มีคนไม่ปลื้ม : 7 การรีแบรนด์โลโก้ชวนขัดใจในวงการลูกหนัง

 

วงการฟุตบอลทั่วโลก กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยการรีแบรนด์สโมสรที่ปรับโฉมตัวเอง สร้างภาพจำใหม่ให้เท่าทันยุคสมัย แต่ย่อมมีกลุ่มคนไม่น้อยที่ไม่พอใจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

 

อินเตอร์ มิลาน กลายเป็นทีมล่าสุดที่ทำการรีแบรนด์ตราสโมสรใหม่ให้มีรูปลักษณ์ทันสมัยขึ้นฉลองครบรอบ 113 ปีที่ก่อตั้งทีมขึ้นมา โดยเน้นย้ำกับ 2 ตัวอักษรสำคัญ คือ ‘I’ และ ‘M’ เป็นหลัก ซึ่งจะมีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการในชุดแข่งของฤดูกาล 2021-22 เป็นต้นไป

 

ทว่าแฟนบอลเนรัซซูนี่ไม่น้อยที่ออกอาการไม่ปลื้มกับโลโก้แบบใหม่เท่าไหร่นัก เนื่องจากดีไซน์ที่ดูขัดตา และที่มีปัญหามากที่สุดดันคล้ายกับโลโก้ของ Volkswagen แบรนด์รถยนต์ดังจากเยอรมัน ในเวอร์ชั่นกลับหัวซะอย่างนั้น

 

แน่นอนว่า งูใหญ่ ไม่ใช่ทีมแรก ๆ ในวงการลูกหนังที่มีเสียงต่อต้านจากหลาย ๆ คน หลังมีการรีแบรนด์โลโก้ใหม่ และบางทีดูจะหนักหนากว่าจนต้องกลับไปคิดโลโก้ใหม่เลย

 

UFA ARENA จึงขอพาไปพบกับ 7 การรีแบรนด์ในวงการฟุตบอลที่สร้างความข้องใจให้กับแฟนบอลและใครหลาย ๆ คน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านบทความนี้

 

 

ลีดส์ ยูไนเต็ด

 

 

ย้อนกลับช่วงต้นปี 2018 ลีดส์ ยูไนเต็ด มีความคิดที่จะเปลี่ยนโลโก้สโมสรใหม่ในรอบ 16 ปี แต่มันกลับกลายเป็นโลโก้ที่ แฟนยูงทอง ต่อต้านอย่างหนัก ซึ่งนำไปสู่การเซ็นชื่อกว่า 77,000 รายเพื่อเรียกร้องไม่ให้สโมสรนำตราใหม่สุดขัดใจมาใช้เป็นโลโก้ใหม่

 

โลโก้ดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปลำตัวของคน พร้อมกำหมัดยกระนาบขึ้นไปอกด้านซ้าย หรือที่หลายคนรู้จักว่า “Leeds Salute” ท่าเอกลักษณ์ของเหล่าแฟนบอล ‘ยูงทอง’

 

ทว่าโลโก้ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก แม้ว่าสโมสรจะอ้างว่าผ่านขั้นตอนการออกแบบที่เข้มงวดกว่า 6 เดือน อีกทั้งยังถูกล้อเลียนจากแฟนบอลคู่แข่ง ส่งผลให้ โลโก้ ดังกล่าวถูกปัดตกไป และใช้ตราเก่าของทีมต่อไปจนถึงปัจจุบัน

 

 

ยูเวนตุส

 

 

กระทิงเป็นสัตว์ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ในเมืองตูริน แต่ ยูเวนตุส กลับเลือกตัดสัตว์ประจำเมืองทิ้งไปในช่วงที่รีแบรนด์สโมสรใหม่ในปี 2017 เช่นเดียวกับมงกุฏ เปลี่ยนเป็นสไตล์มินิมอลด้วยรูปตัว J 2 ตัว พร้อมติดชื่อสโมสรไว้ด้านบนโลโก้

