 ปีก่อน
แข้งฉายา ‘ฉลามขาว’ ย้ายจาก โมนาโก มาค้าแข้งกับ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ในปี 1994 และถึงจะโชว์ฝีเท้าในอังกฤษเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น แต่มันก็ช่วงเวลาที่น่าจดจำและยากที่ใครจะลืมเลือนได้
กองหน้าชาวเยอรมัน ย้ายมาล่าตาข่ายในไวท์ ฮาร์ท เลน ด้วยวัย 30 ปี แต่ก็กดไป 30 ประตูกับปีแรกในสโมสรดังจากลอนดอนเหนือ และถึงแม้มันจะจบลงแค่นั้น แต่นั่นกลับเป็นการเซ็นสัญญาครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนมุมมองที่สื่อหรือแฟนบอลอังกฤษมีต่อแข้งต่างแดนไปตลอดกาล
พลังแห่งเงินตรา
ในปี 1994 สเปอร์ส กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เมื่อ อลัน ชูก้าร์ ประธานสโมสรในตอนนั้นได้แต่งตั้งออสซี่ อาร์ดิเลส อดีตแข้งตำนานเข้ามาเป็นผู้จัดการทีม ซึ่งทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ในฤดูกาล 1993-94 โดยจบอันดับที่ 15 ในลีก และมีแต้มเหนือโซนตกชั้นเพียง 3 คะแนนเท่านั้น
แต่ด้วยอำนาจแห่งเงินตราของ ชูก้าร์ และความมั่งคั่งของพรีเมียร์ลีก ทำให้พวกเขามีเงินมากพอในการดึงนักเตะชื่อดังเข้ามาร่วมทีมได้ระดับนึง
ซึ่งสิ่งพวกเขาต้องการคือ การเซ็นสัญญาที่ยิ่งใหญ่, มีเสน่ห์ และน่าตื่นเต้นเพื่อขับเคลื่อนให้ทีมขึ้นไปอยู่หัวตารางของลีก และทำให้ สเปอร์ส กลายเป็นจุดหมายที่นักเตะคนไหนก็ต้องการย้ายมา
ในซัมเมอร์ปีนั้น ไก่เดือยเดือยลงทุนคว้า เจอร์เก้น คลินส์มันน์ มาด้วยค่าตัว 2 ล้านปอนด์ แต่ทีมอื่นก็ลงทุนหนักไม่แพ้กัน ทั้ง แบล็คเบิร์น ที่คว้า คริส ซัตตัน จากนอริช ด้วยค่าตัว 5 ล้านปอนด์, จอห์น สเกล ที่ย้ายจาก วิมเบิลดัน ไป ลิเวอร์พูล ในราคา 3 ล้านปอนด์ หรือ นิวคาสเซิล ที่ได้ พอล คิตสัน จาก ดาร์บี้ หลังจ่ายไป 2.2 ล้านปอนด์
ชื่อเสียงด้านลบ
สมัยก่อนนี่ถือเป็นเรื่องไม่ปกติเท่าไหร่ และเห็นได้ยากว่าสโมสรจากอังกฤษจะคว้าผู้เล่นต่างชาติเข้ามาในช่วงพวกเขาเหล่านั้นพีกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับกรณีนั้นมากที่สุดก็คือช่วงที่ สปอร์ส คว้า อาร์ดิเลส และ ริคาร์โด้ วิลล่า 2 แข้งที่เพิ่มคว้าแชมป์โลกกับ อาร์เจนติน่า ในปี 1978
ยุคต่อมาก็มีแข้งต่างชาติย้ายมาเล่นในอังกฤษบ้างประปราย ซึ่ง เอริค ตันโตน่า และ ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล 2 ดาวดังจาก แมนเชสสเตอร์ ยูไนเต็ด คือตัวอย่างที่หลายหยิบยกขึ้นมา แต่พวกเขาเทียบไม่ได้เลยกับ ความสำเร็จที่ ฉลามขาว เคยไขว่คว้ามาได้ก่อนย้ายมาเล่นในถิ่น ไวท์ ฮาร์ท เลน
เจ้าของแชมป์โลกกับ เยอรมัน 2 สมัย, แข้งยอดเยี่ยมแห่งปีของเยอรมัน, แชมป์ยูฟ่า คัพ กับ อินเตอร์ มิลาน และ ประตูอีก 168 ลูกกับ 388 นัดในลีกสูงสุดของ 3 ประเทศ ทำให้ชื่อเสียงของ คลินส์มันน์ มีมากพอแล้วในอังกฤษ
