อุดมการณ์ชัดเจน : 5 คนลูกหนังที่แสดงออกทางการเมืองทั้งในและนอกสนาม

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่หมดไป กระแสการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ จอร์จ ฟลอยด์ กลับมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก

 

เหตุทั้งหมดเริ่มต้นจาก ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 46 ปีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยใช้เข่ากดคอจนหายใจไม่ออกและเสียชีวิต กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ชาวอเมริกัน ออกมาลุกฮือต่อต้านการเหยียดผิวอีกครั้ง และนำมาสู่การจลาจลตลอดสัปดาห์ 

 

อีกทั้งบุคคลในวงการกีฬามากมายออกมาแสดงความเห็นและยืนหยัดเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวเช่น เวสตัน แม็คเคนนี กองกลางดาวรุ่งของ ชาลเก้ รวมไปถึง จาดอน ซานโช ปีกตัวเก่งของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, มาร์คัส ตูราม กองหน้าหนุ่มทีมโบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ที่เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่จอร์จ ฟลอยด์ ในเกมบุนเดสลีกาสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

แม้ยังไม่ทราบถึงบทสรุปของเรื่องนี้ แต่การแสดงออกทางการเมืองของบรรดาคนดังในวงการฟุตบอลก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือไม่เคยเกิดขึ้นในการแข่งขันเลย มากไปกว่านั้นบางคนยังแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองแบบแน่วแน่และชัดเจน โดยไม่สนว่าแฟนบอลหรือคนรอบข้างจะคิดกับเขาอย่างไร

 

และนี่คือ 5 นักเตะหรือผู้คนในวงการลูกหนังที่แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในสนามแข่งขัน หรือนอกสนามผ่านสื่อดังต่างๆ

 

 

เป็ป กวาร์ดิโอล่า

 

 

ความมุ่งมั่นของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในความคิดที่ต้องการให้ แคว้นกาตาลุนย่า เป็นรัฐอิสระแยกจากประเทศสเปน ที่เรื่องที่เขาออกมาแสดงความคิดเห็นต่อหน้าสื่ออยู่บ่อยอยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งตอนที่คุมบาร์เซโลน่าทีมบ้านเกิด หรือ คุมทีมต่างแดนอย่าง บาเยิร์น มิวนิค หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ตาม

 

กุนซือเรือใบสีฟ้า เคยเผยเหตุผลเรื่องนี้ในการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ มอนจูอิค เมื่อปี 2017 ว่า  “เราพยายามมา 18 ครั้งเพื่อบรรลุขอตกลงในการลงประชามติ แต่คำตอบก็เป็นการปฏิเสธเสมอ”

 

“เราไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจาการโหวต เราจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติให้การสนับสนุนพวกเรา ให้ผู้นิยมในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกช่วยปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามในกาตาโลเนีย เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และมีสิทธิมีเสียงในการโหวต”

 

บ่อยครั้งที่ กวาร์ดิโอล่า ส่งเสียงสนับสนุนนักการเมืองในบ้านเกิดที่ถูกคุมขัง พร้อมกับติดโบสีเหลือง เพื่อสนับสนุนการแยกตัวของแคว้นบ้านเกิดด้วย

 

 

โซคราเตส

 

 

ยอดนักเตะตำนานชาวบราซิลที่ไม่ได้มีดีแค่ฝีเท้า เพราะความคิดของ โซคราเตส นั้นล้ำหน้ากว่านักเตะในยุคเดียวกันเป็นไหนๆ

 

ในช่วงที่บราซิลยังปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ระหว่างปี 1964-1985 โซคราเตส พยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยให้กลับมาสู่ประชาชนชาวแซมบ้าอีกครั้ง โดยร่วมมือกับเพื่อนและประธานสโมสรโครินเธียนส์ เพื่อก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อว่า ประชาธิปไตยโครินเธียนส์ จนสามารถเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้สำเร็จ

 

“ฟุตบอลเข้ามาด้วยความบังเอิญ ผมสนใจในเรื่องการเมืองมากกว่า ผมมีจุดหมายในการเปลี่ยนแปลงความอยุติธรรมของสังคมในประเทศเสมอ” แข้งฉายาคุณหมอยอดนักเตะ กล่าว

 

“ผมแค่ทำได้ดีในฟุตบอล ทำให้ผมเจอสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและได้รับสิทธิพิเศษ แต่ถ้าผู้คนไม่มีพลังในการพูดบางอย่างออกมา ผมจะเป็นคนพูดเพื่อพวกเขาเอง”

 

นอกจากเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางสังคม และทางการเมืองตัวยงแล้ว หลังแขวนสตั๊ด โซคราเตส ผันตัวไปทำอาชีพหมอ ร่วมถึงคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ และนิตยสารอีกหลายฉบับที่เขียนทั้งเรื่องวงการฟุตบอล ไปจนถึงวงการเศรษฐกิจ และการเมือง

 

 

ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ

 

 

ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ เป็นที่รู้กันว่าเขามีความสนใจและต้องการช่วยเหลือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในแถบละติน อเมริกา และ ซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติจากเม็กซิโก เป็นกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธที่ตำนานอินเตอร์ มิลาน มีความสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษ

 

