โมร็อกโกลูกหนังพัดถิ่น: ม้ามืดตัวจริง World Cup 2022

โมร็อกโกลูกหนังพัดถิ่น: ม้ามืดตัวจริงในฟุตบอลโลก 2022

หากจะพูดถึงทีมม้ามืดตัวจริงเสียงจริงในศึกฟุตบอลโลก 2022 แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น “ราชสีห์แห่งแอตลาส” ทีมชาติโมร็อกโก ที่สร้างเซอร์ไพรส์มาแบบไม่มีใครคาดคิด

พวกเขากลายเป็นชาติแรกจากทวีปแอฟริกันที่สามารถผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในประวัติศาสตร์ 92 ปี ของฟุตบอลโลกไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

นี่ไม่ใช่ทีมเต็งและถูกกาหัวว่าจะตกรอบแรก เพราะอยู่ในกลุ่มที่ถือว่าหนักเอาการ ทั้ง โครเอเชีย รองแชมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เบลเยี่ยม ทีมอันดับ 2 ของแรงกิ้งฟีฟ่า และแคดานา อีกหนึ่งทีมที่ถูกมองว่าจะเป็นม้ามืดของรายการ หลังคว้าเข้ามาด้วยการเป็นแชมป์จากโซนคอนคาเคฟ

วันนี้เราจะพาไปย้อนดูกันเส้นทางของพวกเขาที่กลายเป็นทีมม้ามืดและสร้างความประทับใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก ก่อนจะมาพวกเขาต้องเจอกันอะไรบ้าง

๐ เปลี่ยนโค้ชก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์

ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มต้นขึ้น โมร็อกโก ยังใช้บริการของเทรนเนอร์มากประสบการณ์อย่าง วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิซ แม้ว่าจะล้มเหลวในรายการชิงแชมป์ทวีปอย่าง แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2021 ที่ไปได้ถึงแค่รอบ  8 ทีม

แต่เป้าหมายของพวกเขายิ่งใหญ่กว่านั้นคือการคว้าตั๋วมาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และสามารถหักด่านเอาชนะ ดีอาร์ คองโก้ มาได้แบบสบาย ๆ ทุกอย่างดูเหมือนราบรื่นดี แต่ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ไม่นาน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิซ ออกจากการทำหน้าที่กุนซือก่อนที่ศึกใหญ่จะเริ่มขึ้นเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น

นี่คือการโดนปลดออกจากตำแหน่งกุนซือก่อนจะเริ่มฟุตบอลโลกเป็นหนที่ 3 ของเขา กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่เจ้าตัวไม่อยากจดจำ เพราะเป็นคนทำทีมผ่านเข้ารอบมาแท้ ๆ แต่ไม่ได้คุม โดยปัญหามาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และความไม่ลงรอยกับลูกทีมอย่าง ฮาคิม ซีเย็ค ที่เขายืนกรานเลยว่าหากยังคุมอยู่ “ไอ้หมอนี่” ไม่มีทางได้เล่นทีมชาติหรอก เขาเคยเจอเหตุการณ์นี้มาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2010 กับทีมชาติไอวอรี่ โคสต์ และย้อนกลับไปในปี 2018 กับทีมชาติญี่ปุ่น

๐ การปฏิวัติทีมของโค้ชใหม่

หลังการจากไปของ ฮาลิลฮ็อดซิซ คนที่เข้ามาสานงานต่อคือ วาลิด เรกรากี หรือเรกรากุย อดีตผู้เล่นในตำแหน่งแบ็คขวา แต่ไม่ได้เริ่มต้นเล่นฟุตบอลที่โมร็อกโก แม้ว่าจะมีสายเลือด “มาร็อก” แบบเต็มขั้นก็ตาม เพราะเขาไปเกิดและเติบโตที่ คอร์เบล-เอสซองส์ ชานเมืองทางตอนใต้ของกรุงปารีส ติดแม่น้ำแซน เล่นฟุตบอลในฝรั่งเศสกับทีมอย่าง อฌักซิโอ้, ตูลูส และดิฌง มีโฉบไปอยู่สเปนกับ ราซิ่ง ซานตาเดร์ ได้กลับมาปิดฉากเส้นทางอาชีพกับ โมเกร็บ เตทวน

