หายวับไปกับตา : 8 สโมสรถูกยุบในวงการลูกหนัง

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไม่มีข่าวไหนในประเทศไทยเป็นที่พูดถึงไปมากกว่า เรื่องที่พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญลงมติให้ยุบพรรค

 

อีกทั้งมีการสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค 16 คนเป็นเวลา 10 ปี ทำให้พรรคสีส้มต้องปิดฉากลงด้วยอายุทางการเมืองเพียง 1 ปี 4 เดือน นับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรองสถานะความพรรคการเมืองเมื่อ 2 ปีก่อน

 

เมื่อกลับมามองย้อนไปเรื่องฟุตบอล ก็สโมสรไม่น้อยที่โดนยุบทีมหายไปจากวงการ ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาทางการเงิน, ถูกโยกไปรวมกับทีมอื่น หรือถูกฟ้องล้มละลายจนเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นๆ     

 

และนี่คือ 8 สโมสรในวงการลูกหนังที่ประสบชะตากรรมคล้ายๆกับพรรคอนาคตใหม่ 

 

 

วิมเบิลดัน

 

 

ทีมสุดแนวในเกาะอังกฤษช่วงปลายทศวรรษ 80 และลากยาวมาจนถึงยุคมิลเลนเนียม และสร้างชื่อเป็นอย่างมากที่ลีลาการเล่นแบบดิบเถื่อน ดุดัน จนเป็นสีสันของลีกสูงสุดแดนผู้ดีในยุคนั้น พร้อมกับคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1988 เหนือ ลิเวอร์พูล ตัวเต็งของรายการได้อย่างเหลือเชื่อ

 

ดาวดังในยุคนั้นมีทั้ง จอห์น ฟาชานู, ลอรี่ ซานเชซ หรือ ดาวเด่นอย่าง วินนี่ โจนส์ กองกลางจอมตุกติกที่ผันตัวไปเป็นนักแสดงและเล่นภาพยนตร์คู่กับดาราดังหลายเรื่องในปัจจุบัน

 

แต่จุดจบของงทีมก็มาถึง หลังจากตกชั่นในปี 2000 บอร์ดบริหารได้พาสโมสรย้ายไปตั้งรกรากใหม่ที่ มิลตัน คีน และใช้ชื่อใหม่ว่า เอ็มเค ดอนส์ ในอีก 2 ปี ต่อมา และลงเล่นเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2004-05  

 

ส่วนเหล่าแฟนบอลที่ถูกเมินก็หันไปตั้งสโมสรของพวกเขาขึ้นมาในชื่อ เอเอฟซี วิมเบิลดัน ตั้งแต่ปี 2002 และไต่เต้ามาจนอยู่ใน ลีก วัน ร่วมกับ เอ็มเค ดอนส์ ในฤดูกาลล่าสุด

 

 

ต้าเหลียน ฉีเต๋อ

 

 

การได้มหาเศรษฐีเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรถือเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แต่ว่าไม่ใช่กับทีมจากประเทศจีนที่ชื่อว่า ต้าเหลียน ฉีเต๋อ ที่ปัจจุบันได้หายไปจากสารบบลูกหนังของแดนมังกรเรียบร้อย

 

พวกเขามีดีกรีแชมป์ลีก 4 สมัย ก่อนที่ ซูหมิ่ง มหาเศรษฐีผู้ไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเข้ามาซื้อและบริหารทีมในปี 2000 แต่ก็พาทีมคว้าแชมป์ลีกเพิ่มอีก 3 สมัย ร่วมถึงแชมป์ไชนีส คัพได้อีกสมัย

 

ทว่าหลังจากนั้น ซูหมิ่ง เริ่มลงทุนกับทีมน้อยลง และมอบเงินให้กับ ป๋อ ซีไหล เพื่อนที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองต้าเหลียนและผู้มีตำแหน่งใหญ่โตในพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทน แต่พวกเขาทั้งคู่ก็ถูกตั้งข้อหารับสินบน ในปี 2013 หลังมีการสืบสวนเรื่องภรรยาของ ป๋อ ที่ฆาตกรรมนักธุรกิจชาวอังกฤษก่อนหน้านี้

 

สโมสรพยายามจะร่วมกับ เอร์บิน กรุ๊ป ที่มีสโมสร ต้าเหลียน เอร์บิน เป็นของตัวเองอยู่ แต่ถูกสมาคมฟุตบอลของจีนปฏิเสธ ก่อนที่ เอร์บิน กรุ๊ป ซื้อกิจการของ ต้าเหลียน ฉีเต๋อ ต่อ และยุบทีมนี้ในเวลาต่อมา

 

ส่วนชะตากรรมของ ซูหมิ่ง อดีตเจ้าของทีมก็ไม่ต่างกัน เมื่อลาโลกนี้ด้วยโรคหัวใจในวัย 44 ปี ขณะจำคุกในปี 2015 

       

 

ลอสแอนเจลิส แอซเท็ก

 

 

นอร์ธ อเมริกัน ซ็อคเกอร์ ลีก ก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 18 ปี ก็ปิดตัว และหนึ่งในทีมที่แข่งขันในลีกนั้นอย่าง ลอสแอนเจลิส แอซเท็ก ก็มาเร็วไปเร็วไม่แพ้กัน

 

พวกเขาคว้าแชมป์ได้ตั้งปีแรกที่แข่งขันในลีกปี 1974 แถมดึงดาวดังระดับโลกมาร่วมทีมมากมาย เช่น โยฮัน ครัฟฟ์, จอร์จ เบสต์ หรือมี ไรนุส มิเชล กุนซือมือฉมังชาวดัตช์กุมบังเหียนทีมให้ อีกทั้งยังมี เอลตัน จอห์น ศิลปินชื่อก้องเป็นเจ้าของทีมร่วมอีก

