รอบรองฯไม่รู้ลืม : เอฟเอ คัพกับ 10 เกมตัดเชือกแห่งความจำ

รอบรองฯไม่รู้ลืม : เอฟเอ คัพกับ 10 เกมตัดเชือกแห่งความจำ

เกมในนัดชิงชนะเลิศมักจะเป็นเกมที่หลายคนจดจำได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรายการหรือทัวร์นาเมนต์ใดๆ ก็ตาม และ ศึก เอฟเอ คัพ ก็เป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่คนจดจำและเฝ้ารอชมคู่ชิงในสนามเวมบลีย์อยู่ทุกๆ ปี 

อย่างไรก็ตาม เกมในรอบตัดเชือกก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่สร้างประสบการณ์อันแสนตื่นเต้นและน่าประทับใจให้กับคอลูกหนังตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และทาง UFA ARENA จะพาทุกท่านไปย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์สุดสำคัญในบทความนี้กัน

 

สเปอร์ส 3-1 อาร์เซน่อล (1991)

พอล แกสคอยน์ ก็พา สเปอร์ส เข้าสู่รอบรอบชนะเลิศได้ในเดือนเมษายนปี 1991 ซึ่งนี่เป็นปีแรกที่แข่งขัน ณ สนามเวมบลีย์ โดยพวกเขาต้องพบกับคู่อริสุดแกร่งอย่าง อาร์เซน่อล ที่มี จอร์จ เกรแฮม กุมบังเหียนอยู่ แถมมีลุ้นแชมป์ลีกในฤดูกาลนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แข้ง ‘ปืนโต’ ไม่สามารถต้านทานฝีเท้าอันยอดเยี่ยมของ แกซซ่า ได้ หลังยิงฟรีคิกระยะ 30 หลาผ่านมือ เดวิด ซีแมน เข้าไปและช่วยให้ทีมออกนำตั้งแต่ 5 นาทีแรก ก่อนจะแอสซิสต์ให้กับ แกรี่ ลินิเกอร์ ซัดประตูที่สองให้ทีม แม้ อลัน สมิธ จะโหม่งตีไข่แตกให้อาร์เซน่อลก่อนหมดครึ่งแรก แต่กองหน้าเข้าของฉายา ‘มิสเตอร์ไนซ์กาย’ ก็ยิงเพิ่มอีกประตูให้ทีมเอาชนะไปได้ 3-1

‘แกซซ่า’ ตะโกนอย่างบ้าคลั่งในอุโมงค์ของเวมบลี่ย์กับชัยชนะในครั้งนั้น แต่น่าเศร้าที่หลังจากนั้นฟอร์มของเขาก็ไม่กลับมายอดเยี่ยมเหมือนเดิม ก่อนจะค่อยๆ ย่ำแย่ลงอย่างใจหายในอีกหลายปีต่อมา

 

แมนยูไนเต็ด 0-1 ลีดส์ ยูไนเต็ด (รีเพลย์นัดสอง, 1970)

ดอน เรวี่ กุนซือของทีม ‘ยูงทอง’ ต้องใช้โอกาสถึง 3 ครั้งกว่าจะชนะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลงได้ ในเดือนมีนาคม ปี 1970 โดยมีกองกลางคู่หูในทีมอย่าง จอห์นนี่ กิลส์ และ บิลลี่ เบรมเนอร์ คอยตัดเกมและจัดการแนวรุกสามประสานอย่าง จอร์จ เบสต์, บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ เดนนิส ลอว์ ได้อยู่หมัด

แต่นักข่าวในยุคนั้นอย่าง ไบรอัน เกลนวิลล์ อธิบายถึงภาพรวมของเกมการแข่งขันในนัดนั้นว่า เต็มไปด้วยรูปแบบการเล่นที่ป่าเถื่อนและโหดร้ายเกินไป คุณภาพของเกมถูกบดบังด้วยการเข้าปะทะหนักๆ และวิธีการเล่นที่แตกต่างจากเดิม