แต่ความทรงจำที่แฟนบอลแดนผู้ดีมีต่อเขาก็ยังมีเรื่องแย่ๆปะปนอยู่ไม่น้อย เมื่ออังกฤษ ถูก เยอรมัน เขี่ยตกรอบในฟุตบอลโลกรอบรองชนะเลิศด้วยน้ำมือของ เยอรมัน ที่มีคลินส์มันน์ ในปี 1990
อีกทั้ง ลีลาการพุ่งล้มที่โอเวอร์เกินจริงของ คลินส์มันน์ จนทำให้ เปโดร มอนซอน กองหลังอาร์เจนติน่า ถูกไล่ออก ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเขาแย่ลงไปอีกในสายตาแฟนบอลหลายคน
ก่อนพรีเมียร์ลีกเริ่มเปิดฉากในฤดูกาล 1994-95 แอนดรูว์ แอนโธนี่ นักข่าวจาก เดอะ การ์เดี้ยน สื่อชั้นในประเทศถึงกับเขียนบทความต้อนรับแข้งคนใหม่ของสเปอร์สอย่างชัดเจน โดยใช้ชื่อพาดหัวว่า ‘ทำไมผมเกลียด คลินส์มันน์‘
สื่อทั้งหลายเทใจให้
การเซ็นสัญญาคว้า คลินส์มันน์ เข้ามาทำให้ ชูก้าร์ ถูกสื่อแท็บลอยด์ในแดนผู้ดีโจมตีอีกครั้งในเรื่องการใช้เงินมากมาย และตราหน้าแข้งใหม่ของทีมว่าเป็นพวกขี้โกง หลังก่อนหน้านี้ เขาโดนจัดหนักไปแล้ว กรณีที่ปลด เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์ อดีตกุนซือขวัญใจแฟนๆออกจากการเป็นผู้บริหารสโมสรในปี 1993
อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่ออังกฤษได้เผชิญหน้ากับ คลินส์มันน์ ตัวเป็นๆครั้งแรกในงานแถลงข่าว พวกเขาก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่านักเตะที่เขาโจมตีมาตลอดเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน, มีเสน่ห์น่าค้นหา และเป็นมิตรอย่างมาก
ในบทสัมภาษณ์แรก ดาวยิงเมืองเบียร์ได้กล่าวหยอกล้อกับสื่อไปว่า “ก่อนเริ่ม ผมมีคำถามสำหรับพวกคุณ…ที่ลอนดอนที่โรงเรียนสอนพุ่งมั้ย?”
เดอะ ไทมส์ สื่อชื่อดังอีกเจ้าในอังกฤษ มีทัศนคติต่อ คลิ้นส์มันน์ เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด แม้จะยังสงสัยในตัวของ ชูก้าร์ ก็ตาม
“ครั้งหนึ่ง สถานะจอมพุ่งล้มที่เขาได้กลับค่อยๆหายไปในช่วงสัปดาห์ที่เขาปรากฏตัว มีหลายเรื่องมากที่ทำให้เราชื่นชอบเกี่ยวกับ คลิ้นส์มันน์ กล่าว” เดอะ ไทมส์ กล่าว
ต่อมา เดอะ การ์เดี้ยน เจ้าเก่า ก็ลงบทความชิ้นที่ 2 ของ แอนโธนี่ หลังจากที่เคยเขียนไปแล้วเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน แต่พาดหัวในครั้งนี้กลับแตกต่างจากเดิมสิ้นเชิง เมื่อใช้ชื่อว่า ‘’ทำไมผมถึงรัก คลิ้นส์มันน์’
ท่าทีของสื่อเริ่มเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และเมื่อ คลิ้นส์มันน์ ฉลองประตูช่วงท้ายเกมช่วยให้ทีมเอาชนะ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ในวันเปิดสนามของฤดูกาล ด้วยการทำท่าพุ่งไถลไปกับพื้นหญ้าก็ช่วยให้เขาเอาชนะใจสื่อต่างๆในอังกฤษได้ไม่ยาก
สิ่งที่สร้างทิ้งไว้
