แลมพ์อย่าเอาอย่าง :  6 แข้งตำนานที่ล้มเหลวกับอดีตต้นสังกัดในฐานะกุนซือ

 

ในบางครั้งแข้งระดับตำนานของสโมสรก็สามารถกลับมาสร้างยิ่งใหญ่ให้กับอดีตต้นสังกัดได้อีกครั้งในฐานะกุนซือ อย่างเช่น เป็ป กวาร์ดิโอล่า ที่เคยทำได้กับบาร์เซโลน่า หรือ ซีเนดีน ซีดาน กับการคุมทีมเรอัล มาดริดในครั้งแรก

 

ซึ่ง แฟรงค์ แลมพาร์ด คือผู้จัดการทีมคนล่าสุดที่มีโอกาสย้ายไปคุมทีมเก่าของตนเองในตอนนี้ หลังมีข่าวว่ากองกลางระดับตำนานของเชลซีอาจรับงานกุนซือใหม่ในถ้ำสิงห์ต่อจาก เมาริซิโอ ซาร์รี่ ที่เตรียมย้ายไปคุมยูเวนตุสในฤดูกาลหน้า

 

แลมพ์ย้ายจากเวสต์แฮมมาค้าแข้งในถิ่น สแตมฟอร์ด บริดจ์ ตั้งแต่ปี 2001 และกลายเป็นหนึ่งในตำนานของทีมอย่างแท้จริง ตลอดเวลา 13 ปี ที่อยู่ในทีม เขาพาทีมสีน้ำเงินจากลอนดอนคว้าทั้งแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 4 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 2 สมัย รวมถึงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ ยูโรป้า ลีก อย่างละสมัย  พ่วงด้วยตำแหน่งดาวซัลโซสูงสุดตลอดกาลของสโมสรที่ 211 ประตูด้วย ก่อนจะลาทีมไปในปี 2014

 

 

นอกจากนี้ในเส้นทางสายกุนซือของแลมพาร์ดก็ดูมีอนาคตสดใสอยู่ไม่น้อย หลังพาดาร์บี้ เคาท์ตี้ มีลุ้นเลื่อนชั้นจากแชมเปี้ยนส์ชิพในฤดูกาลที่ผ่านมา ทั้งๆที่เริ่มต้นในอาชีพใหม่นี้ได้แค่ปีเดียวเท่านั้น น่าเสียดายที่ดันไปพ่ายแก่ แอสตัน วิลล่า ในนัดชิงเพลย์ออฟเลื่อนชั้น 2-1 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นตำนานของทีม และดูมีแววดีกับการคุมทีมช่วงแรก ก็ใช่ว่าแลมพ์จะประสบความสำเร็จในฐานะกุนซือกับทีมเก่าสมัยค้าแข้ง เนื่องจากมีแข้งดังอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จกับทีมนั้นมากในยามค้าแข้ง แต่กลับต้องมาล้มเหลวยามที่ตัวเองกลับมาร่วมงานกับสโมสรเก่าอีกครั้งในฐานะผู้จัดการทีม

 

และนี่คือ 6 กุนซือชื่อดังที่แลมพาร์ดไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง หากไม่ต้องการล้มเหลวกับทีมเก่าของตนเองในสมัยค้าแข้ง

 

 

อลัน เชียเรอร์ (นิวคาสเซิล)

 

 

ณ วันเมษาหน้าโง่ปี 2009 นิวคาสเซิลสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับเหล่าทูน อาร์มี่ ด้วยการแต่งตั้ง อลัน เชียเรอร์ อดีตกองหน้าระดับตำนานของพวกเขาเป็นกุนซือจนจบฤดูกาลและหวังว่าจะพาทีมรอดพ้นจากตกชั้นในปีนั้นได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้จัดการทีมคนก่อนอย่าง โจ คินเนียร์ ต้องพักฟื้นจากการผ่าตัดหัวใจพอดี

 

‘ฮ็อตช็อต’ ถูกยกย่องจากแฟนสาลิกาดงเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวเขาปฏิเสธ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมมหาอำนาจในลีกตอนนั้น และเลือกเซ็นสัญญากับทีมรักในวัยเด็กแทนเมื่อปี 1996 ก่อนจะสถาปนาตัวเองเป็นดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของ เดอะ แม็กพายส์ แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางสายกุนซือของเชียเรอร์จะไม่สวยหรูเหมือนตอนค้าแข้งเท่าไหร่