อย่างไรก็ดี นักข่าวอีกคนอย่าง จอห์น อาร์ลอตต์ ก็มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้จัดการทีมจะเลือกนักเตะที่ดีที่สุดและรูปแบบการเล่นเพื่อชัยชนะของทีมอยู่แล้ว ซึ่งชายคนนั้นก็คือ เบรมเนอร์ ที่เล่นได้อย่างโดดเด่นและยิงประตูชัยในเกมวันนั้นด้วย

 

สเปอร์ส 3-1 แมนยูไนเต็ด (1962)

หลังจากที่ ‘สเปอร์ส’ คว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้เป็นทีมแรกในเกาะอังกฤษเมื่อฤดูกาล 1960-61 มาในต่อมา พวกเขาต้องเจองานช้างอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในนัดตัดเชือกของเอฟเอ คัพ ที่ฮิลส์โบโร่ แต่อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าเขาคือยอดทีมในช่วงปี 60 อย่างแท้จริง แม้จะพลาดในการป้องกันแชมป์ลีกในปีนี้ก็ตาม

 เริ่มเกมมาได้ 4 นาที จิมมี่ กริฟฟ์ ดาวยิงตัวเก่งของ ‘ไก่เดือยทอง’ ก็ทำประตูออกให้ทีมไปก่อน และทีมจากลอนดอนก็มาได้ประตูเพิ่มจาก คลิฟฟ์ โจนส์ แม้ว่า เดวิด เฮิร์ด จะยิงประตูให้ ‘ปีศาจแดง’ ตีตื้นมาได้ในช่วงท้ายเกม แต่สุดท้ายก็โดนลูกโหม่งของเทอร์รี่ เมดวิน ฝังเพิ่มอีกเม็ด

สเปอร์ส เข้าสู่รอบชิงได้เป็นปีที่สองติดต่อกันและพวกเขาก็สามารถป้องกันแชมป์ได้ด้วยการถล่ม เบิร์นลี่ย์ ไป 3-1 โดยฮีโร่คนเดิมอย่าง จิมมี่ กริฟฟ์ เป็นคนเบิกสกอร์ตั้งแต่ 3 นาทีแรก

 

ลิเวอร์พูล 0-1 อาร์เซน่อล (รีเพลย์นัดสาม, 1980)

นี่คือรอบรองฯ ที่มีการแข่งขันรีเพลย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอฟเอ คัพ หลังพวกเขาเสมอกันมา 3 สามนัดติด ก่อนจะมาแข่งในนัดตัดสินที่สนาม ไฮฟิลด์ โร้ด ของโคเวนทรี่

ในตอนนั้น ทั้ง 2 สโมสรคือทีมระดับแชมป์ด้วยกันทั้งคู่ โดย ลิเวอร์พูล ครองแชมป์ลีกมาก่อน ส่วน อาร์เซน่อล เป็นแชมป์เก่าบอลถ้วย ทำให้กุนซือ ‘ปืนใหญ่’ อย่าง เทอรรี่ นีลล์ ให้ความเห็นกับแข่งขันรอบตัดเชือกมาราธอนนี้ว่า “ลิเวอร์พูล คือทีมที่ยอดเยี่ยม และเราคือผู้เชี่ยวชาญในบอลถ้วย แต่ว่าไม่เคยมีผลเสมอแบบนี้มาก่อนเลย”

หลังจากพวกเขาเสมอกันมา 3 เกมติดซึ่งทุกนัดมีการต่อเวลาร่วมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ทำให้เกมนี้พวกเขาเน้นการเล่นแบบรัดกุมกว่าเดิม และ อาร์เซน่อล ก็เป็นฝ่ายเข้ารอบชิงจากประตูโทนของ ไบรอัน ทัลบ็อต นั่นทำให้ ลิเวอร์พูล ของ บ็อบ เพรสลี่ย์ ไม่สามารถคว้าดับเบิ้ลแชมป์มาครองได้ ส่วนแข้ง ‘ปืนใหญ่’ ที่เหนื่อยล้าอย่างหนักก็พ่ายให้กับ เวสต์แฮม ที่สนาม เวมบลี่ย์ ในตอนท้าย