นักเตะยุคใหม่มีเพียงหยิบมือที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกมาแบบชัดเจน เนื่องจากกลัวส่งผลกระทบต่ออาชีพ และอาจมีการต่อต้านจากแฟนบอล แต่ อดีตแข้งสารพัดประโยชน์ของงูใหญ่ กลับไม่มีความกลัวเช่นนั้นเลย แถมยังน้มน้าวให้ทางสโมสรนำเงินค่าปรับมอบให้กับ ขบวนการซาปาติสต้ามากถึง 5,000 ยูโร อีกต่างหาก

 

“เราเชื่อในโลกที่ดีกว่าเดิม โลกที่ไม่ตกอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีประเพณีของทุกผู้คน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงสนับสนุนให้พวกคุณต่อสู้เพื่อรักษารากเหง้าและอุดมการณ์เอาไว้” ซาเน็ตติ ลงนามในจดหมายถึงกลุ่มปฏิวัติในแดนจังโก้

 

ต่อมา ผู้นำกลุ่มกบฏได้ส่งจดหมายเชิญ อินเตอร์ มาแข่งขันเกมกระชับมิตรกับทีม ซาปาติสต้า XI แม้เกมการแข่งขันจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างทั้ง 2 ก็ยังน่าสนใจไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

ดีเอโก้ มาราโดน่า

 

 

ตลอดเวลาค้าแข้งและชีวิตสาธารณะทั่วไป ฟุตบอลและการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับ ดีเอโก้ มาราโดน่า เสมอ แถมยังสนับสนุน ฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติชื่อดังและไอดอลของคนฝ่ายซ้าย ผ่านสื่อบ่อยครั้ง และยังวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาแบบตรงไปตรงมาด้วย

 

เสือเตี้ย กล่าวถึง จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช อดีตประธานาธิบดีของ อเมริกา เมื่อครั้งที่เดินทางมา อาร์เจนติน่า ว่า “ผมคิดว่า บุช เป็นฆาตกร ผมจะได้เดินขวนต่อต้านเมื่อเขาก้าวเท้าเข้ามาในแผนดินอาร์เจนติน่า”

 

ไม่ใช่แค่นั้น เพราะครั้งหนึ่ง ตำนานแข้งแดนฟ้าขาวยังประกาศตัวว่าอยู่ฝั่งเดียวกับ ฮูโก้ ชาเวซ อดีตประธานาธิบดีของ เวเนซูเอล่า ที่เป็นศัตรูคู่อริของอเมริกาอีกด้วย

 

“ผมเชื่อใน ชาเวซ ผมเป็น ชาเวสต้า ทุกอย่างที่ ฟิเดล ทำ ทุกอย่างที่ ชาเวซ ทำ สำหรับผมแล้วมันคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด” 

 

 

เมซุต โอซิล

 

 

ไม่มีใครคิดว่าการถ่ายภาพร่วมกับ เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี ของ เมซุต โอซิล จะนำมาสู่การเลิกเล่นทีมเยอรมันในปี 2018

 

เพลย์เมกเกอร์อาร์เซน่อล ถูกหลายฝ่ายโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากมองว่าเขาช่วย แอร์โดอาน หาเสียง ซึ่งอยู่ในช่วงเลือกตั้งผู้นำแดนไกง่วง และโดนวิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ หลังพาทัพอินทรีเหล็กจอดตั้งแต่รอบแรกในฟุตบอลโลกที่รัสเซีย

 

ท้ายที่สุด เส้นทางของ โอซิล ในทีมเยอรมันก็สิ้นสุดลง เมื่อเขาประกาศเลิกเล่นทีมชาติ โดยให้เหตุผลการเหยียดเชื้อชาติและดูหมิ่นจากการที่เขามีรากเหง้ามาจากตุรกี 

 

“ผมเป็นคนเยอรมันตอนที่เราชนะ แต่เป็นผู้อพยพตอนที่เราแพ้” โอซิลกล่าวในโซเชียล มีเดียของตัวเอง

 

“นี่คือเรื่องน่าเศร้า และหลังจากไตร่ตรองอย่างหนักเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ผมจะไม่ลงเล่นฟุตบอลในระดับนานาชาติให้กับเยอรมนีอีกต่อไปในขณะที่ยังมีความรู้สึกถึงความเหยียดเชื้อชาติและการดูหมิ่น”

 

“ผมเคยใส่เสื้อทีมชาติเยอรมนีด้วยความภาคภูมิใจและตื่นเต้น แต่ตอนนี้ผมไม่รู้สึกเช่นนั้น ผมรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ และคิดว่าความสำเร็จที่ผมทำนับแต่ลงเล่นในระดับนานาชาติเมื่อปี 2009 ได้ถูกลืมเลือนไปแล้ว”

 

นอกจากนี้ในปีถัดมา โอซิล ยังกลายเป็นประเด็นใหญ่ในข่าวหน้าหนึ่งทั่วโลก หลังวิจารณ์นโยบายจีนที่ปฏิบัติกับ ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตำหนิแข้งเชื้อสายเติร์ก และมีการสั่งยกเลิกการถ่ายทอดสดคู่อาร์เซนอลกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ใน สถานีโทรทัศน์แดนมังกร อีกด้วย