กุนซือเจ้าของฉายา “หัวอะโวคาโด้” เคยเข้าร่วมคอร์สอบรมโค้ชออนไลน์กับ มิเกล อาร์เตต้า กุนซือจอมแท็กติคของ “ปืนใหญ่” อาร์เซน่อล เมื่อช่วงปลายปี 2021 ผ่านแอพพลิเคชั่น “ซูม” ซึ่งเน้นในเรื่องของแท็กติกต่าง ๆ โดยเฉพาะการเล่นเกมสวนกลับ ที่เขามองว่าจะเป็นอาวุธเด็ดสำหรับการทำทีมเล็ก ๆ ไว้ต่อกรกับทีมมหาอำนาจลูกหนัง

งานแรกของเขาคือสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ด้วยการสานสัมพันธ์เรียกดาวเตะคนสำคัญที่มีปัญหากับโค้ชคนก่อนอย่าง ฮาคิม ซีเย็ค คืนสู่ทีมอีกครั้ง พร้อมกับเรียกบรรดาแข้งพลัดถิ่นเข้ามาติดทีมมากมาย

ในตอนนั้นเขาถูกเสียงวิจารณ์จากกูรูและแฟนบอลว่าทำไมไม่ใช้นักเตะที่ค้าแข้งในประเทศหรือเกิดที่โมร็อกโก แม้ว่าผลงานในช่วงอุ่นเครื่องเตรียมทีมลงเล่นไป 3 เกมก่อนบอลโลกไม่แพ้ใครเลย ชนะ 2 และเสมอ 1 ก็ตาม

“ผมต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้มาหลายต่อหลายครั้ง ก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น เรามีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับคำถามที่ว่าทำไมผู้เล่นบางคนถึงไม่เล่นให้กับบ้านเกิดอย่างโมร็อกโก และบางคนก็ไม่ได้เกิดที่นี่แต่ถูกเรียกเข้ามา เราแสดงให้โลกได้เห็นว่าทุกคนเป็นชาวโมร็อกโก พวกเขามาเล่นทีมชาติและพร้อมสู้ตาย” เรกรากี กล่าว

“ผมเกิดในฝรั่งเศส แต่ไม่มีใครเอาหัวใจผมไปจากประเทศสายเลือดของผมได้ ลูกทีมของผมทุ่มเท 100 % บางคนเกิดในเยอรมนี, สเปน, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ทุกประเทศล้วนมีวัฒนธรรมของฟุตบอลที่แตกต่างกัน”

14 จาก 26 รายไม่ได้เกิดที่โมร็อกโก

นักเตะชุดลุยศึกฟุตบอลโลก 2022 มีถึง 14 รายที่ไม่ได้เกิดที่ประเทศโมร็อกโก ครอบครัวของพวกเขาต่างก็อพยพไปหาสิ่งที่ดีกว่าตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เราไล่ให้ดูกันเลยว่าทั้ง 14 รายนี้เกิดและเติบโตที่ไหนกันบ้าง

ผู้รักษาประตู 2 ราย (เกิดที่ แคดานา และสเปน)

ยาซีน โบโน่: พ่อแม่เชื้อสาย โมร็อกโก แต่ไปเกิดที่ มอนทรีอัล ในประเทศแคนาดา ก่อนจะย้ายกลับมา คาซาบลังก้า ตอนอายุ 3 ขวบ และเริ่มต้นเล่นฟุตบอลที่นั่น มีจานลุยจิ บุฟฟ่อน และเอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ เป็นไอดอล

มูเนียร์ โมฮามาดี้: เกิดที่ เมลีญ่า ประเทศสเปน เริ่มเล่นฟุตบอลในสเปน ไม่เคยเล่นอาชีพในโมร็อกโก

กองหลัง 3 ราย (เกิดที่ สเปน, เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส)

อาชราฟ ฮาคิมี่: พ่อแม่อพยพแบบถูกกฎหมายมาอยู่ในสเปน เกิดและเติบโตที่เมืองหลวงอย่าง มาดริด แม่ทำงานหนักเป็นแบบบ้านทำความสะอาด ส่วนพ่อทำอาชีพค้าขายตามถนน ด้วยพรสรรค์ที่ยอดเยี่ยมถูกทาบทามให้ไปเล่นทีมชาติสเปน แต่เขาเลือกปฏิเสธเพราะหัวใจของเขาคือ โมร็อกโก แบบ 100 %