 

ในตอนนั้น เชียเรอร์มี เอียน ดาร์วี่ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการตกชั้นเป็นมือขวา ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามใน 5 นัดแรกของเขากับนิวคาสเซิล ทำได้แค่ 2 แต้ม ก่อนที่จะปลุกตัวเองขึ้นมาอีกครั้งด้วยการเอาชนะ มิดเดิ้ลสโบรห์ ทีมหนีตกชั้นด้วยกัน 3-1 ทำให้พวกเขามีโอกาสโลดแล่นในลีกสูงสุดแดนผู้ดีในฤดูกาลต่อไปพอสมควร

 

แต่ว่านั่นคือชัยชนะนัดแรกและนัดเดียวที่เชียเรอร์ทำให้ทีมได้ในฐานะกุนซือ เพราะหลังจากนั้นพวกเขาพ่ายให้กับ ฟูแล่ม และ แอสตัน วิลล่า ใน 2 นัดของฤดูกาล และตกชั้นลงไปเล่นเดอะ แชมเปี้ยนส์ชิพ ในที่สุด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษก็ไม่หวนกลับมารับงานคุมทีมไหนอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

 

 

สจ๊วต เพียร์ซ (น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์)

 

 

เจ้าของฉายา ‘ไซโค’ รับงานคุมทีมเป็นครั้งแรกกับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ที่เขาค้าแข้งมานานกว่า 12 ปี โดยควบตำแหน่งผู้เล่นกึ่งโค้ชในปี 1996 หลังจากที่ แฟร้งค์ คล๊าก นายใหญ่คนเก่าถูกไล่ออกไป ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่นัดแรกเนื่องจากไม่สามารถจัด 11 ตัวจริงในทีมได้ดีนัก

 

แต่ถึงอย่างนั้น เพียร์ซ ก็พาทีมเจ้าป่าเอาชนะอาร์เซน่อลได้ 2-1 และคว้างรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมในเดือมกราคมไปครอง อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่สามารถช่วยให้ทีมหนีรอดจากการตกชั้นในปีนั้นได้ อดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษจึงสละเก้าอี้กุนซือไปให้กับคนอื่นไปตั้งแต่ยังไม่จบฤดูกาล

 

หลังจากบอกลาอาชีพค้าแข้ง เพียร์ซก็มารับงานคุมทีมแบบเต็มตัวกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่อมาก็รับงานผู้ช่วยของ ฟาบิโอ คาเปลโล่ ในทีมชาติอังกฤษในปี 2008 จนถึงปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่กุนซือชาวอิตาลีลาออกจากทีมสิงโตคำรามพอดี ก่อนจะได้นั่งเก้าอี้ทีมชาติอังกฤษชั่วคราวและโยกไปคุมอังกฤษชุดยู 21 กับทีมสหราชอาณาจักรในโอลิมปิกปีนั้นแทน

 

ต่อมาในปี 2014 เพียร์ซ ได้กลับไปบ้านเก่าที่คุ้นเคยอย่าง ฟอเรสต์อีกครั้ง พร้อมคว้านักเตะใหม่มาเสริมแกร่งถึง 10 คน รวมตำแหน่งผู้รักษาประตูด้วย ซึ่งเหมือนจะได้ผลดี หลังคว้าชัยในแชมเปี้ยนส์ชิพได้ 5 จาก 7 เกมแรก แต่หลังจากนั้นทุกอย่างดูผิดที่ผิดทางไปหมด เพียร์ซพาทีมเจ้าป่าชนะแค่ 3 จาก 21 เกมต่อมาในลีก รวมถึงถูกทีมที่ลีกต่ำกว่าอย่าง โรชเดล เขี่ยตกรอบเอฟเอ คัพ ส่งผลให้เขาถูกปลดจากตำแหน่งปีเดือนกุมภาพันธ์ปี 2015

 

 

แกเร็ธ เซาธ์เกต (มิดเดิลสโบรห์)

 

 