 

ฟูแล่ม 3-5 แมนยูไนเต็ด (รีเพลย์, 1958)

“มันถือเป็นปาฏิหาริย์มากๆ ที่เราสามารถลงเล่นในศึกเอฟเอ คัพ โดยมีนักเตะแค่ครึ่งเดียวในทีมของปีนั้น” จิมมี่ เมอร์ฟี่ย์ กุนซือรักษาของ ‘ปีศาจแดง’ ได้กล่าวเอาไว้ หลังจากที่ทีมของพวกเขาเจอโศกนาฏกรรมมิวนิค เมื่อ 44 วันก่อน แต่ว่าทีมก็สามารถเสมอกับ ฟูแล่ม ในบอลถ้วยได้ 2-2 และกลับมาฮึดสู้เอาชนะไปได้ที่สนามไฮบิวรี่ 5-3 อีก 4 วันให้หลัง

ในเกมนั้นทั้ง 2 ทีมเปิดเกมบุกเข้าใส่กันอย่างไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น แต่ทว่าเป็นฝ่าย ยูไนเต็ด ที่ออกนำไปก่อนถึง 3-0 ก่อนที่ จอห์นนี่ เฮนส์ จะยิงประตูความหวังให้ ‘เจ้าสัว’ กลับมาสู่เกมอีกครั้ง อย่างไรก็ตามด้วยความใจสู้ของนักเตะของ ยูไนเต็ด ก็ทำให้กลับขึ้นมานำอีกครั้งและผ่านเข้ารอบชิงไปอย่างสวยงาม

เฮนส์ ยอมรับว่าเขาและ ฟูแล่ม อยากเข้าไปเล่นรอบชิงมากๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ยูไนเต็ด คงไม่มีแฟนบอลคนไหนที่อิจฉาหรือไม่พอใจเมื่อได้เห็นพวกเขาเข้ารอบ ขณะที่ เมอร์ฟี่ ก็มองว่านี่คือการคัมแบ็คที่น่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในเกมลูกหนังเลย แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ยูไนเต็ด จะต้านความแข็งแกร่งของ โบลตัน ไมได้ในนัดชิงก็ตาม

 

ควีนสปาร์ค 0-0 วันเดอร์เรอร์ส (1872)

ศึกเอฟเอ คัพ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นในยุค วิคตอเรียน นั้นเต็มไปด้วยความผันผวน ปรวนแปร ไม่มีความแน่นอนเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งรอบรองฯและรอบชิงฯในปีนั้นแข่งขันกันที่ สนาม เคนนิงตัน โอวัล ซึ่งในตอนนี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสนามกีฬาคริกเกต

สมาคมฟุตบอลของสก็อตแลนด์ ณ ตอนนั้นไม่ได้มีการห้ามให้ทีมในประเทศของตัวเองมีส่วนร่วมกับการแข่งขันกับเพื่อนบ้านในแดนใต้ จนถึงปี 1877 แต่ทว่าเรื่องแปลกประหลาดที่สุดในปีนั้นก็คือ ควีนส์ปาร์ค (คนละทีมกับคิวพีอาร์) สามารถทะลุเขาสู่รอบตัดเชือกได้โดยที่พวกเขาไม่ได้ลงเล่นแม้แต่นาทีเดียว เนื่องจากคู่แข่งในรอบก่อนต่างถอนตัวไป ทำให้พวกเขาชนะบายเข้ามาจนถึงรอบนี้