นูสแซร์ มาซราอุย: เกิดที่ ไลเดอร์ดอร์ป ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่เคยเล่นฟุตบอลในโมร็อกโก เติบโตจากอคาเดมี่ของ อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม เล่นทีมชาติโมร็อกโก ยู-20 ก่อนจะติดชุดใหญ่เมื่อปี 2018

โรแม็ง ซาอิสส์ (กัปตันทีม): ลูกครึ่ง พ่อโมร็อกโก แม่ฝรั่งเศส เกิดที่ Bourg-de-Péage ประเทศฝรั่งเศส ไม่เคยเล่นฟุตบอลกับสโมสรในโมร็อกโก โด่งดังขีดสุดกับการไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก อังกฤษกับ วูล์ฟแฮมป์ตัน

กองกลาง 5 ราย (เกิดที่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม)

โซฟียาน อัมราบัต: พ่อแม่โมร็อกโก ไปเกิดและเติบโตที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีพี่น้องคือ นอร์ดิน อัมราบัต ปีกก้นงอนหัวเหม่งที่เคยมาเล่นในพรีเมียร์ลีก อังกฤษกับ วัตฟอร์ด ในตอนเป็นเยาวชนเล่นให้กับทีมชาติเนเธอร์แลนด์รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี หลังจากนั้นหันไปรับใช้ทีมชาติโมร็อกโกตั้งแต่ U 17 -U 23 ก่อนจะติดชุดใหญ่ เมื่อปี 2017

ฮาคิม ซีเย็ค: พ่อแม่โมร็อกโกเกิดที่ เทศบาลเมืองดรอนเตน ในจังหวัดเฟลโฟลันด์ ตั้งอยู่ในกลางประเทศเนเธอร์แลนด์ เล่นให้ทัพ “อัศวินสีส้ม” ในทีมเยาวชน U20 – U23 ก่อนจะโยกมารับใช้ โมร็อกโก เมื่อปี 2015 และเล่นฟุตบอลอาชีพกับ ฮีเรนวีน, ทเวนเต้ และอาแจ๊กซ์ ปัจจุบันอยู่กับ เชลซี

อิลิอัส แชร์: พ่อโมร็อกโก แม่โปแลนด์ เกิดที่ อันท์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม

เซลิม อมัลลาห์: ลูกครึ่ง โมร็อกโก-อิตาลี แต่ไปเกิดที่ ฮูทรัคจ์ ประเทศเบลเยี่ยม ไม่เคยค้าแข้งในประเทศโมร็อกโก

บีลัล เอล คานนุส: อายุ 18 ปี โมร็อกโกเต็มขั้น แต่ไปเกิดที่ สตรอมบีค-เบเวอร์ ประเทศเบลเยี่ยม เล่นให้เบลเยี่ยมในระดับเยาวชน U15 – U18 ก่อนจะเปลี่ยนมาเล่นให้โมร็อกโก

กองหน้า 4 ราย (เกิดที่ เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อิตาลี)

อนาสส์ ซารูรี่: โมร็อกโก 100 % แต่ไปเกิดที่เมเชเลน ประเทศเบลเยี่ยม และเริ่มต้นเล่นฟุตบอลที่นั่งในระดับเยาวชน ก่อนจะถูกเรียกติดทีมชาติโมร็อกโกชุดใหญ่ทันที โดยไม่ต้องผ่านการเล่นชุดเล็ก เพราะถูกเรียกเข้ามาแทน อามีน ฮาริต ตัวเก่งจาก โอลิมปิก มาร์กเซย ที่ดวงแตกบาดเจ็บก่อนเริ่มทัวร์นาเมนท์ไม่ถึงสัปดาห์

ซากาเรีย อาบูคาล: ลูกครึ่ง พ่อ โมร็อกโก แม่ลิเบีย แต่ไปเกิดที่ ร็อตเธอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เล่นฟุตบอลกับหลายสโมสรที่นั่น รวมไปถึงทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เยาวชนไล่ตั้งแต่ U17 – U20 ก่อนจะถูกเรียกติดทีมชาติชุดใหญ่ของ โมร็อกโก เมื่อปี 2020 และฟุตบอลโลก 2022 เขาเป็นคนยิงประตูตอกฝาโลงพาทีมเอาชนะ เบลเยี่ยม 2-0

