โอกาสจำกัด : วิกฤตโค้ชอิตาลีกับวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อคนหน้าใหม่

โอกาสจำกัด : วิกฤตโค้ชอิตาลีกับวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อคนหน้าใหม่

อิตาลี เป็นหนึ่งในชาติที่สร้างโค้ชฝีมือดีเข้ามาประดับวงการฟุตบอลทั่วโลก แต่ภายใต้สิ่งนี้มีประเด็นถกเถียงไม่น้อยว่าการเลือกแต่อดีตแข้งหน้าเก่า และการจำกัดโอกาสในด้านงานโค้ช อาจส่งผลต่อการพัฒนาแข้งระดับเยาวชนหรือไม่?

หนึ่งปีหลังจากการเฉลิมฉลองที่เวมบลีย์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเข้าาสู่รุ่งอรุณใหม่สำหรับฟุตบอลแดนมักกะโรนี กับชัยชนะในยูโร 2020 ทว่าความเป็นจริงกลับไปเป็นเช่นนั้น หลังบทสรุปในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 2022

การพ่ายแพ้ต่อ มาซิโอเนียเหนือ ในเพลย์ออฟ รอบตัดเชือก เมื่อเดือนมีนาคม หมายความว่า อัซซูรี่ จะพลาดไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นหนที่ 2 ติดต่อกัน และเมื่อทัวร์นาเม้นต์ในปี 2026 เริ่มต้นขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นช่วงครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 แต่ยังเป็น 2 ทศวรรษนับตั้งแต่พวกเขาเคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบน็อคเอ้าท์ด้วย

นั่นเป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญ แต่ก็มีความขัดแย้งเกี่ยวกับเหตุผลเช่นกัน ทั้งความล้มเหลวในปี 2018 ที่หัวหน้าโค้ชเป็นฝ่ายที่โดนตำหนิ แต่ความล้มเหลวของ โรแบร์โต้ มันชินี่ ก็ยากจะพิสูจน์เพราะการคว้าแชมป์ทวีอป รวมไปถึงการพลาดจุดโทษของ จอร์จินโญ่ บางก็ยากจะอธิบายออกมาได้

เป็นเรื่องยากที่จะลงลึกไปเพื่อหาคำตอบแบบชัดเจน แต่ก็เสี่ยงเกินไปเช่นกันที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเชิงระบบที่บางคนเชื่อว่ากำลังรั้งฟุตบอลเลี่ยนไว้ และไม่มีใครบ่อนทำลายฟุตบอลได้ตลอดไป เพราะมีความต้องการในการปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเสมอในวงการนี้

เยอรมนีทำอย่างนั้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อังกฤษยกเครื่องโครงสร้างทีมเยาวชนของพวกเขาและกำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิ่งนั้นจากแข้งพรสวรรค์มากมาย และบางที แข้งชาวอิตาเลี่ยน อาจได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ว่าระบบของพวกเขาเอื้อต่อสิ่งนั้นหรือไม่

 

งานโค้ชที่เน้นผลลัพธ์เป็นหลัก

จากการศึกษาของ Gazzetta dello Sport สื่อดังแดนมักกะโรนี แสดงให้เห็นว่าน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของนักเตะตัวจริงใน เซเรียอา รวมถึงแข้งชาวอิตาเลี่ยนที่อายุต่ำกว่า 21 ปี มีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาได้ลงเล่นในช่วงปลายเกม และน่าตกใจไม่น้อยที่ในเซเรียบีก็มีตัวเลขที่แบบเดียวเช่นกัน

ขณะที่รายงานจาก CIES Football Observatory หน่วยงานวิเคราะห์สถิติชื่อดังแห่งวงการฟุตบอล ในปี 2020 ได้แสดงให้เห็นว่าใน 5 ลีกใหญ่ยุโรป มีเพียง อตาลันต้า ที่เป็นสโมสรเดียวจากแดนมักกะโรนี ที่ติดท็อป 20 อันดับแรกกับจำนวนการดันผู้เล่นชุดเยาวชนขึ้นไปเล่นในชุดใหญ่

บางคนสงสัยว่าความลำบากในการดันเยาวชนที่มีพรสวรรค์ในทีมชุดใหญ่นั้นเป็นผลจากวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการฝึกสอนแบบผิดประเภทหรือไม่ ด้าน ยูจินิโอ เซน่า โค้ชชาวอิตาเลี่ยนผู้มากประสบการณ์ กล่าวกับ Sky Sports ว่า “ผมเชื่อว่าปัญหาอยู่ที่ระบบเสมอ”

แต่สิ่งนั้นมีความเฉพาะเจาะจงกับแดนรองเท้าบู้ตจริงหรือ? เซน่า ที่เคยทำงานทั้งบ้านเกิดและอังกฤษได้กล่าวต่อไปว่า “ในอังกฤษเป็นเรื่องของการพัฒนา ในอิตาลี มันเป็นเรื่องของชัยชนะมากกว่า บางครั้งโค้ชก็ใช้นักเตะเพื่อตัวเอง มองหาผลลัพธ์ ไม่ใช่วิธีพัฒนานักเตะ”

