ทิศทางที่เปลี่ยนไป : สมดุลความเป็นแม่ของแข้งหญิงในปัจจุบัน

ทิศทางที่เปลี่ยนไป : สมดุลความเป็นแม่ของแข้งหญิงในปัจจุบัน

ศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2022 ได้เสร็จสิ้นไปนานร่วม 1 เดือนแล้ว โดยแชมป์ในครั้งนี้ก็คือ อังกฤษ เจ้าภาพที่เอาชนะ เยอรมัน 2-1 คว้าแชมป์รายการนี้มาครองเป็นครั้งแรก

แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้หรือสังเกตุเลย นอกเหนือจากเป็นทัวร์นาเม้นต์ยูโรหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดมาแล้ว นี่ยังรายการที่แข้งหญิงผู้มีบทบาทดูแลครอบครัว เข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในยูโรด้วย

ทีมชาติไอซ์แลนด์มีแข้งหญิงที่เป็นแม่คนแล้ว 5 คนในทีม ประกอบไปด้วย, ซาร่า บียอร์ก กุนนาร์สดอตติร์, ดักนี่ บรินยาร์ดอตติร์, ซิฟ อัตลาดอตติร์, ซานดร้า ซิกูร์อาร์ดอตติร์ และ เอลิซ่า วิอาร์สดอตติร์

ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆที่มีลูกแล้วในทัวร์นาเม้นต์ ก็มีทั้ง เลนี่ ออนเซีย จาก เบลเยี่ยม, เชริด้า สปิตเซ่ และ สเตฟานี่ ฟาน เดอ กร๊าก จาก ฮอลแลนด์, เดมี่ สโต๊คส์ จาก อังกฤษ, ลิน่า เฮอร์ติก, เฮดวิก ลินดาห์ล กับ เอลิน รูเบนส์สัน จาก สวีเดน, และ อัลมุธ ชูลต์ จาก เยอรมัน

เปอร์เซ็นต์ของนักเตะที่เป็นแม้ในยูโร 2022 อาจค่อนข้างน้อย แต่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปต่อนักฟุตบอลหญิงที่ต้องการสร้างครอบครัวเช่นกัน…

 

ความเป็นแม่ในฟุตบอลหญิง

ย้อนกลับไปในปี 2019 กองหน้าของ เรซซิ่ง หลุยส์วิลล์ เอฟซี เจสซิก้า แม็คโดนัลด์ เป็นส่วนหนึ่งในทีมชาติสหรัฐอเมริกาหญิง ชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ทั้งโลกได้เห็นลูกชายวัย 7 ขวบของเธอร่วมเฉลิมฉลองและถ้วยรูปร่วมกับโทรฟี่

ดูเหมือนว่าเจเรเมียห์ ลูกชายของแมคโดนัลด์ เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับในอาชีพนักฟุตบอลของเธอ แต่นี่ไม่ใช่กรณีนั้นเสมอไป เพราะหลังจากที่เธอให้กำเนิดลูกชายในปี 2012 แม็คโดนัลด์พบว่าเธอมักถูกตัดสินจากการเป็นแม่คนบ่อยๆ

“ฉันมีโค้ชหลายคนที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่ ซึ่งนั่นทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นไปสำหรับฉันอีก จึงมีบางครั้งที่ฉันทำไม่ดีในการซ้อมหรือเกมที่แย่เหมือนกับที่ผู้เล่นทั่วไปจะมี และบางครั้งฉันก็รู้สึกว่าลูกของฉันเป็นสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว” เธอ กล่าวกับ BBC Sport

“มันทำให้ฉันเจ็บปวดมากๆ ลูกชายของฉันเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันออกไปเล่น”

ผู้รักษาประตูทีมชาติไอซ์แลนด์อย่าง กุ๊ดบียอร์ก กุนนาร์ส์ดอตติร์ ก็ตระหนักดีถึงทัศนคติดังกล่าวเช่นกัน เมื่อเธอตัดสินใจที่จะเริ่มต้นสร้างครอบครัวของตัวเอง