 

แฟนบอลมากมาย รวมถึงสาวก ม้าลาย เอง ต่างพากันล้อเลียน โลโก้ นี้ทันทีผ่านโซเชียล มีเดีย หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์ที่ดูเหมือนกับองค์กรอะไรซักอย่าง หรือที่หนักกว่าหน่อยคือตัว J ดูคล้ายกับ เคราของ อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ ตำนานสโมสร

 

แม้ว่าในช่วงแรกจะมีการต่อต้านจากแฟนบอลรุ่นเก่าบ้างก็ตาม แต่ต่อมา โลโก้ใหม่ของ เบียงโคเนรี่ ก็ได้เสียงตอบรับทางบวกในเวลาต่อมา พร้อมกับการเติบโตทางด้านธุรกิจที่สูงขึ้นในแต่ละปี นับตั้งแต่นั้น

 

 

แอสตัน วิลล่า

 

 

แอสตัน วิลล่า ได้รับรายงานว่าใช้เงินกว่า 2 ล้านปอนด์ในการออกแบบโลโก้ใหม่เมื่อปี 2016 แต่ก็คงไม่มีแฟน ‘สิงห์ผงาด’ คนไหนโวยวายอะไร หากทีมรักของเขาไม่ได้ลบคำว่า ‘prepared’ ในตราเก่า เพื่อสร้างเป็นโลโก้ใหม่แบบง่าย ๆ ลวก ๆ แบบนี้

 

แม้ว่า วิลล่า ได้ออกมายืนยันว่า โปรเจคดังกล่าวใช้งบน้อยกว่า 80,000 ปอนด์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนโลโก้เพียงแค่นี้ทำให้หลายคนมองว่าสร้างความสิ้นเปลืองเงินด้วยใช่เหตุ ก่อนที่ทีมจะกระเด็นตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2015-16

 

 

แอร์เบ ไลป์ซิก

 

 

Red Bull บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังยักษ์ใหญ่ ตัดสินใจเข้าเทคโอเวอร์ ‘เอสเอสวี มาร์ครานสตัดท์’ สโมสรเล็กๆ ในระดับดิวิชั่น 5 ของเยอรมันในปี 2009 และทำการรีแบรนด์สโมสรใหม่แบบยกชุด พร้อมชื่อใหม่ว่า ‘แอร์เบ ไลป์ซิก’ แต่คนที่มีปัญหากับการรีแบรนด์กลับไม่แฟนบอลของสโมสร แต่เป็นหน่วยงานที่ดูแลลีกในเมืองเบียร์มากกว่า

 

ตราดั้งเดิมทั้งหมดที่เสนอนั้นถูกปฏิเสธไป โดยสมาคมฟุตบอลแซกโซนี (SFV) เนื่องจากถือว่าเป็นการนำโลโก้องค์กรของ Red Bull มาใช้ซึ่งผิดกฏชัดเจน ทำให้ทีมต้องลงเล่นโดยไม่มีตราสโมสรในช่วงปีแรก ๆ 

 

การออกแบบโลโก้เกิดขึ้นในอีก 2-3 ฤดูกาลต่อมา แต่โลโก้นี้ถูกปฏิเสธโดยฟุตบอลลีกเยอรมัน (DFL) ในระหว่างขั้นตอนใบอนุญาตสำหรับฤดูกาล 2014-15 ซึ่งนำไปสู่การใช้โลโก้ที่หลายเห็นในปัจจุบัน โดยมีการดัดแปลงจาก ตราของ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก เล็กน้อย ทั้งวงกลมที่เหลืองที่เปลี่ยนมาใช้เป็นลูกฟุตบอล หรือย้ายคำว่า ‘RB’ ไปไว้ด้านล่าง ไม่ถูกเน้นด้วยสีแดงอีกต่อไป

 

 