“ตอนที่ผมทำงานในอังกฤษ เจ้าหน้าที่จะไปเยี่ยม ถ้าวิธีการโค้ชของผมคือการตะโกนและตำหนิ เขาจะหยุดผม สหพันธ์ในอิตาลีไม่ได้มาเยี่ยมสโมสรต่างๆ ดังนั้น อคาเดมี่จึงทำทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ และโค้ชเหล่านั้นก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีใบอนุญาต”

 

การจำกัดโอกาสพวกหน้าใหม่

หลายคนอาจไม่เชื่อข้อเสนอแนะที่บ่งบอกว่าดินแดนเลี่ยนมีปัญหาการฝึกสอน และยิ่งลังเลที่จะยอมรับว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้จากอังกฤษได้ จากความสำเร็จของมันชินี่ในยูโร 2020, คาร์โล อันเชล็อตติเพิ่งคว้าแชมป์ลีกและแชมเปี้ยนส์ลีกกับ เรอัล มาดริด หรือ มีกุนซือระดับหัวกะทิอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ด้วย

โคแวร์ชาโน่ คือแหล่งกำเนิดของงานการโค้ชชิ่งของชาวอิตาเลี่ยน ยังคงได้รับความเคารพและเชิดชูอยู่ วิทยานิพนธ์ของโค้ชที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกบางคนได้รับการบันทึกไว้ที่นั่น แต่นอกเหนือจากชื่อซูเปอร์สตาร์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมการควบคุมบางอย่างที่ขัดขวางเหล่าผู้ที่มีความสามารถ และ เซน่า ก็คือตัวอย่างที่ชัดเจน

“เมื่อผมอายุ 10 ขวบ เป้าหมายของผมคือการเป็นโค้ชฟุตบอล” ชายผู้เกิดในซิซิลี่ กล่าว โดยเขาย้ายมา มิลาน เพื่อศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และทำงานในศูนย์มูลนิธิอคาเดมี่ของอินเตอร์ จากนั้นเขาก็ได้รับทุนการศึกษาให้เป็นโค้ชที่ เดเบรเซน ในฮังการี

จากนั้นก็เดินทางไปออสเตรเลีย พร้อมจบหลักสูตร ยูฟ่า ไลเซนส์ บี ในวัย 23 ปี พร้อมทำงานให้กับ ทีมเยาวชนของ ยูเวนตุส ในจีน และ รัสเซีย อีกทั้งยังได้งานโค้ชกับ เยโอวิล ทาวน์ และ คิเอโว่ ด้วย โดยในเวลาต่อมาก็คว้า ยูฟ่า ไลเซนส์ เอ ที่ มอนเตเนโกร ขณะที่ฝึกสอนทีมชายและหญิงที่นั่น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เพราะความต้องการท่องเที่ยวทำให้เขาย้ายไปต่างประเทศเช่นกัน

“ผมต้องเรียนภาษามอนเตเนโกรเพื่อเรียนที่นั่นเพราะหลักสูตรเป็นภาษานั้นทั้งหมด ผมใช้เวลา 18 เดือน ผมเข้าเรียนตอนอายุ 27 และจบในวัย 29 ปี มันเป็นเรื่องยากมาก แต่ผมรู้ว่าถ้าผมไปที่นั่น ผมจะได้รับโอกาส มันเป็นไปไม่ได้เลยในอิตาลี” เซน่า กล่าวต่อ

“ในอังกฤษ ถ้าคุณอยากเรียนใบอนุญาตของยูฟ่า ก็มีโอกาส ในอิตาลี ถ้าคุณเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คุณก็มีโอกาสสูง แต่ถ้าคุณยังไม่เคยเป็นนักเตะอาชีพ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เป็นปัญหาในอิตาลี และเป็นเฉพาะที่นี่เท่านั้น”

เป็นเรื่องน่าตลกไม่น้อย เมื่อโค้ชแดนมักกะโรนีที่โด่งดังที่สุดของพวกเขาอย่าง อาร์ริโก้ ซาคคี่ ผู้พา เอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัย เคยเป็นช่างทำรองเท้ามาก่อน และประโยคในตำนานที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะเป็นจ็อกกี้ได้ คุณต้องเป็นม้าก่อน” 

 

กรณีพิเศษ

ซาคคี่ ระบุถึงปัญหาการฝึกสอนมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อนแล้ว ในประเทศนี้ พวกเขายังไม่มีการให้ลงทะเบียนใดๆแบบเปิดกว้าง แม้กุนซือตำนานของ ‘รอสโซเนรี่’ เคยหวังให้ทุกคนไล่ตั้งแต่ เภสัชกรไปจนถึงพนักงานยกกระเป๋า หรือใครก็ตาม สามารถเป็นผู้จัดการทีมได้ แต่ โคแวร์ชาโน่ ก็ยังเป็นสิทธิพิเศษต่อไป

