ได้หมดถ้าสดชื่น : 5 ตัวอย่างการเอาเปรียบสัญญานักเตะในวงการลูกหนัง

 

คงไม่มีประเด็นดราม่าไหนที่ถูกพูดถึงไปมากกว่า เจนนี่ รัชนก สุวรรณเกตุ เจ้าของค่ายเพลงได้หมดถ้าสดชื่น หลังถูกแฉทางค่ายไม่แบ่งส่วนแบ่งให้นักร้องชาย เก้า เกริกพล เพชรรัตน์ ผู้ที่ร่วมฟีเจอริ่งในเพลง ‘เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว’

 

ประเด็นนี้เกิดขึ้นมาจากหนุ่มเก้าได้ออกเผยถึงเรื่องสัญญาต่างๆ ส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเงินค่าตัวและค่ายอดวิวยูทูบในเพลง ‘เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว’ ที่มียอดวิวถล่มทลายกว่า 349 ล้านวิว ก่อนที่ เจนนี่ ได้ออกมาเคลียร์เรื่องนี้ผ่านทางเฟสบุ๊ค จากนั้น แฮชแท็ก #เจนนี่ได้หมดถ้าสดชื่น ก็ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็วและกลายเป็นที่พูดถึงของชาวเน็ตไปทั่ว

 

เรื่องราวจะจบลงอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป แต่หากย้อนกลับไปดูในวงการฟุตบอล เหตุการณ์เรื่องสโมสรเล่นแง่เอาเปรียบนักเตะก็มีให้เห็นมาแล้วหลายกรณีเช่นกัน และถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยก็มี

 

UFA ARENA จึงขอพาทุกท่านไปย้อนดู 5 ตัวอย่างการเอาเปรียบสัญญานักเตะที่เคยเกิดขึ้นในวงการลูกหนังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

 

ฌอง-มาร์ค บอสแมน | ผู้ให้กำเนิดกฏบอสแมน

 

 

ในปัจจุบัน นักเตะทุกคนสามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อหมดสัญญาปัจจุบันกับสโมสร จะต่อสัญญากับสโมสรเดิมหรือเลือกเซ็นสัญญากับสโมสรใหม่ 

 

แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้กว่า 30 ปี นักเตะจะไม่สามารถย้ายทีมได้เลย ถ้าต้นสังกัดเดิมไม่อนุญาต แม้จะหมดสัญญาแเล้วก็ตาม ทว่าสัญญาและการย้ายทีมก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก แข้งโนเนมนามว่า ฌอง-มาร์ค บอสแมน

 

กองกลางชาวเบลเยี่ยม ที่หมดสัญญากับ เอฟซี ลีแอช สโมสรในลีกรองบ้านเกิดในปี 1990 และกำลังจะย้ายไปร่วมทีม ดันเคิร์ก จากฝรั่งเศส โดย ซึ่ง 2 สโมสรเห็นชอบร่วมกันที่เซ็นสัญญายืมตัว 1 ปี โดย ดันเคิร์ก ต้องจ่ายให้ ลีแอช 1,200,000 ฟรังก์ โดยมีออปชั่นว่า พวกเขาสามารถคว้าตัวบอสแมน ไปได้อย่างถาวรในปีถัดไป ด้วยการจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,800,000 ฟรังก์ 

 

ทว่าพอครบ 1 ปี ลีแอช กลับถูกความโลภครอบงำด้วยการโก่งค่าตัวของ บอสแมน เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 8 เท่า ทำให้การย้ายทีมเป็นโมฆะ มากไปกว่านั้น ลีแอช ยังกลั่นแกล้ง บอสแมน ด้วยการลดค่าเหนื่อย จากเดิม 120,000 ฟรังก์เบลเยียม เหลือเพียง 30,000 ฟรังก์

 

นั่นทำให้ บอสแมน เดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมด้วยตัวเอง และศาลเบลเยียมได้ตัดสินให้เขาสามารถย้ายไปเล่นกับ ดันเคิร์ก ได้โดยไม่มีค่าตัว ในเดือนพฤษภาคม ปี 1991 แต่เมื่อหมดสัญญากับทีม เขาที่อายุมากขึ้นจึงเรียกร้องค่าเสียโอกาสกับ ลีแอช แต่ก็ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว 

 

จากนั้น บอสแมน จึงยื่นฟ้องต่อศาลของสหภาพยุโรป เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1995 และตัดสินให้เขาเป็นผู้ชนะคดี 

 

หลังจากนั้น แวดวงฟุตบอลได้นำ กฎบอสแมน ไปใช้กันถ้วนหน้า ซึ่งหมายถึง กฎการย้ายแบบใหม่ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

 

มักซ์ ครูเซ่ | ถูกเฟเนร์บาห์เช่เบี้ยวค่าเหนื่อย

 

 

กองหน้ามากประสบการณ์ชาวเยอรมัน ได้หาความท้าทายใหม่ในอาชีพด้วยการย้ายไปค้าแข้งกับ เฟเนร์บาห์เช่ ในซัมเมอร์ปี 2019 แต่ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สโมสรแถลงว่าได้ยกเลิกสัญญากับ ครูเซ่ เรียบร้อย

