ยูนิโอน เบอร์ลิน : สโมสรที่แฟนบอลยอมหลั่งเลือดให้

 

“แฟนบอลถึงขนาดบริจาคเลือดให้ ซึ่งคุณจะได้รับเงินสำหรับการบริจาคเลือดในเยอรมัน และเงินเหล่านั้นพวกเขาก็จะนำมาช่วยให้สโมสรอยู่รอดต่อไป”

 

คำพูดของ จาค็อบ สวีทแมน นักข่าวสายลูกหนังชาวเยอรมัน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเสียสละของแฟนบอล ยูนิโอน เบอร์ลิน ในช่วงที่ทีมกำลังผ่านช่วงประวัติศาตร์ของสโมสร

 

หลังสิ้นสุดฤดูกาลก่อน พวกเขาเป็นสโมสรแรกจากเบอร์ลินฝั่งตะวันออกที่เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในบุนเดสลีก้า รวมกับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ทีมคู่แข่งที่อยู่ฝั่งตะวันตกของเมือง

 

ดาร์บี้แมตช์เมืองเบอร์ลินไม่เคยเกิดขึ้นในลีกสูงสุดเมืองเบียร์มาก่อน ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน คงเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ เนื่องจากมีกำแพงเบอร์ลินคอยแบ่งแยกเมืองนี้อยู่

 

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ โดยเยอรมันฝั่งตะวันออกอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียต ขณะที่เยอรมันตะวันตกเป็นพันธมิตรกับ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา

 

 

เบอร์ลินก็เป็นอีกเมืองที่ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในปี 1961 กำแพงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแยกเมืองออกจากกันและป้องกันผู้คนที่หลบหนีจากฝั่งตะวันออกเข้ามา ก่อนจะถูกทำลายลงในปี 1989

 

ในด้านกีฬา ทีมจากเบอร์ลินฝั่งตะวันออกได้แข่งขันอยู่ในลีกของฝั่งตัวเอง จนกระทั่งมีการรวมประเทศขึ้นในปี 1990 และยูนิโอน เบอร์ลิน ก็ได้เริ่มต้นหาโอกาสในการกลับมาเล่นในลีกสูงสุดนับตั้งแต่นั้น โดยในตอนนี้พวกเขาก็ทำได้สำเร็จแถมยังเป็นทีมน้องใหม่ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในบุนเดสลีก้า หลังรั้งอันดับที่ 11 ในตอนนี้

 

UFA ARENA จะพาไปรู้จักกับทีมน้องใหม่ในลีกเมืองเบียร์ฤดูกาลนี้ที่ไม่ได้มีดีแค่ผลงานในสนาม รวมไปถึงอุปสรรคมากมายที่สโมสรและแฟนบอลได้ฝ่าฟันร่วมกันมาผ่านบทความนี้กัน

 

สโมสรที่แฟนบอลเป็นเจ้าของ

 

 

“เมื่อไม่มีแฟนบอล สโมสรก็ไม่มีอะไร” สวีทแมนกล่าวกับ ฟุตบอล โฟกัส รายการลูกหนังในช่อง บีบีซี

 

ยูนิโอน มีรังเหย้าชื่อว่า สตาดิโอน อัน เดอร์ อัลเตน ฟอร์สเตอร์ไร ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกใกล้กับเมืองโคเปนิก โดยมีความจุอยู่ 22,000 ที่นั่ง

 

สโมสรนี้เกือบจะต้องเสียใบอนุญาตสำหรับการใช้สนามนี้ในปี  2008 เมื่อมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากเกินไป แต่แฟนบอลกว่า 2,500 คนก็อาสาช่วยสร้างสนามใหม่ และใช้เวลากว่า 140,000 ชั่วโมงในการทำงานนี้ให้เสร็จสิ้น

 

“พวกเขาช่วยให้ทีมพ้นจากอันตราย และพวกเขาก็สร้างสนามของพวกเขาเอง” สวีทแมนกล่าวเสริม “คุณจะรู้สึกได้ เมื่อคุณไปที่นั่น มันเป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของใครคนอื่น”

 

เขากล่าวว่าในช่วงที่ทีมกำลังอุ่นเครื่องกับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน แฟนบอลที่ช่วยสร้างสนามได้สวมหมวกก่อสร้างสีแดงและมีหลายคนที่กำลังร้องไห้อยู่

