มิลานโมเดล: บทวิเคราะห์ บาร์เซโลน่ากำลังก้าวตามรอยเอซี มิลานหรือไม่?

บาร์เซโลน่า ยอดทีมจากศึกลาลีกาสเปน กำลังโดนปัญหาต่างๆรุมเร้าทั้งภายในภายนอกไม่ว่าจะเป็นการเงินที่ขาดทุนยันจนเป็นหนี้ก้อนโต การบริหารงานของบอร์ดที่แฟนๆต่างเอือมระอา หรือจะเป็นบรรดานักเตะแกนหลักของทีมที่เริ่มโรยราไป ด้วยปัญหาเหล่านี้ทำให้อดนึกถึงอดีตยักษ์ใหญ่อย่าง เอซี มิลาน ไม่ได้ ซึ่งพวกเขาเคยประสบปัญหาหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันจนกลายเป็นยักษ์หลับ

 

วันนี้ทางUFA ARENA จะขอยกกรณีการล่มสลายของปีศาจแดงดำ ยอดทีมที่เคยยืนหนึ่งในยุโรป แต่กลับล้มลงไปแบบที่ปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้น กับบาร์เซโลน่า ที่ปัจจุบันเจอปัญหาแบบเดียวกัน พวกเขาจะกลายเป็นแบบ มิลาน หรือไม่?

 

ปัญหาการเงิน

 

ในเรื่องของปัญหาการเงินของทั้งสองทีมค่อนข้างมีความใกล้เคียงกันคือการได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ทางฝั่งปีศาจแดงดำเริ่มจากการที่ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ประธานสโมสรนำเงินไปลงทุนสร้างสนามใหม่แยกจากคู่ปรับอย่าง อินเตอร์ มิลาน แต่อยู่ๆประเทศอิตาลีก็ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักจนแผนการสร้างสนามต้องหยุดไป ทำให้เงินลงทุนก่อนหน้านี้เสียไปฟรี แถมหลังจากนั้นก็มามีวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มอีก รวมถึงคดีกัลโช่โปลี ที่ส่งให้ฟุตบอลอิตาลีได้รับความนิยมน้อยลงไปอีก

 

ในขณะที่ทางฝั่งของบาร์เซโลน่าเกิดมาจากการทุ่มเงินเสริมทัพอย่างหนักจนมีสตาร์เต็มทีมทำให้ค่าใช้จ่ายสูง แต่ถ้ายังเป็นในภาวะปกติ พวกเขาก็ยังคงเป็นสโมสรที่ทำเงินได้มากที่สุดอันดับต้นๆของโลก แต่การเจอภาวะCOVID-19ที่กำลังระบาดอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของสโมสรที่ไม่สามารถเปิดสนามคัมป์นูต้อนรับแฟนบอลกว่า 99,000 คนต่อเกมได้อีกไปอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ในขณะที่รายจ่ายเรื่องค่าเหนื่อยของนักเตะก็ยังคงสูงแม้ว่าจะมีมาตรการหั่นค่าเหนื่อยครึ่งนึงเพื่อช่วยสโมสรก็ตาม รวมถึงค่าเหนื่อยสต๊าฟต่างๆอีกด้วย

 

โดยตามรายงานจากสื่อระบุว่าสโมสรมีหนี้กว่า 888ล้านยูโร แม้สโมสรจะออกมาแก้ไขว่ามีจำนวนหนี้เพียงแค่ 460ล้านยูโร ในขณะที่ โจเซ ฟอนต์ หนึ่งในผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานสโมสรบอกว่า เป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจได้ว่าทำไมสโมสรอย่างบาร์เซโลนา จึงไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขอย่างโปร่งใสได้ ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาถึงระบบและโครงสร้างของสโมสรแล้วทุกอย่างควรจะโปร่งใส แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจส่งผลไปถึงแผนการปรับปรุงสนามคัมป์นูที่ถูกวางเอาไว้

 

ซื้อนักเตะลองผิดลองถูกจนขาดทุน

 