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาด้านการเงินที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สโมสรถูกฟ้องล้มละลายและต้องยุบทีมไป ปิดฉากเส้นทางสโมสรลูกหนังเพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น

 

 

ดุ๊คลา ปราก

 

 

ณ สมัยที่ เช็คโกสโลวาเกีย ยังไม่แตกแยกเป็นประเทศ ดุ๊คลา ปราก เป็นสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นของประเทศ ด้วยการคว้าแชมป์ลีก 11 ครั้ง และ แชมป์ เช็คโกสโลวัก คัพ 8 สมัย แถมเป็นทีมแรกที่คว้าดับเบิ้ลแชมป์ในประเทศด้วย

 

สโมสรจากเมืองปราก เคยประกาศศักดาในบอลยุโรป ด้วยการทะลุถึงรอบตัดเชือกใน ยูโรเปี้ยน คัพ ฤดูกาล 1966-67 และมีนักเตะทีมชาติเช็คโกสโลวาเกียชุดเข้าชิงฟุตบอลโลกปี 1962 อยู่ในทีมถึง 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เจโซฟ มาโซพุสต์ ที่เคยคว้าบัลลงดอร์ในปีเดียวกัน

 

ทว่าหลังจากที่มีการแยกประเทศในปี 1993 ทำให้เขาหล่นตกชั้นจากลีกดิวิชั่นหนึ่งของเช็กเป็นครั้งแรก และร่วงไปไกลถึงลีกระดับ 3 ของประเทศ ก่อนจะหันไปร่วมทีมกับ พอร์ทัล ไพรบราม เป็น เอฟเค ไพรบราม ปี 1996

 

 

เคเอสวี วาเรเกม

 

 

หนึ่งในสโมสรเก่าแก่ของเบลเยี่ยม ที่โลดแล่นอยู่บนลีกสูงสุดของแดนช็อกโกแล็ตมานานหลายปี นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1925 แม้พวกเขาจะไม่เคยคว้าแชมป์ลีกได้เลย แต่ก็เคยคว้าแชมป์บอลถ้วยได้ในปี 1974

 

จนกระทั่งในปี 1999 วาราเกม ต้องหล่นไปอยู่ลีกระดับ 3 ของประเทศ และด้วยปัญหาด้านการเงินส่งผลให้พวกเขาต้องยุบทีมในอีก 2 ปีต่อมา และก่อนตั้งทีมใหม่ขึ้นมาอีกครั้งในชื่อ ซูลเต้ วาเรเกม ในปี 2001 

 

 

เอฟซี อัมสเตอร์ดัม

 

 

อดีตทีมคู่แข่งร่วมเมืองของ อาแจ็กซ์ อย่าง เอฟซี อัมสเตอร์ดัม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จมากมายเท่า แต่ครั้งหนึ่ง พวกเขาก็เคยล้มทีมใหญ่ในอิตาลี อินเตอร์ มิลาน จนทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกยูฟ่า คัพ ในฤดูกาล 1974-75 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พวกเขาหล่นไปเล่นใน เอียสเตอร์ ดิวิซี่ ลีกรองของฮอลแลนด์ในปี 1978 ผู้คนเริ่มให้ความสนใจพวกเขาน้อยลง จนต้องย้ายออก โอลิมปิก สเตเดี้ยม รังเหย้าของทีมในปี 1980 และทำการยุบทีมในอีก 2 ปีต่อมา

 

 

อามิก้า วรองกี้

 

 

ทีมจากโปแลนด์ที่ก่อตั้งในปี 1992 และประสบความสำเร็จพอสมควรสำหรับทีมหน้าใหม่ ทั้งคว้าแชมป์ โปลิช คัพ 3 สมัย (1998, 1999, 2000) และโปลิช ซุปเปอร์ คัพ 2 สมัย (1998,1999)

 

แถมในช่วงหลังปี 2000 อามิก้า วรองกี้ เคยได้ไปโชว์ฝีเท้าในฟุตบอลยุโรถ้วยเล็กอย่าง ยูฟ่า คัพ ด้วย แม้จะเข้าไปไกลสุดแค่รอบแบ่งกลุ่มในฤดูกาล 2004-05 ก็ตาม

 

จากนั้นในปี 2006 ทีมชุดใหญ่ก็ย้ายไปรวมทีมกับ เลช พอซนาน ทำให้ทีมชุดสำรองถูกเลื่อนเป็นทีมชุดใหญ่แทน แต่ก็เล่นไปเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้นก็ประกาศยุบทีมในปี 2007

 

 

อาร์มี่ ยูไนเต็ด

 

 

สุภาพบุรุษวงจักร เป็นสโมสรที่โลดแล่นอยู่ในวงการฟุตบอลไทยมานานกว่า 103 ปี ซึ่งก่อตั้งขึ้นในชื่อเดิมว่า สโมสรกีฬากองทัพบก ในปี พ.ศ.2459 และมีนักฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นกำลังพลในกองทัพในระยะแรกของทีม

 

พวกเขาเคยคว้าแชมป์รายการสำคัญๆได้ทั้ง  ถ้วยพระราชทาน ก ในปี 2526 และเคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ฟุตบอลควีนส์คัพ ในปี 2540, และรองชนะเลิศ ไทยคม เอฟเอคัพ ปี 2555

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ สั่งยุบทีมอาร์มี่ ยูไนเต็ด และไม่ลงแข่งขันรายการใดๆอีกต่อไป นับตั้งแต่ฤดูกาล 2020 โดยให้เหตุผลว่า ทีมขาดขุนมากเกินไป และไม่อยากรบกวนผู้สนับสนุน