กัปตันคนแรกที่ได้ชูถ้วยเมเเจอร์กับทีมโบโร่ หลังคว้าแชมป์ลีก คัพได้ในปี 2004 และอีก 2 ปีต่อมา แกเร็ธ เซาธ์เกต ยังพาต้นสังกัดเข้าชิงฟุตบอลยุโรปถ้วยเล็กอย่าง ยูฟ่า คัพด้วย น่าเสียดายที่ดันไปพ่าย เซบีย่า ตัวแทนจากสเปนไป 5-3

 

ทันทีที่จบฤดูกาลนั้น เซาธ์เกตในวัย 35 ปีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมของสิงห์แดงอย่างรวดเร็ว แทนที่ สตีฟ แม็คคลาเรน ที่ไปยืนกางร่มคุมทีมชาติอังกฤษ ซึ่งผลงานการทำทีมในปีแรกๆของอดีตกองหลังกัปตันทีมถือว่าน่าประทับใจมากๆเลย หนึ่งในนั้นคือนัดที่เอาชนะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไป 8-1 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีแววของการพัฒนาในทีม ซ้ำร้ายฟอร์มการเล่นยังค่อยๆถอยหลังลงคลองไปอย่างช้าๆ

 

หลังจากที่คุมทีมมานาน 3 ปีเต็ม เซาธ์เกตก็พาทีมตกชั้นในฤดูกาล 2008-09 และถูกไล่ออกจากทีมในฤดูกาลต่อมา เนื่องจากทำผลงานไม่กระเตื้องขึ้นในแชมเปี้ยนส์ชิพ ด้วยสถานการณ์ในตอนนั้น คงไม่มีใครคิดจริงจังหรอกว่าคนอย่างเซาธ์เกตจะได้เป็นนายใหญ่ทีมชาติอังกฤษเช่นในปัจจุบัน

 

 

ออสซี่ อาร์ดิเลส (สเปอร์ส)

 

 

แข้งชาวอาร์เจนไตน์อย่าง ออสซี่ อาร์ดิเลส ถือเป็นนักเตะต่างชาติที่เข้ามาสร้างความตื่นเต้นให้วงการลูกหนังอังกฤษในยุค 80 อย่างแท้จริง แถมยังเป็นแข้งคนสำคัญช่วยให้ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพในปี 1981 และแชมป์ยูฟ่า คัพ ในปี 1984 ด้วย

 

อาร์ดิเลสกลับมาถิ่นไวท์ ฮาร์ทเลน อีกครั้งเมื่อฤดูกาล 1993 ในฐานะกุนซือคนใหม่ ซึ่งมีสไตล์ทำทีมแบบเน้นเกมรุกเต็มรูปแบบเป็นเรื่องหลัก ส่วนเกมรับเป็นเรื่องรอง และแผนนี้ก็ดูจะได้ผลดียามที่ไก่เดือยทองมี เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม เวอร์ชั่นฟิตสมบูรณ์อยู่ในทีม แต่หลังจากที่น้าหมีบาดเจ็บไป สเปอร์สก็พ่ายในลีกไป 7 นัดติด จนอันดับร่วงลงไปและจบที่ 15 ในตาราง

 

แต่ถึงอย่างนั้น อดีตกองกลางชุดแชมป์โลกปี 1978 ก็เมินข้อบกพร่องในเกมรับ และเลือกเสริมทัพด้วยแข้งตัวรุกอย่าง เจอร์เก้น คลินส์มันน์ และ อีลี่ ดูมิเตรสคู มาร่วมทีมแทนในฤดูกาลต่อมา ซึ่งการตัดสินครั้งนี้ส่งผลให้ทีมรั้งอันดับในตารางครึ่งล่างของพรีเมียร์ลีก และทำให้เขาถูกปลดออกจากทีมในเดือนตุลาคมปี 1994

 

 

ไบรอัน ร็อบสัน (เวสต์บรอม)

 

 

กัปตันมาร์เวลสร้างชื่อในสมัยที่ค้าแข้งกับเวสต์บรอมในยุค 80 และลงเล่นให้สโมสรมากกว่า 200 นัด ก่อนย้ายไปร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา แต่แล้วโชคชะตาก็พาให้ ไบรอัน ร็อบสัน กลับมาร่วมงานกับ เดอะ แบ็กกี้ส์ อีกครั้ง ในปีเดือนพฤศจิกายน 2004 แถมสร้างปาฏิหารย์ได้อย่างเหลื่อเชื่อในปีนั้นด้วย