โซฟียาน บูฟาล: ลูกครึ่งฝรั่งเศส-โมร็อกโก เกิดที่กรุงปารีส เล่นในฝรั่งเศสมาตลอด แต่ไม่เคยถูกเรียกติดทีมชาติ เขาเลือกเล่นให้กับ โมร็อกโก เมื่อปี 2016 หลังแจ้งเกิดกับลีลล์ และย้ายไปอยู่กับ เซาธ์แฮมป์ตัน ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

วาลิด เช็ดดิร่า: พ่อและแม่เป็นชาวโมร็อกโก แต่ไปเกิดและเติบโตที่ ลอเรโต้ ประเทศอิตาลี เล่นฟุตบอลในอิตาลี มาตลอดไม่เคยย้ายออกไปไหน เพิ่งถูกเรียกติดทีมชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดโดนใบแดงในเกมที่ชนะโปรตุเกส 1-0 ผ่านเข้ารอบตัดเชือกฟุตบอลโลก 2022

๐ เส้นทางเทพนิยาย “มาร็อก”

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้บรรดาครอบครัวของนักเตะหลายคนต่างร่วมเดินทางมากาตาร์เพื่อให้กำลังใจ ถือว่าการปลุกใจที่ใช้ได้ดีเลยทีเดียว เพราะสังเกตได้เมื่อจบเกมที่พวกเขาลงเล่นจะมีภาพของบรรดานักเตะหลายคนอยู่กับครอบครัวของตัวเองที่สนาม อาทิ อาชราฟ ฮาคิมี่ และโซฟียาน บูฟาล ทำให้ทีมนี้ขับเคลื่อนไปด้วยความรักและกำลังใจ

ทีมชาติโมร็อกโกออกสตาร์ทในเกมแรกก็เจอกับงานหนักอย่าง “ตราหมากรุก” ทีมชาติโครเอเชีย แต่พวกเขาก็แสดงออกถึงความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเกมรับที่เหนียวแน่นเล่นในระบบ 4-3-3 ต่อกรกับบรรดาผู้เล่นตัวเก๋าของคู่แข่งได้เป็นอย่างดี และสุดท้ายเสมอกันไป 0-0

ต่อมาพวกเขาต้องเจอกับ “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” เบลเยี่ยม หนึ่งในทีมเต็งของรายการ แต่ก็ไม่หวั่นสู้ได้อย่างสนุก เกมรับที่เหนียวแน่นคือคีย์แมนที่ทำให้พวกเขายืนหยัดต่อสู้กับทีมที่มีคุณภาพสูงกว่า และใช้จังหวะที่มีไม่มากนัก สร้างโอกาสจนเอาชนะเบลเยี่ยมชุดสุดท้ายของ “โกลเด้นเจเนเรชั่น” ไปได้ 2-0 และปิดท้ายด้วยการอัด แคนาดา 2-1 พวกเขาเข้ารอบมาด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มเอฟ ไม่แพ้ใคร เสียไปแค่ 1 ประตู และที่เสียไปเป็นการทำเข้าประตูตัวเองด้วย

ในรอบ 16 ทีม โมร็อกโก ต้องเจองานหนักอย่าง “กระทิงดุ” สเปน ประกาศจากยุโรปใต้ ที่อยู่ห่างจากพวกเขาไม่ไกล มีเพียงแค่ช่องแคบยิบรอลตาร์ขวางไว้ ประชาชนของ โมร็อกโก ออกจากประเทศเพื่อไปแสวงโชคที่สเปนค่อนข้างเยอะ พวกเขาเป็นชนชั้นแรงงานที่มักจะถูกกดขี่โดยคนท้องถิ่นอยู่เสมอ การโคจรมาพบกันครั้งนี้ถือว่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งเป็นอีกครั้งที่พวกเขาต่อสู่ด้วยแท็คติกเกมรับลากเอาทีม “กระทิงดุ” ไปดวลจุดโทษ และก็สามารถเอาชนะได้แบบไม่ยากเลย 3-0 เพราะ สเปน ยิงไม่เข้าแม้แต่คนเดียว กลายเป็นชาติที่ 4 จากทวีปแอฟริกา ที่สามารถทะลุเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศต่อจาก แคเมอรูน 1990, เซเนกัล 2002 และกาน่า 2010

พวกเขาเดินทางมาถึงรอบ 8 ทีม ก็ต้องเจอกับทีมยักษ์ใหญ่อย่าง “ฝอยทอง” โปรตุเกส ที่หมายมั่นปั้นมือจะคว้าแชมป์โลกให้ได้ แถมในรอบที่ผ่านมาก็ฟอร์มดุสุด ๆ ไล่ถล่ม “แดนนาฬิกา” สวิตเซอร์แลนด์ แบบขาดลอย 6-1