ระบบคะแนนที่ใช้ในการตัดสินว่าใครได้ตำแหน่งในหลักสูตรนั้นมีน้ำหนักมากสำหรับผู้เล่นมืออาชีพในอดีต ซึ่งทำให้ผู้ที่เริ่มต้นใหม่จากศูนย์รู้สึกอึดอัดใจอย่างมาก และซาคคี่ เองได้รับการยอมรับหลังต้องใช้เวลาในทีม เซเซน่า ถึง 5 ปี กว่าจะได้ร่ำเรียนวิชาแบบจริงจังที่ โคแวร์ชาโน่

“มันยากมากที่จะลงเรียน คะแนนที่คุณรวบรวมเพื่อเข้าสู่หลักสูตรนั้นเอื้อต่อผู้เล่นเก่ามืออาชีพ และผมหมายถึงหลักสูตรใดก็ได้ มันคือการรักษาคนเดิมไว้ในโลกนี้ คุณจะไม่เป็นที่ต้องการคุณ ถ้าคุณไม่เคยผ่านการเล่นแบบมืออาชีพมาก่อน” เซน่า กล่าวเพิ่มเติม

บางคนจะชี้ไปที่ตัวอย่างของเมาริซิโอ ซาร์รี่ อดีตนายธนาคารที่คว้าแชมป์เซเรีย อากับยูเวนตุส เขาเป็นข้อยกเว้นที่พิสูจน์กฎนี้ แต่ความสำเร็จใน สเตีย, คาฟริเกีย, อันเตลล่า, ซานโซวิโน่ และ ซานโจวานเนเซ่ ทำให้เขาได้รับโอกาสต่างหาก

“ซาร์รี่ได้รับอนุญาตให้ลงเรียนได้ เพราะเขาคว้าแชมป์ลีกระดับประเทศได้ (กับ ซานโซวิโน่ ในเซเรียดี) การทำเช่นนี้ทำให้เขาผ่านไปคว้ายูฟ่า โปร ไลเซนซ์ เอ และคุมทีมในดิวิชั่นถัดไป ถ้าคุณทำแบบนั้นไม่ได้ ก็เป็นไปไม่ได้เลย และจะมีโค้ชกี่คนกันที่สามารถทำได้แบบนั้น?” โค้ชหนุ่มชาวอิตาเลี่ยน กล่าวเสริม

 

ฉุดรั้งทั้งโค้ชหน้าใหม่และแข้งดาวรุ่ง

คงมีหลายคนที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อดีตผู้เล่นชั้นยอดอย่าง อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ และ ดานิเอล่ เด รอสซี่ จะได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มโค้ชชาวอิตาเลี่ยน กลุ่มล่าสุดที่ได้รับเลือกให้เข้าสู่หลักสูตรคว้าใบอนุญาตจาก ยูฟ่า ที่ โคแวร์ชาโน่

ขณะที่หลายๆคนก็มองว่า ต่อให้เป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดก็มีไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นโค้ชที่ดีที่สุดในอนาคต แต่ เซน่า กลับมองมุมกลับว่า “โค้ชที่ดีกว่าจะทำให้นักเตะดีขึ้น”

“ในอิตาลี ไม่มีกระบวนการสรรหาที่มีประสิทธิภาพในการหาโค้ชเหล่านี้ ถ้าคุณรู้จักผู้อำนวยการอคาเดมี่ คุณก็จะได้งาน ถ้าคุณไม่รู้จักเขา คุณก็จะไม่ได้งาน ผมไม่เคยเห็นการประกาศรับสมัครงานจากภายในอคาเดมี่สำหรับสโมสรชั้นนำที่ไหนเลย”

ทางมีเสมอสำหรับผู้ที่ตามหาสิ่งนั้น ซึ่ง เซน่า เพิ่งเสร็จสิ้นการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมช่วงสั้นๆกับ อัล ไฟซาลี่ สโมสรในลีกสูงสุดของ ซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงงานช่วงนั้นว่า “ผมไม่สามารถเล่นว่าผมจะทำงานที่ไหนได้ ไม่มีโอกาสเลย(ในบ้านเกิด) ผมเป็นชาวอิตาเลี่ยน แต่ตอนนี้เป็นโค้ชของมอนเตเนโกร ผมอยู่ในสหพันธ์นั้น”

สิ่งนี้ดูน่าเห็นใจและเป็นปัญหา ในขณะที่ดินแดนรองเท้าบู้ตยังคงผลิตโค้ชชื่อดัง ความกลัวก็คือภายใต้เรื่องราวดังกล่าว ข้อจำกัดบังคับเหล่านี้ไม่อนุญาตให้มีโค้ชที่มีคุณสมบัติความสามารถหลากหลายด้านไม่สามารถพัฒนาตัวเอง หรือแข้งพรสวรรค์รุ่นเยาว์ได้เลย

และด้วยสิ่งเหล่านี้เอง อาจส่งผลให้ฟุตบอลอิตาลีอาจไม่ดีที่สุดอย่างที่ควรจะเป็นหรือที่พวกเขาสามารถจะเป็นได้เสียที

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

หลากเหตุผล : ทำไมสเตอร์ลิ่งเลือกลงเรือเพื่อขึ้นหลังสิงห์
หลากเหตุผล : ทำไมสเตอร์ลิ่งเลือกลงเรือเพื่อขึ้นหลังสิงห์