 

เอซี มิลาน เป็นอีกหนึ่งทีมที่ซื้อตัวนักเตะซี้ซั้วเรี่ยราดไปทั่วแม้จะไม่ได้ทุ่มซื้อสตาร์บิ๊กเนมระดับร้อยล้านแต่ด้วยปัญหาการเงินที่เรื้อรังมานาน ก็ยังไปหาดึงตัวนักเตะมาเข้าทีมได้เรื่อยๆด้วยการยืมตัว จนในยุคนึงถูกล้อเลียนในชื่อ เอซี มิโลน พวกเขาแทบจะเปลี่ยนแกนหลักของทีมในทุกๆซีซั่น ปัญหามันยิ่งมาหนักข้อในปี 2017/18 เมื่อ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนีขายทีมให้กลุ่มทุนจีน พวกเขาเข้ามาใช้เงินทุ่มซื้อนักเตะเข้าทีมมากว่า 11ราย คิดเป็นเงินกว่า 194ล้านยูโร แต่ก็ใช้งานได้ไม่กี่คน แน่นอนว่าการผ่าทีมทุกฤดูกาลส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของทีมโดยตรงอย่างเห็นได้ชัด

 

สุดท้ายแล้วกลุ่มทุนจีนก็เป็นกลุ่มทุนจีนแดง เพราะจำนวนเงินทั้งหมดที่เอามาลงทุนกับปีศาจแดงดำ มาจากการกู้เงินมาจากกลุ่มทุน เอลเลียต จำนวน 303ล้านยูโร ก่อนจะโดนฮุบไปในปี 2018 สรุปแล้วกลุ่มทุนแดนมังกรได้บริหารงานเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น

ส่วนทางเจ้าบุญทุมเอง หนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ทัพต่างดาวเกิดปัญหาการเงินคือการซื้อนักเตะลองผิดลองถูกนับตั้งแต่ ขายเนย์มาร์ออกจากทีมไปให้กับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมงเมื่อปี 2017 ด้วยราคา 222ล้านยูโร แต่ก็ไปซื้อตัว ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ และ อุสมาน เดมเบเล่ มาเข้าทีมในปีเดียวกัน ด้วยราคา 145ล้านยูโร และ 125 ล้านยูโร ตามลำดับเพื่อเข้ามาแทนที่ของสตาร์ชาวบราซิเลี่ยน แต่ก็ไม่มีใครเข้ามาแทนที่เขาได้สักคน ล่าสุดก็เพิ่งคว้าตัว อองตวน กรีซมันน์มาด้วยราคา 120 ล้านยูโรอีกแต่ก็ไม่ได้โชว์ฟอร์มคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ทุ่มไป ก่อนที่จะมาประสบปัญหาไวรัสระบาดซึ่งทำให้ไม่มีเงินเข้ามาหมุนจนเป็นหนี้เป็นสิน

 

การทำงานของบอร์ดบริหาร

 

Barcelona President Josep Maria Bartomeu Dismisses 'No Case ...

 

ความเละเทะของบอร์ดบริหารเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทั้งสองทีมมีเหมือนกันทางฝั่งของเอซี มิลานปัญหาเรื่องของบอร์ดบริหารที่เละเทะมันมีมาตั้งแต่ช่วงที่ทีมประสบปัญหาการเงิน กับสิ่งที่แฟนบอลรู้กันดีเรื่องการขายนักเตะกินเพื่อมาโปะหนี้สโมสรอย่างในรายของ ริคาร์โด้ กาก้า ที่ปล่อยไปให้เรอัล มาดริด เพื่อนำเงินมาหมุนต่อ หรืออย่างการปล่อยตัว อันเดรีย ปีร์โล่ ออกไปให้กับยูเวนตุสแบบฟรีๆโดยให้เหตุผลว่าแก่เกินไป ก่อนที่จะเริ่มมามีปัญหากันเองภายในบอร์ดบริหารตั้งแต่การเข้ามาของกลุ่มทุนเอเลียตต์ และ อิวาน กาซิดิสเข้ามานั่งแท่นซีอีโอของทีม กรณีที่เห็นชัดที่สุดก็คือการปลด ซโวนิเมียร์ โบบัน ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการทีม เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันกับการตั้ง ราล์ฟ รังนิค เข้ามาคุมทีมในซีซั่นหน้า 

