เจ้าป่าคัมแบ็ค : ฟอเรสต์กับการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกรอบ 23 ปี

เจ้าป่าคัมแบ็ค : ฟอเรสต์กับการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกรอบ 23 ปี

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม ปี 2022 จะเป็นวันที่แฟนบอล น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ จะไม่มีทางลืมแน่นอน 

เกือบๆ 25 ปีหลังจากที่ทีม ‘เจ้าป่า’ ตกชั้นไปจากพรีเมียร์ลีกปี 1999 ในยุคที่ รอน แอ็ตกินสัน กุมบังเหียน การทำเข้าประตูตัวเองของ เลวี่ โคลวิลล์ กองหลังฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ที่ยืมมาจาก เชลซี ส่งผลให้ทีมของ สตีฟ คูเปอร์ คว้าชัยในเกมนัดชิงชนะเลิศเพลย์ออฟของ แชมเปี้ยนส์ชิพ ที่เวมบลี่ย์ และได้กลับมาเล่นในลีกสูงสุดสมใจ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทีมจากน็อตติ้งแฮมไชร์ เผชิญหน้ากับความวุ่นวายไม่มีหยุด อีกทั้งกุนซือมากหน้าหลายตาก็ไม่สามารถทำให้พวกเขาเลื่อนชั้นไปได้ จนกระทั่งการมาของ สตีฟ คูเปอร์ ที่ใช้เวลาแค่ 8 เดือนเท่านั้นก็สามารถทำสิ่งนี้สำเร็จเสียที

ด้วยเหตุนี้ UFA ARENA จึงขออาสาพาไปย้อนรำลึกกับช่วงเวลารุ่งเรืองและตกต่ำของ ฟอเรสต์ ก่อนที่พวกเขาจะทะยานกลับมาสู่พรีเมียร์ลีกได้ในรอบ 23 ปี

 

สโมสรโยโย่แรกในพรีเมียร์ลีก

สมัยยังใช้ชื่อดิวิชั่น 1 ในยุค 70, 80 และ 90 น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ถือเป็นสโมสรระดับต้นๆในอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสโมสรในยุคก่อตั้งพรีเมียร์ลีกแรกเริ่มในปี 1992 ด้วย

ช่วงนั้น ไบรอัน คลัฟ กุนซือระดับตำนานของสโมสร ยังทำหน้าที่คุมทีมอยู่ และพาทีมจบท็อป 10 ของลีกได้ถึง 3 ปีติดก่อนหน้านั้น ทำให้มีแววว่าอนาคตของทีมจะสดใสเมื่อเข้าสู่ฟุตบอลยุคใหม่

แต่ในฤดูกาล 1992-93 กลับเป็นปีที่มีแต่เรื่องชวนปวดหัว แม้ทีมของ คลัฟ จะมีผู้เล่นฟอร์มแจ่มอย่าง รอย คีน, สจ๊วร์ต เพียร์ซ, สก็อต เกมมิลล์ และ เอียน วอน แต่สุดท้ายก็จมบ๊วยของลีก มี 9 แต้มห่างจากโซนปลอดภัย ชนะเพียงแค่ 10 เท่านั้นจาก 42 เกม

อย่างไรก็ตาม สแตน คอลลี่มอร์ กลายเป็นฮีโร่คนใหม่ของ ฟอเรสต์ หลังซัดไป 50 ประตูในช่วง 2 ฤดูกาลต่อมา ทำให้ทีมเลื่อนชั้นกลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้ง แถมยังทำผลงานยอดเยี่ยมในยุคของ แฟรงค์ คลาร์ก ที่พาทีมจบอันดับ 3 ของลีกในฤดูกาล 1994-95

แม้จบอันดับ 9 ในปีต่อมา แต่การที่ ‘เจ้าป่า’ จบอันดับที่ 20 ในปี 1996-97, เลื่อนชั้นกลับมาในปี 1997-98 และตกชั้นอีกครั้งในปี 1998-99 ทำให้พวกเขาถูกยกให้เป็นสโมสรโยโย่ทีมแรกๆในพรีเมียร์ลีก

 

ดิ้นรนในลีกรอง

ด้วยการที่ตกชั้นในรายหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ ฟอเรสต์ ถูกยกเป็นตัวเต็งเลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกทันที ทว่าหลังจากปี 1999 ทุกอย่างดูไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป เริ่มตั้งแต่ยุคที่ เดวิด แพลท ที่ควบบทผู้เล่นและกุนซือของทีมในฤดูกาล 1999-2000

พวกเขาเสมอใน ซิตี้ กราวน์ดถึง 10 นัด ขณะที่แพ้ไปถึง 14 นัดในฤดูกาลนั้น ทำให้มีแต้มห่างจากโซนเพลย์ออฟถึง 20 แต้ม แม้ในฤดูกาลต่อมา แพลท จะทำให้ทีมกระเตื้องขึ้นมาด้วยการห่างจากอันดับ 6 เพียง 6 แต้ม แต่นั่นก็ยังต่ำกว่าที่แฟนๆคาดหวังไว้มาก

