เยอะจริงไม่ใช้ Photoshop : 10 สนามฟุตบอลที่มีความจุมากที่สุดในโลก

 

ในโลกนี้ยังมีสนามกีฬาชื่อดังมากมายที่แฟนบอลรู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แอนฟิลด์ ของ ลิเวอร์พูล หรือ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ของเรอัลมาดริด แม้ว่ารั้งเหย้าทีมเหล่านี้จะมีความจุมากมายระดับหมื่นๆที่นั่ง แต่ทว่าสนามเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ที่สุดของวงลูกหนังอยู่ดี

 

และนี่คือสนามกีฬาที่มีความจุมากที่สุดในโลก โดยที่คนในสโมสรไม่จำเป็นต้องตัดต่อหรือก็อปปี้ที่นั่งไปวางเพิ่มให้เสียภาพลักษณ์ เอ้ย เสียเวลาเลย

 

 

10.ซอล์ท เลก สเตเดี้ยม (อินเดีย)

 

bty

 

ความจุ : 85,000 ที่นั่ง

 

สนามกีฬาฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า วิวีกานานดา ยูบา ภาราติ คริรังกัน ก่อสร้างขึ้นในปี 1984 หรือ 35 ปีที่แล้ว แต่ในช่วงเริ่มแรกนั้น สนามแห่งนี้มีความจุแค่ 20,000 ที่นั่งเท่านั้น ก่อนจะทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2015 ให้มีความจุเท่าตอนนี้ด้วยเงินประมาณ 14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

นอกจากสนามแห่งนี้จะเป็นรังเหย้าของทีมชาติอินเดีย ยังมีสโมสรฟุตบอลในแดนภารตะใช้งานเป็นรังเหย้าเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น โมฮุน บากัน, อีสต์ เบงกอล, โมฮัมเหม็ดดาน และ เอทีเค แถมยังเคยถูกใช้งานในด้านงานคอนเสิร์ตและการแสดงดนตรีอีกด้วย

 

 

9.บอร์ก เอล อาหรับ สเตเดี้ยม (อิยิปต์)

 

 

ความจุ : 86,000 ที่นั่ง

 

สนามเอล บอร์ก อาหรับ หรือบางครั้งก็ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เอล เกอิช สเตเดี้ยม สร้างขึ้นในปี 2005 ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอเล็กซานเดรีย 25 กิโลเมตรในทิศตะวันตก ซึ่งแต่เดิมสนามนี้ก่อตั้งเพื่อการเป็นเจ้าภาพในฟุตบอลโลกปี 2010 แต่หลังจากที่พลาดโอกาสนั้นไป สมาคมฟุตบอลแดนมัมมี่ก็ทำให้สนามนี้กลายเป็นสนามกีฬาของทีมชาติเคียงคู่กับ สนามกีฬาแห่งชาติไคโร ซะเลย

 

สำหรับการใช้งานในฟุตบอลระดับสโมสรนั้น หลักๆจะมี ซมูฮา ทีมจากเมืองอเล็กซานเดรียที่ใช้เป็นรังเหย้าแทนสนามเดิมของพวกเขาตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่ทีมอย่าง อัล อาห์ลี, อัล อิตติฮัด, อัล มาซรี่ และ ซามาเล็ค ก็ใช้สนามนี้เป็นรังเหย้าในบางนัดเท่านั้น

 

 

8.สนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล (มาเลเซีย)

 

 

ความจุ : 87,411 ที่นั่ง

 

นี่คือสนามกีฬาฟุตบอลที่แฟนบอลชาวไทยน่าจะคุ้นหูคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี สนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล ที่เป็นรังเหย้าของทีมชาติมาเลเซียแต่เพียงผู้เดียวในประเทศ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1995 และจุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน คอมมอนเวลธ์เกมส์ ในปี 1998

 

สนามของทัพเสือเหลืองถือเป็นอีกสนามกีฬาที่มีความเพรียบพร้อมและครบครันในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในเอเชีย ทำให้สนามแห่งนี้ได้จัดการแข่งขันระดับทวีปมามากมายหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันซีเกมส์, การแข่งกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน, นัดชิงมาเลเซีย คัพ หรือ นัดชิงมาเลเซีย เอฟเอ คัพ ด้วย

 

 

7.เอสตาดิโอ้ อัซเตก้า (เม็กซิโก)

 

 

ความจุ : 87,523 ที่นั่ง

 