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ฉลามขาว อยู่โลดแล่นในลีกสูงสุดของอังกฤษเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น แต่นั่นก็หนึ่งในฤดูกาลที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ฟุตบอลแดนผู้ดีเคยมีมาเลย
เขากดไปถึง 7 ประตูจาก 6 นัดแรกของสเปอร์สในฤดูกาล และแค่ประตูของเขาลำพังในเกมเหล่านั้นก็ช้วยให้ทีมคว้าไปแล้วถึง 7 แต้ม
อีกทั้งการยิงประตูสำคัญเป็นอีกอย่างที่คลิ้นส์มันน์ แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทั้งในเกมที่ชนะ เวสต์แฮม, เอฟเวอร์ตัน, เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ และ เลสเตอร์ ซิตี้
ที่ขาดไปไม่ได้คือ ประตูของเขาในนาที 89 ที่ช่วยให้ ไก่เดือยทอง พลิกชนะแซง ลิเวอร์พูล ที่ขึ้นไปก่อนในศึกเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย
คลิ้นส์มันน์ ยิงประตูต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก่อนตัวเลขจะจบลงที่ 30 ลูกในทุกรายการที่ลงเล่นของฤดูกาล 1994-95
อดีตดาวยิงสตุ๊ตการ์ท เป็นนักคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลแข้งยอดเยี่ยมประจำปีจากสมาคมนักข่าว ทั้งๆที่ย้ายมาเล่นในอังกฤษเป็นปีแรก, ถูกเลือกให้ติดทีมยอดเยี่ยมประจำปีของ PFA ร่วมกับ คริส ซัตตัน และ อลัน เชียเรอร์ ที่พาแบล็คเบิร์นคว้าแชมป์ลีก พร้อมกับคว้าอันดับ 2 ในการโหวตรางวัลบัลลงดอร์ด้วย
ในซัมเมอร์ต่อมา คลิ้นส์มันน์ ก็เป็นกัปตันทีมชาติเยอรมันในชุดลุยศึกยูโร ปี 1996 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาาพ และพาทีมอินทรีเหล็กคว้าแชมป์ไปครองในบั้นปลาย จากนั้นก็ย้ายกลับไปค้าแข้งในบ้านเกิดกับ บาเยิร์น มิวนิค
อย่างไรก็ตาม เขาก็หวนกลับมาเล่นในอังกฤษกับ สเปอร์ส อีกครั้งในช่วงบั้นปลายอาชีพค้าแข้งด้วยสัญญายืมตัวในช่วงตลาดหน้าหนาวของฤดูกาล 1997-98 และ 9 ประตูที่เขาทำได้จาก 15 เกมในลีกช่วยให้ ไก่เดือยทอง ขยับหนีออกมาจากโซนตกชั้นได้สำเร็จ และประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบฤดูกาลนั้นทันที
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ คลินส์มันน์ เคยทำไว้ในฟุตบอลอังกฤษ ไม่ใช่เพียงลีลาการเล่นที่ยอดเยี่ยม หรือ ประตูที่สวยงามเท่านั้น แต่เขายังช่วยทำลายทัศนคติแย่ๆที่แฟนบอลหรือสื่ออังกฤษมีต่อแข้งต่างชาติให้มลายหายไปอย่างหมดสิ้น
อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลีกมีมูลค่าเติบโตมากขึ้นจากผู้เล่นนอกประเทศ และ กระตุ้นให้ผู้จัดการทีมหรือทีมต่างๆ ส่งแมวมองเพื่อมองหาแข้งฝีเท้าดีจากต่างแดนเข้ามาร่วมทีมมากขึ้น
และตลอด 2 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา อิทธิพลที่ คลิ้นส์มันน์ สร้างไว้ก็ยังคงอยู่ในพรีเมียร์ลีกในยุคปัจจุบัน และจะคงอยู่ไปตลอดกาล