 

ด้านบาร์ซ่าก็ไม่น้อยหน้าในความเละเทะของบอร์ดบริหารที่บรรดาสาวกต่างส่ายหัวกันหมด กับการซื้อขายตัวนักเตะที่ไม่มีประสิทธิภาพจนแฟนบอลพากันสาปส่งกันทั่วหน้า แถมยังมีเรื่องความขัดแย้งกันภายในกับการที่มีบอร์ดบริหาร 6รายประกาศลาออกได้แก่ เอมิลี รูเซาด์ และ เอ็นรีเก้ ตอมบาส สองรองประธานของสโมสรรวมถึง ซิลวิโอ เอลีอาส, มาเรีย เตยชีดอร์, โจเซ็ป ปอนต์ ผู้อำนวยการและ จอร์ดี้ กลาซามิเกลีย เลขาธิการของบอร์ดบริหาร ซึ่งฉนวนเหตุตามที่สื่อรายงานระบุว่ามาจากการที่ทั้งหมดต้องการแสดงความรับผิดชอบที่ ทำให้สโมสรกำลังเจอวิกฤติ รวมถึงการที่ถูกแฮคเกอร์เข้าไปโจมตีโซเชียลมีเดียของทีมที่ชื่อว่า ‘Barcagate’ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งประธานสโมสรใหม่ เพื่อหาทางออกที่ดีสุดในสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความล้มเหลวในการนำอดีตนักเตะของทีมขึ้นมานั่งแท่นในการบริหารงาน ไม่ใช่ว่าการทำแบบนี้มันจะการันตีความล้มเหลว เพราะอย่าง พาเวล เนดเวด ก็สามารถขึ้นมาทำงานในตำแหน่งบริหารงานได้กับยูเวนตุส แต่ในรายของบาร์เซโลน่าที่มี เอริค อบิดัล ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการกีฬาสโมสรก็ได้ออกมาพูดกล่าวหานักเตะแบบเสียๆหายๆในทำนองว่ามีนักเตะที่ไม่ทุ่มเทจนเป็นเหตุให้ บัลเบร์เดโดนปลดออกไป

 

ก่อนที่ ลิโอเนล เมสซี่ จะออกมาตอบโต้ในฐานะกัปตันทีมผ่านโซเชี่ยลมีเดียว่า “ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่ชอบที่จะทำอะไรแบบนี้ แต่ผมคิดว่าทุกคนจำเป็นจะต้องมีความรับผิดชอบในงานและการตัดสินใจของตัวเอง

 

“นักฟุตบอล (มีความรับผิดชอบ) ต่อสิ่งที่เกิดในสนาม และเราก็เป็นคนกลุ่มแรกที่ยอมรับในเวลาที่เราทำได้ไม่ดีพอ ส่วนหัวหน้าฝ่ายกีฬาก็จำเป็นจะต้องรับผิดชอบในส่วนของพวกเขาเช่นกัน และเหนืออื่นใด มันเป็นการตัดสินใจที่พวกเขาเลือกเอง และสุดท้ายเวลาที่พูดถึงผู้เล่นในทีม คุณควรที่จะระบุชื่อไปเลย เพราะไม่เช่นนั้นก็เหมือนทำให้เราทุกคนแปดเปื้อน มันคือการแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และไม่ได้เป็นความจริงเลย”

 

ในขณะที่ทางเอซี มิลาน ก็นำเปาโล มัลดินี่ และ ซโวนิเมียร์ โบบัน ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา ซึ่งในรายของโบบันก็โดนปลดออกไปแล้วจากปัญหาภายใน ส่วนอนาคตของ มัลดินี่เองก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม

 