สนามเอสตาดิโอ้ อัซเตก้า ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งชื่อ อัซเตก้า นั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นยกย่องให้กับ อารยธรรมแอซเท็กในดินแดนเม็กซิโกที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 และเสร็จสิ้นในปี 1966 ซึ่งสนามแห่งนี้ได้จัดการแข่งขันระดับโลกมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โอลิมปิกในปี 1968, ฟุตบอลโลก 2 ครั้ง (1970, 1986), ฟีฟ่า คอนเฟดเดอร์เรชั่น คัพปี 1993 รวมจัดคอนเสิร์ตให้ศิลปินดังระดับท็อปในแต่ละยุคมาแล้ว ทั้งไมเคิล แจ็คสัน, ยูทู, เอลตัน จอห์น และ เลนนี่ คราวิซด้วย

 

สนามแห่งนี้นอกจากขึ้นชื่อเรื่องความสูงที่เหนือระดับน้ำทะเลปกติถึง 7,200 ฟุต และยังเหตุการณ์สำคัญในฟุตบอลโลกเกิดขึ้นที่สนามแห่งนี้ด้วย นั่นก็คือเหตุการณ์ หัตถ์พระเจ้า ของดีเอโก้ มาราโดน่า ในนัดที่พบกับอังกฤษนั่นเอง

 

 

6.สนาม นิว เวมบลีย์ (อังกฤษ)

 

 

ความจุ : 90,000 ที่นั่ง

 

หนึ่งในสนามที่มีความทันสมัยที่สุดในยุโรป จนสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือ ยูฟ่า ให้ความยอดเยี่ยมไปถึง 4 ดาวเลย โดยสนามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนที่เวมบลีย์เก่าในปี 2002 และเสร็จสิ้นพร้อมใช้งานในปี 2007 ซึ่งรังเหย้าของทีมชาติอังกฤษแห่งนี้คอบอลอังกฤษจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นรอบลึกๆในเอฟเอ คัพ,ลีกคัพ, เกมคอมมูนิตี้ ชิลด์, เกมเพลย์อ็อฟเลื่อนชั้น สโมสรทั้งหมดในแดนผู้ดีก็จะได้โชว์ฝีเท้าในสนามแห่งนี้

 

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าสนามแห่งนี้มีความทันสมัยมากๆ ทำให้ที่แห่งนี้สามารถจัดการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหาต่างๆมากวนใจ ทั้ง รักบี้, มวยสากล, กรีฑา หรือแม้กระทั่งอเมริกัน ฟุตบอล ก็ตาม

 

 

5.โรส โบวล์ สเตเดี้ยม (อเมริกา)

 

 

ความจุ : 90,888 ที่นั่ง

 

โรส โบวล์ สเตเดี้ยมตั้งอยู่ใน พาซาดีน่า, รัฐเคลิฟอร์เนีย ซึ่งสนามแห่งนี้เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 11 ในสหรัฐอเมริกา ก่อสร้างขึ้นในปี 1921 และความจุที่มากกว่า 90,000 ที่นั่งทำให้กีฬาส่วนใหญ่ที่จัดขึ้นในสนามแห่งนี้ก็คือ กีฬายอดนิยมในแดนลุงแซมอย่าง อเมริกัน ฟุตบอล มากกว่ากีฬาฟุตบอลเป็นไหนๆ

 

แต่ถึงกระนั้นสนามแห่งนี้ก็จัดทัวร์นาเม้นต์ลูกหนังระดับโลกมาแล้วหลายรายการ ทั้งนัดชิงฟุตบอลปี 1994, นัดชิงฟุตบอลหญิงในปี 1999, โอลิมปิกปี 1984 , เกมฟุตบอลระดับทวีป หรือเกมรอบคัดเลือกในฟุตบอลโลกด้วย อีกทั้งยังเคยเป็นรังเหย้าเก่าของ ลอส แองเจลิส กาแล็คซี่ตั้งแต่ปี 1996-2002 ด้วย

 

 

4.เอฟเอ็นบี สเตเดี้ยม (แอฟริกาใต้)

 

 

ความจุ : 90,888 ที่นั่ง

 

เอฟเอ็นบี สเตเดี้ยม มีชื่อเต็มๆว่า เฟิร์ส เนชั่นแนล แบงค์ สเตเดี้ยม ก่อสร้างขึ้นในปี 1986 ก่อนจะแล้วเสร็จในปี 1989 ตั้งอยู่ในนาสเรค เขตชานเมืองของกรุงโยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเป็นรังเหย้าของทีมฟุตบอลและรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ รวมไปถึง ไคเซอร์ เชฟ ยอดทีมในลีกสูงสุดของประเทศนี้