ในเกมนั้นพวกเขาได้พบกับ วันเดอร์เรอร์ส และได้เสมอกันไป 0-0 ต่อหน้าสักขีพยานกว่า 2,000 คน ซึ่งสโมสรจากแดนวิสกี้มีเกมรับที่เหนียวแน่นใช้ได้เลย อย่างไรก็ตาม ในเกมนัดรีเพลย์พวกเขาไม่มีเงินจ่ายค่ารถไฟเพื่อเดินทางมาแข่งขันได้ จึงขอถอนตัวไป และส่งผลให้ วันเดอร์เรอร์ส เข้ารอบชิงไปแบบไม่ต้องออกแรงเลย

 

โอลด์แฮม 1-2 แมนยูไนเต็ด ช่วงต่อเวลา (รีเพลย์, 1990)

แฟนบอลต่างจดจำลูกยิงของ มาร์ค โรบินส์ ที่ช่วยเซฟเก้าอี้ของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้เป็นอย่างดี ซึ่งเกิดขึ้นในเกมรอบรองชนะเลิศกับ โอลด์แฮม นัดรีเพลย์ และนัดนี้ก็มีความสำคัญและเต็มไปด้วยเรื่องดราม่าไม่แพ้นัดชิงเช่นกัน

เฟอร์กี้ สุ่มเสี่ยงที่จะโดนปลดจากตำแหน่งกุนซือของทีมมากกว่าครั้งไหนๆ เนื่องจากเขาไม่สามารถพาทีมคว้าแชมป์อะไรได้เลยนับตั้งแต่เข้ามาคุมทีมในโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เมื่อปี 1986 เขายังพาทีมตกไปอยู่อันดับที่ 13 ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ยูไนเต็ด ตกชั้นไปในช่วงกลางยุค 70

แม้สภาพทีมจะเป็นรอง แต่ทีม ‘นกฮูก’ ก็ฮึดสู้จนสามารถตีเสมอยูไนเต็ดได้ 3-3 ในช่วงต่อเวลานัดแรก ซึ่งในรีเพลย์ต่อมา โอลด์แฮมก็ทำสู้เต็มที่ไม่ต่างจากเดิม โดยดันแอนดี้ โฮลเดน มาเล่นเป็นกองหน้าซะเลยในช่วงต่อเวลา แต่ว่านั่นก็ทำให้แนวรับของพวกเขามีช่องว่างและถูกมาร์ค โรบินส์ ยิงประตูชัยและช่วยให้เฟอร์กี้สร้างประวัติศาสตร์ให้ ‘ปีศาจแดง’ ได้หลังจากนั้น

 

คริสตัล พาเลซ 4-3 ลิเวอร์พูล ต่อเวลา (1990)

ทุกอย่างดูเหมือนไม่ใช่เรื่องพลิกความคาดหมายอะไร หลังเอียน รัช ยิงประตูให้ลิเวอร์พูล ออกนำ พาเลซไปก่อนในนาทีที่ 14  เพราะก่อนหน้านี้เมื่อ 2-3 เดือนก่อน พวกเขาก็ถล่ม ‘ปราสาทเรือนแก้ว’ ไปเละเทะ 9-0 ในเกมลีก

แต่ทว่า มาร์ค ไบรท์ และ แกรี่ โอ เรลลี่ ยิงประตูให้ พาเลซ พลิกนำ 2-1 ก่อนที่ จอห์น บาร์นส์ และ สตีฟ แม็คมานามาน จะยิงประตูให้ ‘หงส์แดง’ ออกนำอีกครั้ง อย่างไรก็ตามพลพรรค ‘ ดิ อิเกิ้ล’ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เมื่อแอนดี้ เกรย์ ยิงประตูตีเสมอ 3-3 และในช่วงทดเวลาพวกเขาก็เอาชนะยอดทีมแห่งเกาะอังกฤษไปได้ 4-3 จากประตูชัยของ อลัน พาร์ดิว

