เชลซี ภายใต้การคุมทีมของ อันโตนิโอ คอนเต้ ในฤดูกาล 2016-17 เป็นทีมแชมป์พรีเมียร์ลีกที่หลายๆคนมองข้ามและน่าเศร้าที่ไม่ได้รับการยกย่องมากอย่างที่ควรจะเป็น
แต่เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็พอเข้าใจได้ เนื่องจากพวกเขาอยู่ระหว่างฤดูกาลที่ เลสเตอร์ สร้างปาฏิหารย์คว้าแชมป์ลีก และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของเป๊ป กวาร์ดิโอล่าที่คว้าแชมป์และทำสถิติลูกหนังแดนผู้ดีมากมาย
ความสำเร็จของ สิงห์บลู ไม่ได้น่าตกตะลึงเหมือนกับ จิ้งจอกสีน้ำเงิน หรือ ไม่ได้เป็นเครื่องจักรทำลายล้างแบบที่ เรือใบสีฟ้าทำได้
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในลีกครั้งล่าสุดของเชลซีก็มีคุณค่าให้น่าจดจำในตัวของมันเองไม่น้อยไปกว่าใคร เพราะแชมป์ในครั้งนี้ของพวกเขาเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนระบบการเล่นซึ่งอาจเป็นแผนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกเลยก็ว่าได้
ดูดีแค่เดือนแรก
หลังล้มเหลวสุดๆในฤดูกาล 2015-16 โรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี ได้คว้า อันโตนิโอ คอนเต้ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ ในฤดูกาลต่อมา ด้วยสัญญา 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเสร็จสิ้นภารกิจศึกยูโร 2016 กับทีมอิตาลีพอดี
แน่นอนว่าคนที่เสี่ยหมีดึงมาเป็นกุนซือย่อมมีดีกรีไม่ธรรมดาอยู่แล้ว และ คอนเต้ ก็เช่นกัน ที่ปลุกปั้นให้ยูเวนตุสกลับมาเป็นยอดทีมในอิตาลีอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ลีก 3 สมัย รวมถึงพาทัพอัซซูรี่ไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในยูโร 2016 ทั้งๆที่ทีมไม่มีแข้งดาวดังเช่นทีมอื่นๆ
ปีแรกของ กุนซือชาวอิตาเลี่ยนในแดนผู้ดีเริ่มต้นได้อย่างสวยงาม หลังพาเชลซีคว้าชัยได้ 3 นัดแรกในลีก ณ เดือนสิงหาคม แต่ฟอร์มการเล่นในตอนนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาคือว่าที่เต็งแชมป์ประจำฤดูกาลนั้น
และคำถามตัวโตๆก็โผล่ขึ้นมาตรงหน้าของ คอนเต้ ในเดือนกันยายน เมื่อเขาพาทีมเสมอกับ สวอนซี, แพ้ลิเวอร์พูล ก่อนจะโดน อาร์เซน่อล ถลุงไปถึง 3-0 ตั้งแต่ก่อนหมดครึ่งแรกในเอมิเรสต์ สเตเดี้ยม
จุดเปลี่ยนเกมพ่ายปืน
ในเกมนั้นถือเป็นความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับที่สุดในเกมลีกของ คอนต้ นับตั้งแต่ปี 2010
อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้แบบหมดรูปครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ คอนเต้ ลองใช้แผนการเล่นแบบใหม่ที่หลายๆทีมในลีกผู้ดีไม่เคยหรือใช้น้อยมากๆ
จากระบบยอดฮิต 4-2-3-1 ที่สโมสรต่างๆในยุโรปนิยมหยิบมาใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง รวมถึงในพรีเมียร์ลีก เชลซีกลับเลือกใช้แผน 3-4-3 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กุนซือชาวอิตาเลี่ยน ทดลองใช้กองหลัง 3 คน, วิงแบ็คที่วิ่งขึ้นลงตลอดเกมทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาน่าพอใจและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในนัดต่อมาที่พบ ฮัลล์ ซิตี้ และเอาชนะไป 2-0
https://streamable.com/cozh
ตำแหน่งต่างๆในทีมยังเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย ทั้ง วิคเตอร์ โมเสส ถูกขยับมาเล่นวิงแบ็คขวา ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ของแข้งชาวไนจีเรีย, มาร์กอส อลอนโซ่ นักเตะป้ายแดงที่คว้าจาก ฟิออเรนติน่า กลายเป็นวิงแบ็คฝั่งซ้าย ขณะที่ เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า ก็ย้ายจากแบ็คซ้ายมาเป็นกองหลังร่วมกับ แกรี่ เคฮิลล์ และ ดาวิด ลุยซ์
การยืนตำแหน่งแผงหลังแบบนี้เป็นาภาพสะท้อนที่ทำให้แฟนบอลหลายคนนึกถึง ยูเวนตุสยุคค้อนเต้ ที่มี อันเดรีย บาร์ซาญี่, จอร์โจ้ คิเอลลินี่ และ เลโอนาร์โด้ โบนุชชี่ เป็น 3 ประสานในเกมรับไม่น้อย
ในส่วนของผู้เล่นมาประสบการณ์อย่าง วิลเลี่ยน, จอห์น เทอร์รี่ และ เชส ฟาเบรกาส ถูกลดบทบาทเป็นตัวสำรอง และได้กลับมาเป็นตัวจริงในช่วงท้ายๆของฤดูกาลนั้น
ผลลัพธ์ที่เกินคาด
ประสิทธิภาพของระบบ 3-4-3 เริ่มเห็นผลชัดเจนใน 2 เกมถัดมาที่พบกับ เลสเตอร์ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อ เชลซีเอาชนะแชมป์เก่า 3-0 ก่อนจะโชว์ฟอร์มแกร่งยิ่งกว่าเดิมด้วยการทุบปีศาจแดงของ โชเซ่ มูรินโญ่ 4-0 และได้ประตูตั้งแต่ 30 วินาทีแรกของเกมจากเปโดร