 

ร็อบโบ้ไม่ชนะใครเลยใน 5 เกมแรกกับเวสต์บรอม และทำทีมรั้งอันดับบ๋วยในพรีเมียร์ลีกช่วงคริสมาสต์ อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาลนั้น ร็อบสันกับลูกทีมกัดฟันสู้ในลีกสูงสุดของแดนผู้ดีจนวันสุดท้าย และกลายเป็นทีมแรกอยู่อันดับสุดท้ายในช่วงคริสมาสต์แต่กลับพยายามดิ้นรนจนหนีรอดจาการตกชั้นได้สำเร็จ

 

อดีตกองกลาทีมชาติอังกฤษได้รับการชื่นชมสรรเสริญจากสาวก เดอะ แบ็กกี้ส์ ไปทั่วทุกสารทิศ แต่ว่าปาฏิหารย์แบบครั้งที่แล้วคงไม่ได้มีให้เห็นบ่อยๆ และแน่นอนว่าไม่มีทางเกิดขึ้นกับร็อบสัน 2 ปีติด  เพราในฤดูกาล 2005-06 เขาพาทีมจบอันดับที่ 19 ในพรีเมียร์ลีก โดยที่ไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เลยในช่วง 13 เกมสุดท้ายของลีก แม้ฤดูกาลต่อมา เวสต์บรอมจะให้โอกาสร็อบสันแก้ตัวในแชมเปี้ยนส์ชิพ แต่ด้วยฟอร์มการเล่นชนะ 3 จาก 8 นัด ทำให้สโมสรตัดสินใจยุติบทบาทกุนซืออดีตนักเตะไว้แต่เพียงเท่านี้ดีกว่า

    

 

เควิน คีแกน (นิวคาสเซิล)

 

 

แน่นอนว่าการคุมทีมสาลิกาดงครั้งแรกของ เควิน คีแกน นั่นยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จพอสมควร หลังเปลี่ยนจากทีมที่อยู่ในลีกรองของอังกฤษให้กลายเป็นทีมลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบเต็มตัวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในตอนนั้นได้ แต่คงไม่มีใครคิดว่าการกลับมาคุมทีมครั้งที่ 2 ของคีแกนกับนิวคาสเซิล มันไม่ได้สวยหรูอย่างนั้นเท่าไหร่นัก

 

อีก 10 ปีต่อมา คีแกนกลับมาถิ่น เซนต์ เจมส์ ปาร์ค อีกครั้งในเดือนมกราคมปี 2008 เพื่อกู้วิกฤตในทีมที่กำลังสุ่มเสี่ยงตกชั้น แม้ตัวเขายอมรับว่าไม่ได้ติดตามฟุตบอลในยุคหลังๆเลย และทำทีมไม่ชนะใครเลยใน 8 นัดแรก แต่กุนซือชาวอังกฤษก็พาทีมจากแดนอีสานคืนฟอร์มเก่งได้อีกครั้ง และจบอันดับที่ 12 ได้อย่างน่าชื่นชม  

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตึงๆเริ่มมาเยือนทีมสาลิกาดง เมื่อ ไมค์ แอชลี่ย์ เจ้าของสโมสร ไปทาบทาม เดนิส ไวส์ อดีตกัปตันทีมของเชลซี มานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาของสโมสรเพื่อซื้อตัวนักเตะเเละทำงานร่วมกับโค้ช ทำให้คีแกนไม่พอใจอย่างมากเนื่องจาก ไวส์ และบอร์ดบริหารมีการแทรกแทรงการซื้อขายนักเตะของตัวเขา จากนั้นบรรยากาศต่างๆในทีมก็ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่ตัวของอดีตกองกลางลิเวอร์พูลจะอยู่ไม่ไหว ประกาศลาออกในเดือนกันยายนปี 2008 ซึ่งการลาทีมของคีแกนก็มีส่วนที่ทำให้นิวคาสเซิลต้องตกชั้นในฤดูกาลนั้นไม่น้อยเหมือนกัน