 

แต่ว่า อดีตหอก เวร์เดอร์ เบรเมน ก็ออกมาแฉถึงสาเหตุนี้ผ่านอินสตราแกรมของตนเองว่าที่เขายกเลิกสัญญา เพราะทีมดังจากตุรกี ไม่ยอมจ่ายค่าเหนื่อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 

 

“ผมยกเลิกสัญญากับ เฟเนร์บาห์เช่ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2020 โดยมีผลทันที ผมโชคไม่ดีที่ถูกบังคับให้ทำตามขั้นตอนนี้ เนื่องจากสโมสรไม่ได้จ่ายค่าเหนื่อยให้ผมแบบเกือบเต็มอัตราตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ” ครูเซ่กล่าว

 

“ส่วนใหญ่เงินที่ค้างอยู่ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2020 ยังไม่ได้รับการชดเชย ผมไม่เคยฝ่าฝืนสัญญาในอาชีพและจะไม่ยกเลิกแน่ๆถ้า เฟเนร์บาห์เช่ ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา ผมขอให้คุณเข้าใจว่าผมจะไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ ต่อสาธารณะ”

 

อย่างไรก็ตาม แฟนบอลเฟเนร์บาห์เช่ ก็ไม่ได้เห็นอกเห็นใจอะไรกับครูเซ่เลย แถมมองว่าในช่วงที่ฟุตบอลหยุดแข่งเพราะโควิด-19 นักเตะก็ควรเสียสละเรื่องค่าเหนื่อยด้วย เนื่องจากสโมสรก็ขาดรายได้เช่นกัน

 

อีกทั้งชื่อเสียงของ แข้งวัย 32 ปี ในแดนไกง่วงก็ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะนอกจาก ฟอร์มในสนามยังไม่ดีแล้ว เขายังชื่นชอบการเที่ยวกลางคืนอีกต่างหาก

 

 

อเล็กซ์ ซง | โดน ซิยง ลอยแพหลังไม่ยอมรับข้อเสนอลดค่าเหนื่อย

 

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เอฟซี ซิยง ทีมดังแห่งลีกสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศยกเลิกสัญญา 9 นักเตะในทีมชุดใหญ่หลังปฏิเสธข้อเสนอสโมสรที่ของดจ่ายค่าเหนื่อยระหว่างที่ลีกหยุดพักจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก

 

แต่ต่อมา อเล็กซ์ ซง กองกลางชาวแคเมอรูน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 นักเตะที่โดนลอยแพยกเลิกสัญญา ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่า สโมสรไม่เคยพูดคุยหาทางออกกับนักเตะเลย เพียงแค่ยื่นเอกสารลดค่าเหนื่อยให้เซ็นเท่านั้น และพร้อมดำเนินคดีกับสโมสรแดนนาฬิกาด้วย

 

 “ทนายของผมจะดูแลปัญหานี้, เราจะไปที่ฟีฟ่า, เราจะปกป้องสิทธิ์ของเรา” ซง กล่าวกับ อาร์เอ็มซี “เราลงเล่นเกมอุ่นเครื่องกันเมื่อ 20 มีนาคม และเราเข้าพบกับประธานสโมสรในวันจันทร์และจากนั้นในวันอังคารเราไม่ได้ข่าวอะไรเลย”

 

“เราได้รับข้อความทางว็อทแอปป์ตอนบ่ายวันอังคาร (22 มีนาคม) บอกว่าเราต้องลงนามในเอกสารและค่าเหนื่อยของเราจะถูกลดลง, ซึ่งจะจ่ายเราประมาณ 12,000 ยูโร, ในวันถัดไปเราถูกเลิกจ้างโดยปราศจากคำอธิบาย”

 

“ผมเป็นนักฟุตบอล, มันไม่ใช่หน้าที่ผม, มีหลายคนที่ตรวจสอบว่าเอกสารถูกต้องหรือไม่, ผมไม่อาจจะเซ็นได้, เราไม่ได้มีการพูดคุยอะไรเลย”

 

“ทุกสโมสรพูดคุยกันเรื่องนี้ในตอนนี้, กัปตันของเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย, เราตัดสินใจร่วมกันว่าจะไม่เซ็น, เราต้องคุยกัน”

 

“ผมไม่ได้กระทำการอะไรที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นมืออาชีพ, ทุกสโมสรพูดคุยกับผู้เล่นเพื่อหาทางออก, เราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น, ไม่มีใครทำสามารถทำได้”

 

 

ลอริส คาริอุส | ฟ้องเบซิคตัสฐานค้างค่าเหนื่อย 4 เดือน

 

 

คาริอุส ย้ายจากลิเวอร์พูลมาเล่นกับ เบซิคตัส ด้วยสัญญายืมตัวเป็นเวลา 2 ปี หลังการมาของ อลิสซอน เบ็คเกอร์ ซึ่งในช่วงแรกที่ตุรกีก็เหมือนจะราบรื่นด้วยดี