ปีกชาวสแปนิช ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงแทนที่ วิลเลี่ยน ตั้งแต่เกมพบ เดอะ ฟ็อกซ์ และทำผลงานจนกลายเป็นตัวเลือกแรกในตำแหน่งปีกขวาของ คอนเต้ คู่กับ เอเด็น อาซาร์ ที่อยู่กราบซ้าย
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้เชลซีรั้งอันดับหนึ่งในตารางอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และคว้าชัยชนะในลีกได้ 13 นัดติดยาวไปจนถึงสิ้นปี 2016 ก่อนจะถูกหยุดสถิตินี้ไว้ด้วยฝีมือของ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ และ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ในช่วงปีใหม่
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหล่นร่วงจากตำแหน่งจ่าฝูงได้เลย และไม่มีใครสามารถหยุดให้สิงห์บลูคว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 6 ลงได้ เมื่อคว้าชัยรวดใน 6 นัดสุดท้าย ปิดฉากฤดูกาลนั้นไปอย่างสวยงาม
ยากจะเลียนแบบ
จริงอยู่ที่ในอดีตสโมสรในพรีเมียร์ลีกเคยใช้แผนกองหลัง 3 คน หรือวิงแบ็คมาก่อน แต่ก็ไม่ทีมไหนประสบความสำเร็จกับการเล่นแบบนี้นัก ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนกระทั่งการมาของ คอนเต้ ในแดนผู้ดี
การวิ่งขึ้นลงเติมเกมบุกช่วยเกมรับตลอด 90 นาทีของ โมเสส เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เชลซีประสบความสำเร็จได้ ขณะที่ อลอนโซ่ ก็พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได่มีดีแค่เกมรับด้วยการยิงในลีกไป 6 ประตูกับ 3 แอสซิสต์
ด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้สโมสรต่างๆร่วมลีกต่างพยายามเลียนแบบหรือลองใช้แผนการเล่นคล้ายๆกัน อย่างเช่น อาร์เซน่อล ของ อาร์เซน เวนเกอร์ ที่ไม่ใช้แผงหลัง 4 คนเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี อีกทั้งเป็นมีอิทธิพลต่อทีมชาติอังกฤษในยุคของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ที่จับ คีแรน ทริปเปียร์ และ แอชลี่ย์ ยัง เป็นวิงแบ็ค ในฟุตบอลโลกปี 2018 และเป็นรายการที่ทัพทรีไลอ้อนส์ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมที่สุด นับตั้งแต่ปี 1996
อย่างไรก็ตาม ไม่มีทีมไหนสามารถพัฒนาหรือเลียนแบบความสำเร็จอย่างที่ เชลซี ทำได้เลย ซึ่งนี่พิสูจน์ว่า กุนซือที่ใช้แผนนี้ต้องมาความสามารถในการจัดการและวางตำแหน่งการเล่นให้เหมาะสมกับนักเตะแต่ละคนเพื่อดึงศักยภาพของนักเตะและทีมออกมาให้มากที่สุด
ความสำเร็จที่น่าจดจำ
นอกจากวิงแบ็คที่โดดเด่นแล้ว เชลซียังมีนักเตะอีกหลายคนที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ทั้ง เอเด็น อาซาร์ และ ดีเอโก้ คอสต้า ที่ประสานงานกันในแนวรุกจนทำให้ฤดูกาลนั้นเป็นปีที่พวกเขาทำผลงานได้ดีที่สุดในเวทีพรีเมียร์ลีก โดยยิงประตูรวมกันถึง 36 ประตู (อาซาร์ 16 ประตู, คอสต้า 20 ประตู)
ส่วน เอ็นโกโล่ กองเต้ ก็เพิ่มสถานะให้ตัวเองเป็นกองกลางระดับโลกอย่างแท้จริง หลังย้ายจาก เลสเตอร์ มาค้าแข้งใน สแตมฟอร์ด บริดจ์ แต่การย้ายครั้งนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากเชลซีไม่ถูกโรม่า ปฏิเสธในการคว้าตัว รัดย่า เนียงโกลัน ถึง 3 ครั้ง
คอนเต้ได้เปลี่ยนแผนและวางตำแหน่งการเล่น โดยไม่คำนึงว่าใครคือผู้เล่นตัวจริงในทีมอาจเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดเขาก็สามารถจัดการสิ่งต่างๆภายในทีม จนสามารถคว้าแชมป์ลีกมาครองได้ตั้งแต่ปีแรกในแดนผู้ดี
แม้ผลงานในเวทียุโรปอย่าง แชมเปี้ยนส์ลีก อาจเป็นรอยตำหนิของอดีตกุนซือม้าลายอยู่บ้าง เนื่องจากไม่เคยพาทีมไหนไปไกลกว่ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเลย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความยอดเยี่ยมของคอนเต้กับแชมป์พรีเมียร์ลีกในปีนั้นด้อยค่าไปแต่อย่างใด
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, เวนเกอร์, มูรินโญ่ และ กวาร์ดิโอล่า ต่างมีปรัชญาและแท็คติกการเล่นที่แน่นอนชัดเจน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการพลิกสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแผนการเล่นหนึ่งไปสู่อีกแผนการเล่นหนึ่งในระหว่างฤดูกาล
คงไม่มีใครทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนกับ คอนเต้ ในฤดูกาล 2016-17 อย่างแน่นอน