บ้านพักคนชรา อาจนำไปสู่การเสียเสาหลักของทีมพร้อมกัน

 

 

“บ้านพักคนชรา” คือชื่อเรียกของ เอซี มิลาน ในยุคสมัยนึงเนื่องจากการที่มีนักเตะอายุทะลุ 30ปีเพียบไล่มาตั้งแต่ อเลสซานโดร เนสต้า(36ปี) , ฟิลิปโป้ อินซากี้(38ปี) , จานลูก้า ซามบรอตต้า(35ปี) , เจนเนโร่ กัตตูโซ่(34ปี) , คาแลนซ์ เซดรอฟ(36ปี)เป็นตันซึ่งยังมีอีกหลายรายที่อายุแตะหลัก 30 ซึ่งในส่วนของนักเตะชุดนี้พวกเขาอำลาทีมไปพร้อมกันในปี 2012/13 นั่นทำให้โครงสร้างทีมทั้งหมดพังทลาย

 

 

ในส่วนของบาร์เซโลน่าชุดปัจจุบันพวกเขามีทั้ง หลุยซ์ ซัวเรซ(33ปี), เคราร์ด ปิเก้(33ปี),อาร์ตูโร่ วิดัล(33ปี),ลิโอเนล เมสซี่(33ปี),อิวาน ราคิติช(32ปี) นอกจากนี้ยังเพิ่งนำตัว อาร์ตูร์ เมโล กองกลางวัยเพียง 23ปี ไปแลกกับ มิราเลม เปียนิช กองกลางวัย 30ปีจากยูเวนตุสมาร่วมทัพ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลไม่น้อย

 

อย่างไรก็ตามด้วยบรรดานักเตะอายุน้อยที่ถูกดันขึ้นมาและใช้งานได้ทันทีก็อาจจะไม่ส่งผลกับทัพต่างดาวมากเท่ากับในส่วนของปีศาจแดงดำที่แม้ระบบอคาเดมี่จะผลิตนักเตะชั้นยอดมาเหมือนกัน แต่ฝั่ง ลามาเซียของบาร์ซ่า ดูจะดีกว่า แต่ถ้าหากยังนิ่งนอนใจกับนักเตะชุดเดิมที่เริ่มโรยราไปในทุกปีก็อาจจะมีเส้นทางเดียวกับปีศาจแดงดำก็เป็นได้

 

เปลี่ยนกุนซือบ่อย ขาดความต่อเนื่อง

 

 

หลังจากการอำลาทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่าเมื่อปี 2012 บาร์เซโลน่าก็ค่อนข้างมีแนวทางการเลือกผู้จัดการทีมเข้ามาทำทีมแบบสะเปะสะปะ ยกเว้น หลุยซ์ เอ็นริเก้ ที่นับว่าประสบความสำเร็จมาที่สุดในบรรดานายใหญ่หลังยุคเป๊ป ซึ่งหลังจากที่ เอ็นริเก้ อำลาทีมไปในปี 2017 พวกเขาก็ไปดึง เอร์เนสโต บัลเบร์เด มาคุมทัพโดยเป็นกุนซือที่แฟนบาร์ซ่ายกให้เป็นการเล่นบอลที่น่าเบื่อแบบสุดๆยังดีที่มีแชมป์ติดไม้ติดมือ ก่อนจะโดนปลดไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและตั้ง กิเก้ เซเตียนมารับช่วงต่อ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เวิร์คและส่อแววที่จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

 

 

เช่นเดียวกับเอซี มิลานที่หลังจากพ้นยุคของ มักซิมิเลียโน่ อัลเลกรีที่ลาทีมไปในปี 2014 พวกเขาก็เปลี่ยนผู้จัดการทีมไปมากถึง 9คน รวมสเตฟาโน่ ปิโอลี่คนปัจจุบันไปด้วย แถมยังเป็นการใช้งานลูกหม้อเก่าของทีมไปถึง 5ราย ไล่มาตั้งแต่ เมาโร ทัซซอตติ , คาแลนซ์ เซดรอฟ , ฟิลิปโป้ อินซากี้ , คริสเตียน บร๊อคคี่ และ เจนเนโร่ กัตตูโซ่ แต่ก็ไม่มีใครสามารถพาทีมคว้าแชมป์ได้สักคน

