BEST OF BRANDs : สุดยอดเสื้อเปแอสเชจาก 5 แบรนด์ดัง

 

ปัจจุบัน คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ปารีส แซงต์ แชร์กแมง คือทีมเบอร์หนึ่งในฝรั่งเศส และมีศักยภาพมากพอในการคว้าแชมป์ทุกรายการที่พวกเขาลงเล่น

 

แม้จะมีอายุแค่ 50 ปี ซึ่งถือว่าน้อยกว่าสโมสรระดับเดียวกันไม่น้อย แต่หลังการมาของ นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี่ และ QSI ในช่วง 10 ปีหลังสุด พวกเขาก็กวาดแชมป์มาครองมากมาย จนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่ได้รับการจับตามองและพูดถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเสริมทัพ, สปอนเซอร์ หรือ ชุดแข่งในแต่ละปีที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ไม่แพ้ทีมไหน

 

และครั้งนี้ UFA ARENA ขอโฟกัสไปที่ ชุดแข่งของ เปแอชเช ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสปอนเซอร์ผลิตชุดแข่งหลายรายที่หลายคนอาจรู้จักกันดี หรือไม่คุ้นชื่อเลย

 

 และนี่คือสุดยอดชุดแข่งของยอดทีมแดนน้ำหอม ที่ UFA ARENA มองว่ายอดเยี่ยมที่สุดจากแต่ละแบรนด์

 

 

Le Coq Sportif | ฤดูกาล 1985-86

 

 

แบรนด์แรกที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ผลิตชุดแข่งให้กับ เปแอสเช คือ Le Coq Sportif แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสที่มีรูปตราไก่ที่แฟนบอลรุ่นเก่าจดจำได้ดีเป็นเอกลักษณ์ โดยเข้ามาสนับสนุนชุดแข่งทีมถึง 3 ช่วงด้วยกัน ก็คือ ปี 1970-1975, 1976-1977 และ 1978-1986

 

สำหรับช่วงแรกที่มี แบรนด์ตราไก่ผลิตชุดแข่งให้ เปแอสเช ประสบความสำเร็จแค่การคว้าแชมป์ ลีก เดอซ์ ในปี 1971 ก่อนจะมาคว้าแชมป์ แฟรนช์ คัพ ในปี 1982 กับ 1983 ได้ในช่วงที่ Le Coq Sportif เข้าเป็นสปอนเซอร์หนที่ 3 แต่นี่เองที่พวกเขาได้สัมผัสแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร

 

ทีมจากปารีส คว้าแชมป์ลีกสมัยแรกแบบหักปากกาเซียน ซึ่งปาดหน้าทั้ง น็องต์ส กับ บอร์กโดซ์ 2 ทีมตัวเต็งในตอนนั้น พร้อมกับได้ไปโชว์ฝีเท้าในยูโรเปี้ยน คัพ เป็นครั้งแรกด้วยในปีถัดมา

 

สำหรับชุดเหย้าในฤดูกาลนั้น ทีมใช้สีขาวเป็นสีหลัก ไม่ใช่สีนำ้เงินเข้มอย่างที่เห็นในปัจจุบันและยังไม่มีโลโก้สโมสรปักอยู่ โดยมีรูปตราไก่ปักอยู่ด้านขวา มี RTL สื่อวิทยุเป็นสปอนเซอร์ตรงหน้าอก พร้อมแถบแนวตั้งสีแดงและน้ำเงินเข้มบริเวณฝั่งซ้ายของชุด

 

 

Kopa | ฤดูกาล 1975–1976

 

 

ในช่วงที่เปลี่ยนผู้ผลิตชุดแข่งรายใหม่ เปแอสเช เลือกใช้งาน Kopa แบรนด์เสื้อที่มี เรย์มองด์ โกป้า ตำนานแข้งชาวฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ แต่ก็ร่วมงานกันเพียง 1 ฤดูกาลเท่านั้น

 

ชุดแข่งในฤดูกาล 1975-76 นั้นมีรูปแบบคล้ายๆกับยุคใหม่มากขึ้นทีใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก และมีแถบสีแดงขนาดใหญ่คั่นตรงกลาง พร้อมด้วย RTL เป็นสปอนเซอร์หลักและยังไม่มีโลโก้สโมสรเหมือนเดิม

 

ส่วนผลงานของทีมเมืองหลวงแดนน้ำหอมในปีนั้น ต้องบอกว่าย่ำแย่พอสมควร ด้วยการรั้งอันดับ 14 และไปไกลสุดในบอลถ้วยเฟรนช์ คัพ แค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเท่านั้น

 

 

Pony | ฤดูกาล 1977–1978

 

 