เธอไม่คิดเรื่องนี้จนกระทั่งอายุ 30 ปี เพื่อกันไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่ออาชีพของเธอ และจากนั้นเธอก็มีลูกด้วการทำ IVF หรือ เด็กหลอดแก้ว โดยเก็บเป็นความลับจากโค้ชและเพื่อนร่วมทีมของเธอนาน 3 ปี

กุ๊ดบียอร์ก ถึงกับต้องแกล้งทำเป็นบาดเจ็บเพื่อปกปิดผลกระทบทางกายภาพที่เกิดขึ้นกับเธอ ก่อนที่จะรีบกลับไปเล่นฟุตบอลหลังจากที่คลอดลูกแฝดในเวลาต่อมา

“ฉันรู้สึกว่าสโมสรคิดว่าคุณไม่ได้โฟกัสที่เรื่องฟุตบอลเป็นอันดับหนึ่งแน่ๆเลย” เธอ กล่าวกับ BBC World Service Sport

“แน่นอนว่าฟุตบอลเป็นอันดับ 2 และผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลย เพราะถ้าคุณมองไปที่ฟุตบอลชาย มันกลายเป็นเรื่องดี ถ้านักเตะชายมีลูก เพราะนั่นทำให้คนอื่นมองเขาว่าเป็นเฟมิลี่แมน”

“นั่นเป็นเรื่องแย่สำหรับผู้หญิง เพราะคุณจะไม่ได้ลงเล่น และจากนั้นคุณก็ต้องดูแลลูกๆ คุณน้ำหนักขึ้น พวกเขาไม่รู้ถึงรูปร่างของคุณว่าเป็นยังไง ถ้าคุณกลับมาในทีมเร็วมากก็ถูกตั้งแง่ใส่อีกว่า ‘คุณเป็นแม่ที่ดีหรือเปล่า?’ ”

อันที่จริงในปี 2017 สหภาพนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติอย่าง FIFPRO พบว่าผู้เล่นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีลูกขณะค้าแข้ง โดยผู้หญิงจำนวนมากเลิกเล่นฟุตบอลเนื่องจากขาดนโยบายการคลอดบุตรเพื่อสนับสนุนพวกเขา

 

ทัศนคติที่ค่อยๆเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี ทัศนคติต่อเรื่องดังกล่าวในฟุตบอลหญิงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และนโยบายการคลอดบุตรถูกนำเข้ามาใช้ในเกมกีฬาชนิดนี้

ฟีฟ่าได้ใช้กฎเกณฑ์ใหม่สำหรับการลาเพื่อคลอดบุตรในปีที่แล้ว โดยขณะนี้ผู้เล่นมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองการคลอดบุตรอย่างน้อย 14 สัปดาห์ ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 2 ใน 3 ของเงินเดือน

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่าผู้เล่นหญิงในลีกอังกฤษ ทั้ง วูเมน ซูเปอร์ ลีก และ แชมเปี้ยนส์ชิพ จะได้รับเงินเต็มจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างในช่วง 14 สัปดาห์แรกของการลาคลอด และสโมสรยังมีพันธะต้องช่วยฟื้นฟูผู้เล่น และให้การสนับสนุนทางการแพทย์ที่เพียงพอด้วย

โจดี้ เทย์เลอร์ ดาวเตะหญิงชาวอังกฤษ ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้เล่นระดับโลกของ FIFPRO เคยอธิบายไว้ชัดเจนว่าเหตุใดการเพิ่มนโยบายการคลอดบุตรจึงมีความสำคัญมาก

“นี่เป็นการเพิ่มผลกระทบและความหมายต่อกีฬาของเรา” เธอกล่าว

“นักฟุตบอลหญิงต้องการกฎประเภทนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถดำเนินอาชีพต่อไปได้โดยมั่นใจว่ามีรายได้ที่เหมาะสมหากเราตัดสินใจที่จะมีลูก ซึ่งทั้งสร้างความมั่นใจสำหรับเราในฐานะผู้เล่นและสะท้อนถึงสิ่งที่เกมอาชีพต้องการเพื่อเติบโตต่อไป”

“หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่ก้าวหน้าและครอบคลุมมากขึ้นสำหรับผู้เล่นหญิง”

 

ทิศทางในอนาคต

ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับนักเตะหญิงที่มีลูกแล้วได้เล่นในการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ? สหพันธ์แห่งชาติแต่ละแห่งที่เข้าร่วมในยูโร 2022 ได้ดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันไป

สำหรับแข้งใหญ่ 5 รายในทีมชาติไอซ์แลนด์ที่กล่าวไปข้างต้น พวกเธอสามารถดูแลลูกในแคมป์ฝึกซ้อมได้ หากลูกมีอายุไม่ครบปี โดยสมาคมฟุตบอลของไอซ์แลนด์บอกกับ BBC Sport ว่าไม่มีกฎครอบคลุมเรื่องนั้นและพวกเขาพยายามที่จะช่วยเหลือพวกเธอเป็นรายบุคคลเพื่อให้สบายใจกับการเก็บตัวฝึกซ้อม

ทั้ง ออนเซีย, สปิตเซ่, ฟาน เดอร์ กร๊าก และ สโต๊คส์ จะสามารถพบเจอลูกๆ ของพวกเธอได้ในวันครอบครัว ในขณะที่ เฮอร์ติก, ลินดาห์ล และ รูเบนส์สัน สามารถเจอลูกๆ ของพวกเธอได้ในเวลาว่าง หลังจากที่สมาคมฟุตบอลสวีเดนเสนอโอกาสให้ญาติๆ เดินทางไป การแข่งขันด้วยกัน

  บรินยาร์ดอตติร์ ผู้มีลูกชายวัย 4 ขวบ ทราบดีว่าเธอจะอยู่ห่างจากลูกไปพักใหญ่ เนื่องจากไอซ์แลนด์เดินทางไปเยอรมนีและโปแลนด์เพื่อเข้าแคมป์ก่อนการแข่งขัน

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็หวังว่าสถานการณ์สำหรับนักเตะหญิงที่ต้องการมีลูก มีครอบครัวในวงการฟุตบอลจะดีขึ้นไปอีก ทำให้พวกเขามีทางเลือกมากขึ้นในการได้ดูแลลูกในแคมป์

“หวังว่าเราจะสามารถทำสัญญาที่ดีขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะเหมาะกับเหล่าคุณแม่มากขึ้น ฉันรู้ว่าบางคนชอบเวลาที่พวกเขาไปแคมป์ฝึกซ้อมเพื่อใช้เวลาเป็นของตัวเอง” เธอกล่าว

“แต่ฉันอยากจะพาเขาไปด้วยและฉันรู้สึกว่ามันควรจะขึ้นอยู่กับฉัน มันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นในขณะที่ฉันยังเล่นอยู่ แต่หวังว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นมันจะง่ายขึ้นสำหรับคนอื่นๆที่จะมาที่นี่ในภายหลัง”

การเป็นตัวแทนของเหล่ามารดาในยูโร 2022 แสดงให้เห็นว่าพวกเธอสามารถเล่นฟุตบอลในระดับสูงและสร้างครอบครัวได้พร้อมๆกัน คอยส่งเสริมให้ผู้เล่นคนอื่นๆ ปฏิบัติตามและผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลให้ปรับปรุงนโยบายการคลอดบุตรของพวกเธอ 

และนี่คือทัวร์นาเม้นต์ที่เปลี่ยนโฉมของฟุตบอลหญิง ทั้งเรื่องในสนามและนอกสนามอย่างแท้จริง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เอื้อทีมใหญ่?: เปลี่ยนตัว 5 คนส่งผลต่อทีมพรีเมียร์ลีกอย่างไร
เอื้อทีมใหญ่?: เปลี่ยนตัว 5 คนส่งผลต่อทีมพรีเมียร์ลีกอย่างไร