 

หนทางสู่การห่างหายความสำเร็จ

 

 

การร้างแชมป์ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับบาร์เซโลน่าในเร็ววันนี้แน่ แต่ถ้าหากยกกรณีของ เอซี มิลาน มาดูการที่ไม่ได้แชมป์นานๆ ส่งผลอย่างชัดเจนกับความเป็นไปของทีมซึ่งมีผลในเรื่องรายได้ และ การดึงดูดนักเตะ สำหรับบาร์เซโลน่าตอนนี้ยังดูเป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่ถ้ายังปล่อยให้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นพวกเขาก็อาจจะประสบปัญหานี้ได้ ส่วนในปีนี้พวกเขาเหลือให้ลุ้นแค่แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ปัจจุบันพวกเขาอยู่ในรอบ 16ทีม พบกับนาโปลีซึ่งเสมอกันไปในเกมแรก 1-1 นอกจากนี้ยังมีเกมลีกที่ค่อนข้างลุ้นยากหน่อยกับการมีแต้มตามหลังทีมอันดับ 1อย่าง เรอัล มาดริด อยู่แต้มเดียว แต่แข่งมากกว่า 1นัด แถมยังมีเฮดทูเฮดที่ดีกว่า

 

ในขณะที่ส่วนของปีศาจแดงดำพวกเขาร้างแชมป์ลีกมาตั้งแต่ฤดูกาล 2010/11แล้ว ยังดีที่มีแชมป์ซุปเปอร์โคปา อิตาเลียมาปลอบใจในฤดูกาล 2016/17 นอกนั้นพวกเขาไม่ได้แตะความสำเร็จใดๆเลย นับตั้งแต่ประสบปัญหาการเงิน

 

 

สุดท้ายแล้วทัพต่างดาวอาจไม่ย่ำแย่เท่ามิลาน

 

 

จากปัญหาทั้งหมดที่ยกมาบาร์เซโลน่าอาจจะไม่ได้ตกต่ำร้ายแรงเท่ากับเอซี มิลาน เพียงแต่ปัญหาของทั้งคู่มีความคล้ายคลึงกัน แน่นอนว่าการที่ทีมสักทีมจะล้มไม่เป็นท่ามีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเจ้าบุญทุ่มเองก็เป็นทีมใหญ่ และมีความมั่นคงที่มากกว่า แต่ก็วางใจไม่ได้เพราะถ้าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ยังเรื้อรัง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นยักษ์ใหญ่ล้มไปเป็นยักษ์หลับอีกราย

 

อย่างไรก็ตามบาร์ซ่ายังพอมีความหวังอยู่กับการเปลี่ยนประธานสโมสรที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 ก็ต้องมาคอยลุ้นกันว่าทางเจ้าบุญทุ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ซึ่งในเรื่องของการเงินหากว่าสามารถขายนักเตะออกไปได้ราคาดี บวกกับปัญหาไวรัสระบาดที่เริ่มคลี่คลาย ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีในการกลับมามีสภาพคล่องทางการเงินอีกครั้ง 

 

อีกเรื่องที่ต้องลุ้นคือพวกเขาจะสามารถหาตัวตายตัวแทนของบรรดาสตาร์แกนหลักของทีมได้ทันท่วงทีหรือไม่ โดยที่ต้องระวังในเรื่องของกฎการเงิน หรือ Financial Fair Play (FFP) ไม่งั้นก็อาจจะถูกแบนจากเกมยุโรปเหมือนอย่างที่ เอซี มิลาน และ เปแอสเช เคยโดน รวมถึงแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ยังต้องรอลุ้นผลการตัดสิน ก็ได้แต่หวังว่าเราจะไม่ต้องเห็นทีมใหญ่ล้มตึงไปอีกทีม