 

“มีหลายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ทีมตกอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย” สวีทแมนกล่าวพร้อมบอกว่า ไม่ว่าแฟนบอลจะได้เงินจาการบริจาคเลือดเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมอบให้สโมสรเพื่อให้อยู่รอดต่อไป

 

คริสเตียน อาร์ไบท์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของยูนิโอน เบอร์ลิน ได้บอกว่า แคมเปญ ‘Bleed for Union’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘หลั่งเลือดเพื่อยูนิโอน’ ได้ถูกสร้างขึ้นโดยแฟนบอลของสโมสร

 

 

ความรักที่แฟนๆมีให้สโมสรนั่นแข็งแกร่งมาก จากการเปิดเผยของนักข่าวหนุ่ม ไรลัน เจมส์ ที่ครั้งหนึ่งกลุ่มของแฟนบอลได้บุกเข้าไปที่สนามเพื่อนอวยพรให้คนอื่นๆในวันคริสมาสต์ และมันก็เกิดขึ้นซ้ำทุกๆปีจนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว

 

“พวกเขาเศร้าใจกับการพ่ายแพ้ในเกมนัดสุดท้ายก่อนคริสมาสต์และอยู่บ้านอย่างผิดหวัง” เจมส์กล่าว “จากนั้นพวกเขาก็นึกขึ้นได้พวกเขายังไม่ได้อวยพรคนอื่นๆในวันคริสมาสต์เลย ดังนั้นพวกเขาจึงแหกสนามเข้าไปพร้อมด้วย ไวน์ร้อน และบิสกิต เพื่ออวยพรแฟนบอลคนอื่นๆและร่วมร้องเพลงแครอลในสนามด้วยกัน”

 

 

อารมณ์ดิบเถื่อนคือสิ่งที่พวกเขาเป็น

 

 

ในช่วงจบครึ่งแรก ณ รังเหย้าของ ยูนิโอน จะไม่มีการเอนเตอร์เทน, โฆษณา หรือเปิดเพลงอะไรทั้งสิ้น ซึ่งอาร์ไบท์เผยว่า สโมสรไม่จำเป็นต้องช่วยแฟนบอลในการสร้างบรรยากาศในการเชียร์เลย

 

“ถ้าทีมของเราทำประตูได้ เสียงดังกึงก้องก็จะเกิดขึ้นและมีอารมณ์ร่วมทั่วในสนาม” เขากล่าว

 

“ประธานสโมสรก็จอดรถที่เดียวกับที่แฟนบอลปกติจอด พวกเราสนิทกันมาก ผู้คนรู้ว่าพวกเขาจะได้รับการต้อนรับกับความคิดหรือความช่วยเหลือที่เขาเสนอให้ พวกเขารู้ว่าสโมสรจะซาบซึ้งกับเรื่องนั้นแน่”

 

ส่วนแฟนบอลของยูนิโอนอย่าง อินโก้ เพตซ์ ก็บอกว่า “ผมไปที่ยูนิโอนเพราะนี่เป็นสโมสรที่ติดดิน ผู้คนชื่นชอบในการดื่มเบียร์ มีคอนเนคเช่นที่เหนี่ยวแน่นกับเหล่านักบิด และผู้คนที่นี่ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี”

 

“อารมณ์ดิบๆบ้านๆ แบบนี้ คือสิ่งที่ยูนิโอนเป็น ฟุตบอลเป็นที่สุดท้ายที่คุณสามารถอยู่ได้ด้วยอารมณ์แบบนั้น และยูนิโอนก็เป็นสถานที่ซึ่งยินดีที่จะสนับสนุนทีมในลักษะณะที่สร้างสรรค์และเสียงดังกังวาน”

 

“ผู้คนในสังคมกำลังมองหาสถานที่ที่พวกเขาเคารพ ไม่ใช่ในฐานะผู้บริโภค แต่ในฐานะมนุษย์ต่างหาก” เพตซ์กล่าว

 

 

การต่อต้านอยู่ในสายเลือด

 

 