โปรตุเกส ถือว่าเป็นอีกชาติที่เคยฟาดฟันกับ โมร็อกโก ในเรื่องของการเมืองและสงครามตั้งแต่อดีต คราวนี้ต้องมาห้ำหั่นกันในสนาม กลายเป็น โมร็อกโก ที่สร้างเซอร์ไพรส์อีกครั้งด้วยการเอาชนะทีมฝอยทอง 1-0 จากลูกกระโดดโขกของ ยุสเซฟ เอ็น-เนซรี่ กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์จากทวีปแอฟริกาที่ผ่านเข้ารอบตัดเชือกในศึกฟุตบอลโลก

ทำให้ คริสติอาโน่ โรนัลโด้ ต้องเดินออกจากสนามด้วยคราบน้ำตา เพราะนี่อาจจะเป็นฟุตบอลโลกหนสุดท้ายของแข้งซูเปอร์สตาร์รายนี้ แถมในเวลาต่อมา เฟอร์นานโด ซานโตส ที่คุมทีมมายางนาน 8 ปี ก็ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งกุนซือ และถือว่าเป็นการเอาชนะ 2 ชาติมหาอำนาจลูกหนังที่เคยขัดแย้งกับพวกเขาในเรื่องการเมืองและสงคราม

ในรอบรองชนะเลิศ คราวนี้ต้องเจอกับ “ตราไก่” ฝรั่งเศส ทีมแชมป์เก่าที่มีเป้าหมายต้องการเป็นชาติที่ 3 ที่สามารถป้องกันแชมป์ฟุตบอลโลก ต่อจาก อิตาลี และบราซิล โมร็อกโก ต้องลงเล่นด้วยสภาพทีมที่ขาดตัวหลัก ผู้เล่นบางรายบาดเจ็บและติดโทษแบน สุดท้ายไม่อาจจะต้านทานความเฉียบคมของทีมแชมป์โลกสมัยล่าสุดได้ พ่ายไป 0-2 แต่กระนั้นพวกเขาก็แสดงออกถึงความเป็นนักสู้

ล่าสุดเกมนัดชิงอันดับ 3 พวกเขาต้องเจอกับ โครเอเชีย ที่เคยดวลกันมาแล้วในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่มตอนนั้นเสมอ 0-0 แต่คราวนี้พวกเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ 1-2 จบทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลกด้วยการคว้าอันดับ 4 ไปครอง

แต่ถึงอย่างไรก็พวกเขาก็สามารถภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้สร้างขึ้น ไม่มีอะไรต้องเสียใจ

“เราต้องการนำความสุขมาสู่แฟน ๆ ของเรา แต่เรามีความสุขสุด ๆ เพราะตอนนี้เราเป็น 1 ใน 4 ของทีมที่ดีที่สุดในโลก เราได้แสดงผลงานให้ทุกคนได้เห็น เราไม่เคยยอมแพ้ และขอแสดงความยินดีกับโครเอเชีย พวกเขาสมควรคว้าอันดับ 3 เราเป็นทีมน้องใหม่และต้องเรียนรู้กันต่อไป” เฮดโค้ช โมร็อกโก กล่าว

“เราได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเรา ทำให้ทุกคนได้รู้ว่าทีมฟุตบอลจากแอฟริกาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทีมระดับชั้นนำของโลก ด้วยประสิทธิภาพและการเล่นระดับสูงสุด ในครั้งต่อไปแน่นอนว่าความกดดันจะสูงขึ้น เพราะสิ่งที่เราได้ทำที่กาตาร์ปีนี้”

“แต่จากประสบการณ์มันจะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น ผมหวังว่าเราจะเรียนรู้และเติบโตถ่ายทอด DNA นักสู้ให้กับฟุตบอลแอฟริกาให้เด็ก ๆ ของเรา ผมมั่นใจว่าในอีก 15 ปี ทีมจากแอฟริกาจะสามารถคว้าแชมป์โลกได้”

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีทีมจากแอฟริกา ชาติไหนที่จะมาทำลายสถิติของ โมร็อกโก การคว้าอันดับ 4 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นการส่งต่อ DNA สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าเด็ก ๆ ในทวีปที่มีความฝันอยากที่จะเติบโตมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ รวมไปถึงคนทั่วโลก