 

ทว่านายทวารวัย 26 ปี กลับไม่ได้รับค่าจ้างจากสโมสรตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และลากยาวมานานกว่า 4 เดือน รวมเป็นเงินราว 1 ล้านปอนด์ จึงส่งหนังสือไปร้องเรียนสหพันธ์ลูกหนังนานาชาติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เบซิคตัสกลับนิ่งเฉยไม่ยอมชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 10 วันตามกำหนดเดดไลน์ 

 

อย่างไรก็ตามทาง เออร์ดัล โตรุนกุลลารี่ บอร์ดบริหารสโมสรเบซิคตัสออกมาโพสต์ชี้แจงทางอินสตาแกรมว่าทราบเรื่องของ คาริอุส แล้ว โดยเหตุผลที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นส่วนที่มือกาวเมืองเบียร์ไม่ควรได้รับ 

 

“คาริอุส โร่ไปฟ้อง ฟีฟ่า เรื่องไม่ได้รับค่าจ้างและต้องการยกเลิกสัญญา หมอนั่นต้องการให้เราจ่ายตังค์ของเดือนที่เขาไม่มีโปรแกรมลงแข่ง” เรื่องอีกมุมจากปาก โตรุนกุลลารี่

 

“เขาต้องการชิ่งแล้วมันคือการตัดสินใจของเจ้าตัวเอง ทั้งนี้ทางสโมสรจะไม่จ่ายเงินในส่วนที่ไม่ควรได้รับแน่นอน”

 

 ท้ายที่สุด เรื่องราวนี้ก็จบลงด้วยการที่ คาริอุส ได้ตัดสินใจฉีกสัญญายืมตัวกับ เบซิคตัส เพราะปัญหาเรื่องค่าจ้าง และปิดฉากการค้าแข้ง 2 ปีในแดนไก่งวงไปในที่สุด

 

ด้าน ฟีฟ่า ได้รับคำร้องเรียนจาก คาริอุส ไปตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว ก็กำลังตรวจสอบรายละเอียด โดยมีการรายงานข่าวจากเมืองเบียร์ว่า คาริอุส เตรียมยื่นฟ้องสโมสรแล้ว

 

 

ทีมชาติสหรัฐอเมริกาหญิง | เรียกร้องค่าเหนื่อยเท่ากับทีมชาย

 

 

ในบรรดาฟุตบอลหญิง ทีมชาติสหรัฐอเมริกา คือทีมที่ประสบความสำเร็จมากกว่ากว่าชาติไหนๆ ทั้งเป็นเจ้าของแชมป์โลกมากที่สุด 4 สมัย, แชมป์เหรียญโอลิมปิกมากที่สุด 4 สมัย, แชมป์ทวีปคอนคาเคฟมากที่สุด 8 สมัย 

 

แต่รู้หรือไม่ว่า แข้งสาวแดนมะกัน กลับได้รับค่าเหนื่อยน้อยกว่าทีมชายที่คว้าได้แค่แชมป์ทวีป    6 สมัยเท่านั้น จากการรายงานของ เดอะ การ์เดี้ยน สื่อดังจากอังกฤษ เผยว่า แข้งหญิงได้รับเงินเต็มที่เพียง 260,869 ดอลล่าร์เท่านั้น แม้จะคว้าแชมป์โลกได้เมื่อปีก่อน ขณะที่แข้งชายได้สูงสุดถึง 1,114,429 ดอลล่าร์ ต่างกันราว 730,000 ดอลล่าร์เลย

 

ด้วยความไม่เท่าเทียมต่างๆของทีมหญิงและชาย ทั้งค่าตอบแทน การเดินทางไปแข่งขัน ที่พักโรงแรม และการสนับสนุนต่างๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการฝึกซ้อม​ ก่อนที่สมาชิกนักเตะทั้งหมด 28 คน ได้ตัดสินใจยื่นฟ้องสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐฯ​ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 ด้วยข้อกล่าวหาว่า ทางสหพันธ์ฯ จ่ายค่าเหนื่อยให้กับฟุตบอลหญิงน้อยกว่าชาย ทั้งที่ทั้งสองทีมทำงานเท่ากัน 

 

แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ​ ไม่รับคำร้องที่ทีมหญิงมองว่า ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าทีมชาย แต่รับคำร้องอื่นๆ เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม สามารถดำเนินการต่อไปขึ้นชั้นศาลได้ 

 

สำนักข่าว CNN รายงานคำตัดสินของผู้พิพากษา โรเบิร์ต แกรี คลอสเนอร์ ว่าสมาชิกของฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาไม่สามารถพิสูจน์ว่าได้เกิดการเหยียดเพศจากความไม่เท่าเทียมทางรายได้ตามข้อกฎหมาย Equal Pay Act

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ชุดแชมป์โลกปี 2019 ซึ่งแข่งขันกันที่ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น เมเกน ราปิโน่, อเล็กซ์ มอร์แกน หรือ โทบิน เฮลท์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียล มีเดีย ว่าจะยืนยันการต่อสู้ของพวกเขาต่อไป