ยูนิโอน เบอร์ลิน เป็นชื่อสโมสรที่ถูกใช้เป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1966 ซึ่งในช่วง 60 ปีหน้านั้น ทีมได้ใช้ชื่อต่างๆมากมายในการแข่งขัน โดยสวีทแมนได้เผยว่าพวกเขาได้แสดงตัวตนเป็นพวก ‘ต่อตานแนวคิดเรื่องกำแพง’ มานานแล้ว

 

“พวกเขาได้ต่อต้านการก่อตั้งนี้อย่างชัดเจน” เขากล่าวต่อ “มีเรื่องราวสุดยอดเกี่ยวกับพวกเขาที่ร้องตะโกนว่า ‘กำแพงต้องออกไป’ (the wall must go) ในตอนที่มีฟรีคิก เพราะนั่นเป็นครั้งเดียวเท่านั้นที่คุณสามารถตะโกนแบบนั้นได้ในเยอรมันตะวันออก”

 

“พวกเขาเป็นสโมสรที่เป็นตัวแทนของผู้คนในช่วงสงครามเย็น เบอร์ลินเป็นเมืองแห่งกบฏ เป็นเรื่องยากที่คุณจะไม่พบกับการแสดงออกแบบต่อต้านของสโมสร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

 

อาร์ไบท์กล่าวว่าทัศนคติแบบกระด้างกระเดื่องนี้ได้นำไปสู่ วัฒนธรรมทางเลือกที่ยังคงมีอยู่ในสโมสรจนถึงปัจจุบัน

 

“ผู้ชายไว้ผมยาว ไว้หนวดรุงรังและอะไรแบบนั้น พวกเขาจะไปที่ยูนิโอน และรู้สึกถึงความอิสระ ความดุเดือด” อาร์ไบท์กล่าว “ที่นี่ไม่มีการต่อต้านทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่ถ้าคุณเป็นคนหนุ่มสาวที่ต้องการรู้สึกถึงอิสระและการมีชีวิต งั้นคุณก็มาที่ยูนิโอน”

 

“ตราบใดที่พวกเขามีอิสระที่จะทำสิ่งเหล่านั้น พวกเขาก็รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น ซึ่งยูนิโอนมอบสิ่งนี้ให้เต็มที่”

 

 

สู่บุนเดสลีก้า

 

 

ในเกมนัดเปิดสนามของยูนิโอนในบุนเดสลีก้าฤดูกาลนี้ พวกเขาพ่ายให้กับ แอร์เบ ไลป์ซิก 4-0 ในบ้าน แต่ที่น่าสังเกตมากกว่าผลการแข่งขันคือมีแฟนบอลมากมายได้ถือโปสเตอร์ที่มีรูปของแฟนบอลที่เสียชีวิตเกือบ 500 ใบ ณ สนามแห่งนั้น

 

“ความคิดที่จะให้ผู้คนที่ไม่สามารถเข้ามาที่นี่มีตัวแทนได้ถูกสรุปรวมจากหลายๆวิธีที่สโมสรคิดขึ้น” สวีทแมนกล่าว

 

เพตซ์กล่าวเสริมว่า “มันมีผลต่ออารมณ์มากๆ เราสามารถนำเพื่อนที่รักของเราและญาติที่จากโลกนี้ไปเข้ามาสนามได้ เป็นสิ่งที่น่าเคารพมากๆ”

 

ในวันที่พวกเขาเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์ของแฟนบอลเช่นกัน และอาร์ไบท์ก็กล่าวว่าเขาไม่รู้เหมือนกันว่าความรู้สึกแบบนี้จะหยุดลงเมื่อไหร่

 

“ถ้าผมเห็นรูปภาพในวันนี้ ผมคงจะเริ่มร้องไห้ทันที” เขากล่าว “มันยอดเยี่ยมมากที่ได้เห็นว่าพลังของฟุตบอลยังคงมีอยู่ในช่วงเวลานี้ ในช่วงเวลาที่แฟนๆ พบกับความสำเร็จอันเหลือเชื่อมากที่สุด”

 

“แฟนๆรู้ดีว่ามันจะเป็นปีที่ยากลำบากมากๆในบุนเดสลีก้า และเราจะต่อสู้อย่างเต็มที่จนกระทั่งเกมสุดท้ายของฤดูกาลนี้เพื่อให้ทีมอยู่รอดต่อไปแน่นอน”