ผลสกอร์ในเกมนั้นเป็นที่ลือลั่นไปทั่ว กองหลัง ‘หงส์แดง’ อย่าง อลัน แฮนเซ่น ยอมรับว่าเขาไม่เคยเห็นเกมรับที่ยุ่งเหยิงแบบนี้มาก่อนในทีมตัวเอง ขณะที่ปีกนิลกาฬอย่าง บาร์นส์ ก็บอกว่าหลังเกมกับ พาเลซ พวกเขาเสียความมั่นใจไปมากและเรียกมันกลับมาได้แทบไม่ได้เลย ซึ่งหลังจากวันนั้นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดเข้ามาและสลับขั้วให้ ‘ปีศาจแดง’ ขึ้นมาเป็นทีมมหาอำนาจลูกหนังในเกาะอังกฤษ แทนที่ ลิเวอร์พูล ด้วยน้ำมือของชายที่ชื่อว่า อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

 

ลิเวอร์พูล 0-0 น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (1989)

เวลาบ่าย 3 โมง 6 นาที ณ วันที่ 15 เมษายนปี 1989 ตามเวลาท้องถิ่นในอังกฤษ เกมรอบตัดเชือกถ้วยเอฟเอ คัพ ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ต้องยุติลง เมื่อแฟนบอล’หงส์แดง’ พยายามปีนกำแพงกั้นลงมาสู่สนามฟุตบอลเพื่อหนีตายจากแฟนบอลที่อัดแน่นเกินไปในอัฒจันทร์ ซึ่งนั่นส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมาโดยมีแฟนบอลเสียชีวิตถึง 96 คน และเหตุการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แก่วงการลูกหนังยุคใหม่ในแดนผู้ดี

 รายงานโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นนำไปสู่การแนะนำให้สนามกีฬาทั่วประเทศมีความจุรองรับคนดูมากกว่า 10,000 คนขึ้นไปและเปลี่ยนจากการสแตนด์ยืนเป็นที่นั่งทั้งหมด ซึ่งการฟื้นฟูและทดแทนสนามกีฬาใหม่ในประเทศนั้นได้เติบโตไปพร้อมๆ กับสื่อโทรทัศน์ทำให้มีการกำเนิดขึ้นของพรีเมียร์ลีก และสิ่งนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าของการจัดการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลกไปตลอดกาล

 

แมนยูไนเต็ด 2-1 อาร์เซน่อล ต่อเวลา (รีเพลย์, 1999)

“ถ้าเบิร์กแคมป์ทำประตูได้ เราคงกลับมาไม่ได้อย่างแน่นอน” ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล นายทวาร ‘ปีศาจแดง’ ออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาถึงเกมในวันนั้น

ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งหลัง ฟิล เนวิลล์ ดันไปทำฟาวล์ เรย์ พาเลอร์ ล้มลงในกรอบเขตโทษ ส่งผลให้ทีม ‘ปืนใหญ่’ ได้ลูกจุดโทษที่พร้อมจะส่งพวกเขาสู่เวมบลี่ย์ ทว่ามือกาวชาวเดนิช สามารถปัดลูกยิงของ ‘ดิ ไอซ์เบิร์ก’ ไปได้ ก่อนที่ ไรอัน กิ๊กซ์ จะตัดบอลจาก ปาทริซ วิเอร่า ในบริเวณกลางสนามและลากเลื้อยโซโล่ผ่านแนวรับของ อาร์เซน่อล มาด้วยตัวคนเดียว และซัดเต็มข้อด้วยซ้ายแสกหน้า เดวิด ซีแมน เข้าไปในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ฉากที่ปีกพ่อมดฉลองประตูชัยด้วยการถอดเสื้อและเหวี่ยงไปมากลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่แฟนบอลทั่วโลกจดจำได้มากที่สุดในศึกเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ และชัยชนะในวันนั้นช่วยให้ทีมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่กับสโมสรได้ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกและกลายเป็นทีมแรกในเกาะอังกฤษ ที่คว้าทริปเปิ้ลแชมป์มาครองได้สำเร็จ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เหมือนไร้ตัวตน : 10 แข้งถูกลืมพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022-23
เหมือนไร้ตัวตน : 10 แข้งถูกลืมพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022-23