ต่อมา เปแอสเช ก็เปลี่ยนผู้ผลิตชุดแข่งเป็นครั้งที่ 3 ในปี 1977 โดยร่วมงานกับ Pony บริษัทผลิตเสื้อผ้าจากสหรัฐอเมริกาที่แฟนบอลรุ่นใหม่ไม่คุ้นหูคุ้นชื่อเท่าไหร่นัก

 

รูปแบบของชุดแข่งในฤดูกาล 1977-78 แทบจะถอดแบบมาจากปีก่อนเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ทั้งสีน้ำเงินที่มีแถบแดงคั่นกลาง หรือ RTL ที่เป็นสปอนเซอร์ให้เช่นเคย แตกต่างแค่จุดเดียวก็คือ แบรนด์ผู้ผลิตชุดแข่งเท่านั้น

 

ขณะที่ผลงานในสนามก็ค่อนไปทางกลางๆ ไม่แย่ แต่ก็ไม่มีอะไรให้จดจำมากเช่นกัน ด้วยการรั้งอันดับ 11 หลังจบฤดูกาล และร่วงบอลถ้วยตั้งแต่รอบ 32 ทีม

 

 

Adidas | ฤดูกาล 1987-88

 

 

หลังฤดูกาลที่คว้าแชมป์ สโมสรของชาวปารีเซียง มีสปอนเซอร์ชุดแข่งเพิ่มขึ้น นั่นก็คือ Canal+ ช่องโทรทัศน์ในฝรังเศส รวมถึงได้เปลี่ยนผู้ผลิตชุดแข่งจาก Le Coq Sportif เป็น Adidas  

 

อย่างไรก็ตาม ทีมก็ร่วมงานกับ แบรนด์ผลิตอุปกรณ์กีฬาจากเยอรมันแค่ 3 ปีเท่านั้น ก็คือปี 1986-1989 และไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย นอกจากการคว้าอันดับ 2 ในฤดูกาล 1988-89

 

อย่างน้อยชุดเหย้าของทีมกับแบรนด์เมืองเบียร์ก็ยังคงความสวยงามอยู่พอสมควรในฤดูกาล 1986-87 และ 1987-88 ด้วยการใช้สีขาวเป็นหลัก ใช้โลโก้ Adidas แบบเก่า พร้อมด้วย Canal+ กับ RTL ที่เป็นสปอนเซอร์ทีมร่วมกัน และแถบแนวตั้งสีแดงและน้ำเงินเข้มบริเวณฝั่งซ้ายของชุดเหมือนกับชุดแข่งปีก่อนๆที่มี Le Coq Sportif เป็นผู้ผลิต

  

 

Nike

 

 

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 1989 เปแอสเช ก็เซ็นสัญญากับ ไนกี้ แบรนด์กีฬาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือสปอนเซอร์ผลิตชุดแข่งรายที่ 4 ของสโมสร และเป็นแบรนด์แรกที่ใส่โลโก้สโมสรบนเสื้อ ก่อนที่ทั้งคู่ก็ร่วมงานกันมานับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน 

 

แม้จะได้แบรนด์ดังมาผลิตชุดแข่งให้ แต่ความสำเร็จต่างๆในสโมสรก็ยังไม่มากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ โมนาโก, น็องต์ส กับ บอร์กโดซ์ ในยุค 90 หรือ โอลิมปิก ลียง ที่ครองเบอร์หนึ่งในแดนหอมถึง 7 ปีติดในยุค 2000 ทว่าการเทคโอเวอร์ของ กาตาร์ สปอร์ต อินเวสต์เมนต์ หรือ QSI ในฤดูกาล 2011-12 ทำให้ทีมเปลี่ยนไปตลอดกาล

 

พวกเขากลายเป็นทีมมหาเศรษฐีในชั่วพริบตา พร้อมกับกวาดนักเตะฝีเท้าดีทั่วทั้งยุโรปมาร่วมทีมจนกลายเป็นสโมสรเบอร์หนึ่งในลีกเอิงแบบไร้เทียมทาน ซึ่งยังส่งผลต่อยอดขายเสื้อสโมสรด้วย เช่นในฤดูกาล 2017-18 ที่ขายได้เกือบ 900,000 ชุด มากกว่า 11 เท่าที่ทีมขายได้ราวๆ 80,000 ชุด ระหว่างปี 2006-2011 รวมกัน

 

อีกทั้ง เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2019 เปแอสเช ยังขยายสัญญาระยะยาวกับ Nike เป็นผู้ผลิตชุดแข่งถึงปี 2032 พร้อมได้ค่าสปอนเซอร์ถึง 80 ล้านยูโรต่อปี และสัญญาใหม่นี้ยังคลอบคลุมถึงการผลิตชุดแข่งให้ทีมหญิงของสโมสรอีกด้วย

 