 

หลายคนรู้จักสนามแห่งนี้เนื่องจากนี่เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาและเคยจัดนัดชิงฟุตบอลโลกครั้งแรกในแดนกาฬทวีปในปี 2010 แต่ที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่ เนลสัน แมนเดล่า อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ ได้ออกมาพูดต่อหน้าสาธารณะชนครั้งแรกในปี 1990 หลังถูกจองจำในคุกอยู่นานกว่า 27 ปี

 

 

3.คัมป์ นู (สเปน)

 

 

ความจุ : 90,354 ที่นั่ง

 

ไม่มีสาวกอาซูลกราน่าคนไหนไม่รู้สนามแห่งนี้ เพราะนี่คือรั้งเหย้าของบาร์เซโลน่า ยอดสโมสรแห่งลาลีก้า สเปนที่สนามนี้มาตั้งแต่ปี 1957 และเป็นสนามกีฬาฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปด้วย ซึ่งที่นี่ได้จัดการแข่งขันระดับทวีปมากมายทั้ง นัดชิงยูโรเปี้ยน คัพ/ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 1989 และ 1999, นัดชิงยูฟ่า คัพอีก 2 ครั้ง, ยูฟ่า ซุปเปอร์ คัพ อีก 5 ครั้ง และ โกปา เดล เรย์อีก 4 ครั้ง

 

ในรายการระดับโลก คัมป์ นู แห่งนี้ก็ไม่น้อยสนามไหนเช่นกัน เพราะเคยจัดการแข่งฟุตบอลโลกในปี 1982 ถึง 5 นัด, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1964 และโอลิมปิกในปี 1992 ด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาบาร์ซ่าก็ประกาศแผนขยายศูนย์กีฬาสโมสร รวมถึงเพิ่มความจุสนามเป็น 105,000 ที่นั่งในอนาคตอันใกล้นี้

 

 

2.เมลเบิร์น คริกเก็ต กราวน์ (ออสเตรเลีย)

 

 

ความจุ : 100,024 ที่นั่ง

 

สนามกีฬาที่ชาวออสซี่เรียกกันสั้นๆว่า ‘เดอะ จี’ ตั้งอยู่ ยาร์รา ปาร์ค, เมลเบิร์น, วิคตอเรีย สร้างขึ้นในปี 1854 แม้สนามแห่งนี้จะใช้งานกับกีฬาคริกเก็ตระดับสโมสรหรือระดับประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีทีมฟุตบอลอยู่ 4 ทีมเลยที่ใช้สนามแห่งนี้เป็นรังเหย้า นั่นก็คือ เมลเบิร์น เอฟซี, ริชมอนด์ เอฟซี, คอลิ่งวู๊ด เอฟซี และ ฮอว์ธอร์น เอฟซี

 

ด้วยจุดประสงค์ของสนามที่สร้างเพื่อแข่งขันกีฬาคริกเก็ตเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ช่วงแรกสนามแห่งนี้แทบจะไม่มีการใช้งานเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลเลย ก่อนที่เริ่มหันมาใช้แบบจริงจังในช่วง 20 กว่าปีหลังที่ผ่านมา

 

 

1.สนามกีฬารึงนาโด 1 พฤษภาคม (เกาหลีเหนือ)

 

 

ความจุ : 114,000 ที่นั่ง

 

สนามกีฬารึงนาโด 1 พฤษภาคม หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ สนามเมย์เดย์ เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ในกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ สร้างแล้วเสร็จในปี 1989 โดชื่อสนาม “รึงนาโด” นั้นมีที่มาจากชื่อเกาะเล็กเกาะหนึ่งกลางแม่น้ำแทดง ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งของตัวสนาม ส่วน “1 พฤษภาคม” นั้นมาจากวันแรงงานสากลที่มีการเฉลิมฉลองเมย์เดย์ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี  และสนามแห่งนี้ได้ชื่อว่า เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ตอนนี้

 

วัตถุประสงค์เริ่มแรกในการสร้างสนามแห่งนี้นั้นเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬา การแสดง ขบวนพาเหรดและการเฉลิมฉลองให้แก่คิม อิล-ซ็องและประเทศเกาหลีเหนือ และถึงแม้สนามนี้จะมีความจุมากมายเพียงใด แต่เกาเหลีเหนือก็จัดการแข่งกีฬาฟุตบอลและกรีฑาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น