เอฟเวอร์ตัน

 

 

การออกแบบโลโก้ใหม่ของ เอฟเวอร์ตัน ในปี 2013 กระตุ้นให้แฟนบอล ‘ท็อฟฟี่’ กว่า 23,000 คนลงนามในคำร้องออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกตราใหม่ พร้อมตีตราว่าเป็นโลโก้ที่ดูเหมือนมือสมัครเล่นออกแบบ และ สร้างความอับอายให้พวกเขาไม่น้อย

 

ตราดังกล่าว ได้รับการออกแบบโดยทีมกราฟิกของสโมสร โดยแสดงให้เห็นถึงหอคอยเซนต์ รูเพิร์ต ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในท้องถิ่นตลอดจนชื่อสโมสรและปีที่ก่อตั้ง ทว่าเสียงตอบรับของแฟน ๆ ทำให้สโมสรตัดสินยกเลิกใช้งานโลโก้นี้ในฤดูกาลถัดไป พร้อมกับออกแบบตราใหม่ที่ถูกอกถูกใจ สาวกทีมลูกอมมากกว่า

 

 

คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้

 

Cardiff City's new crest: What ex-player, diehard fan and our football  writers make of new Bluebirds' badge - Wales Online

 

วินเซนต์ ตัน มหาเศรษฐีชาวมาเลเซีย ได้เข้ามาเทคโอเวอร์เป็นเจ้าของสโมสรคนใหม่ของ คาร์ดิฟฟ์ ในปี 2010 

 

แต่ในอีก 2 ปีถัดมา เขาทำการรีแบรนด์สโมสรใหม่แบบไม่ถามความเห็นของแฟนบอล เลยซักคำ ด้วยการเปลี่ยนโลโก้จากสโมสรจาก ‘เดอะ บลูเบิร์ด’ สีน้ำเงิน มาเป็น มังกรสีแดง เป็นเหตุให้แฟนบอลต่อต้านหนักมาก ถึงขนาดเดินประท้วงกันเลย 

 

อย่างไรก็ตามในปี  2015 มหาเศรษฐีแดนเสือเหลือง ยอมเปลี่ยนสีคืนพร้อมโลโก้สโมสรให้เป็นรูปนกบลูเบิร์ดตามเดิม พร้อมกล่าวขอโทษถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงกับการรีแบรนด์พลาดในครั้งนี้

 

 

พรีเมียร์ลีก

 

The 9 best logo redesigns so far this year, according to designers | Logo  redesign, Cool logo, Logo design

 

การออกแบบใหม่ที่ขัดแย้งกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงสโมสรเท่านั้น แต่ลีกชั้นนำระดับโลกอย่าง พรีเมียร์ลีก ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

ฤดูกาล 2016-17 ลีกสูงสุดแดนผู้ดีได้เปิดตัวโลโก้ใหม่ โดย DesignStudio บริษัทครีเอทีฟ ที่นำเสนอหัวสิงโตสีม่วงและชื่อลีกที่สะกดในแบบอักษรเฉพาะ ซึ่งการการออกแบบใหม่ได้สร้างความคิดเห็นที่แตกต่างกันจากผู้คนมากมาย โดยบางคนเปรียบเทียบโลโก้นี้ไม่ต่างจาก The Lion King การ์ตูนดังของดิสนี่ย์เลย

 

แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่สุด คือโลโก้ใหม่พรีเมียร์ลีก ดันไปเหมือนกับ พรรคพรรค UK Independence Party (UKIP) ที่ใช้รูปหัวสิงโตคล้าย ๆ กัน แถมยังมีสีม่วงแบบเดียวกันอีก ทำให้พรรคการเมืองแดนผู้ดี ทำการเปลี่ยนสีโลโก้เป็นสีเหลืองแทนในเดือนตุลาคมปี 2016 เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับ พรีเมียร์ลีก ที่อาจเกิดขึ้นได้