ตลอด 31 ปี Nike ผลิดชุดแข่งที่มีสวยงามและเป็นที่จดจำของแฟนบอลมากมาย แต่ด้วยจำนวนที่เยอะกว่าแบรนด์อื่นเป็นพิเศษ จึงขอแบ่งเป็น 3 ยุคดังนี้

 

 

ยุค 90 | ฤดูกาล 1993-94

 

 

เหตุผลหลักที่เลือกชุดในฤดูกาลนี้ เนื่องจากนี่เป็น แชมป์ลีกสมัยที่ 2 ที่ เปแอสเช เคยคว้ามาครองได้ และทำได้อย่างสมศักดิ์ศรีหากย้อนไปดูเรื่องราวอันอื้อฉาวจากฤดูกาลก่อน

 

โอลิมปิก มาร์กเซย คว้าแชมป์ลีกในปี 1993 เหนือ เปแอสเช ที่คว้าอันดับ 2 เพียง 4 คะแนน แต่ก็ถูกริบแชมป์ในครั้งนั้นเนื่องจากคดีติดสินบน ทำให้ แชมป์จะตกเป็นของสโมสรจากปารีส ทว่า พวกเขาปฏิเสธมันไป ก่อนจะคว้าโทรฟี่นี้อย่างขาวสะอาดในฤดูกาลต่อมา

 

สำหรับชุดแข่งในฤดูกาลนั้น มีลวดลายสีน้ำเงินตัดกับลายเส้นน้อยใหญ่สีแดงที่ดูฉูดฉาดกว่าที่ทีมเคยมี โดยมี Commodore บริษัทผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากอเมริกา, Tourtel เครื่องดื่มจากฝรั่งเศส 2 สปอนเซอร์อยู่ตรงกลางเสื้อ

 

 

ยุค 2000 | ฤดูกาล 2005-06

 

 

นี่คือยุคที่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในลีกเอิงเลย ทำได้แต่เต็มที่แค่อันดับ 2 เท่านั้น แต่แชมป์บอลถ้วยก็ยังพอปลอบประโลมให้แฟนบอลปารีเซียงได้มีความสุขบ้าง เช่นในฤดูกาล 2005-06 ที่พวกเขาเอาชนะ โอลิมปิก มาร์กเซย 2-1 ในนัดชิงเฟรนช์ คัพ 

 

โดยชุดแข่งในครั้งนั้น สโมสรได้มีการปรับเปลี่ยนจากปีก่อนพอสมควร เช่นการวางโลโก้สโมสรให้อยู่ตรงกลางอก ใช้สีน้ำเงินเข้มเป็นหลัก และมีแถบสีแดงเส้นขอบขาววางอยู่ตรงกลาง แต่ยังมี Thomson เป็นสปอนเซอร์ให้เช่นเดิม เพียงแต่นี่เป็นปีสุดท้าย ก่อนที่ Fly Emirates จะเข้ามาแทนที่

 

นอกจากนี้ ชุดในฤดูกาล 2005-06 ยังกลายเป็นต้นแบบให้กับชุดแข่งของ เปแอสเช ในหลายฤดูกาลต่อๆมาที่แฟนบอลหลายคนคุ้นเคยกันด้วย

 

 

ยุค 2010 | ฤดูกาล 2019-20

 

 

หลังได้พลังด้านการเงินจาก QSI เปแอสเช ก็ครองแชมป์ลีกเอิง ได้ 7 สมัย จาก 8 ปี นับตั้งแต่ฤดูกาล 2012-13 เป็นต้นมา และถูกยกให้เป็นเต็งแชมป์ของฟุตบอลในทุกรายการที่พวกเขาลงแข่ง

 

ชุดแข่งในยุค 2010 มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันพอสมควร ทั้งการใช้สีน้ำเงินเข้มตัดกับเส้นสีแดงหรือขาว แต่จะมีรายละเอียดลวดลายบนเสื้อที่ทำให้ชุดแต่ละปีมีความแตกต่างกันไป แต่เราก็เลือกชุดแข่งในฤดูกาลล่าสุด ซึ่งเป็นชุดที่ทีมใช้ผ่านเข้ารอบตัดเชือก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาลนี้ และกวาดแชมป์ทุกรายการในประเทศมาครองด้วย

 

หลัง Fly Emirates เป็นสปอนเซอร์ให้ทีมนาน 13 ปี เปแอสเช ก็ได้ ALL (Accor Live Limitless) เครือโรงแรมดังระดับโลกมาเป็นผู้สนับสนุนคาดอกรายใหม่ โดยตัวเสื้อยังเป็นสีน้ำเงินเข้มเป็นเอกลักษณ์ โดยเน้นเส้นสีขาวตรงกลางที่คาดล้อมเส้นสีแดงในแนวตั้ง