แพลท เลือกลา ‘เจ้าป่า’ ในปี 2001 เพื่อหันไปรับงานกุนซือทีมชาติอังกฤษชุด U-21 ขณะที่ พอล ฮาร์ท ผู้รับช่วงต่อ ก็พาทีมจบอันดับ 16 ในปีแรก แต่ก็เป็นช่วงที่หนี้เริ่มพอกพูนขึ้นมา ซึ่งเกิดจากสมัยที่ แพลท คว้าแข้งโปรไฟล์สูงมาร่วมทีม

ปัญหาการเงินยังคงดำเนินต่อไปในฤดูกาล 2002-03 แต่ ฟอเรสต์ในยุคของ ฮาร์ท ก็ยังทำอันดับจนเข้าไปเล่นรอบเพลย์ออฟได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็พ่ายให้กับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์รวม 5-4

ปี 2004 ดิวิชั่น 1 ถูกรีแบรนด์ชื่อใหม่เป็น แชมเปี้ยนส์ชิพ ซึ่งทำให้ทีม ‘เจ้าป่า’ ก็ถือเป็นสโมสรยุคก่อตั้งของลีกเหมือนสมัยพรีเมียร์ลีกเช่นกัน และพวกเขาก็ตกชั้นไปเล่นในลีกวัน ทันที หลังอยู่ใน แชมเปี้ยนส์ชิพ ได้แค่ปีเดียว

โจ คินเนียร์ เข้ามาแทนที่ แกรี่ เม็กสัน ในเดือนมกราคมปี 2005 แม้พยายามเร่งเครื่องในช่วงสุดท้ายแต่ก็ไม่ทันการณ์ ต้องร่วงไปเริ่มกันใหม่ในลีกระดับ 3 ของประเทศอย่าง ลีกวัน

 

ร่วงสู่ลีกวัน

การตกชั้นจาก แชมเปี้ยนส์ชิพ ในปี 2005 ทำให้ ฟอเรสต์ ต้องหล่นไปเล่นลีกระดับ 3 แดนผู้ดีเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พวกเขาคว้าแชมป์ดิวิชั่น 3 แดนใต้ ในฤดูกาล 1950-51

สำหรับแฟนบอล ‘เจ้าป่า’ รุ่นหลังๆ การหล่นไปในเล่นใน ลีกวัน คือสิ่งที่พวกเขาไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาก็ไม่ได้ต้องการให้ทีมรักวนเวียนอยู่ในลีกระดับนี้นานเกินไปเช่นกัน

ฟอร์มของทีมก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก แต่ก็ยังเกือบจบอันดับเพลย์ออฟ เมื่อชนะไป 8 จาก 13 เกมสุดท้าย ในฤดูกาล 2005-06 จนทำแต้มห่างจากอันดับ 6 เพียง 2 คะแนนเท่านั้น 

ต่อมา คอลิน คัลเดอร์วู้ด ได้เข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ของทีมในฤดูกาล 2006-07 โดยวาง แกรท์ โฮลต์ เป็นดาวยิงเบอร์หนึ่งที่ยิงไป 14 ลูกในปีนั้น เป็นแกนหลัก และเกือบเลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติ หลังทำแต่มห่างจากอันดับ 2 เพียง 3 คะแนนเท่านั้น น่าเสียดายที่ดันไปพ่าย เยโอวิล ทาวน์ ในรอบตัดเชือกด้วยสกอร์รวม 5-4

แต่ปีที่ 3 ในลีกวัน ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างทีมจาก น็อตติ้งแฮมไชร์ แล้ว กับ ฤดูกาล 2007-08 ที่อาจไม่ได้โชว์ฟอร์มสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยอดเยี่ยมพอในการเลื่อนชั้น ด้วยการแก้แค้น เยโอวิล ทาวน์ เอาชนะไป 3-2 ในวันสุดท้ายของลีก พร้อมเลื่อนชั้นกลับไปเล่นใน แชมเปี้ยนส์ชิพในฐานะทีมรองแชมป์

 

กุนซือเปลี่ยนแต่ผลงานไม่เปลี่ยน

3 ปีที่ห่างหายไป ณ ตอนนี้ ฟอเรสต์ กลับคืนสู่ลีกรองอีกครั้ง แต่ คัลเดอร์วู้ด ก็พาทีมจบรองบ๊วยในวันบ็อกซิ่งเดย์ ก่อนแยกทางกับทีม หลังพ่ายคาบ้านต่อ ดอนคาสเตอร์ โรเวอร์ส 4-2

บิลลี่ เดวี่ส์ เข้ามารับช่วงต่อ ก่อนพาทีมรอดตกชั้นด้วยการจบอันดับที่ 19 และในฤดูกาลต่อมา กุนซือชาวสก็อต ก็เกือบพาทีมกลับมาโลดแล่นในพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้ง กับการจบอันดับ 3 ในลีก แต่ก็พ่าย แบล็คพูล ในรอบเพลย์ออฟตัดเชือก ขณะที่ปีต่อมาก็จบอันดับ 6 แต่ก็ไปตกม้าตายในรอบเพลย์ออฟอีกครั้ง ด้วยการแพ้ สวอนซี รอบตัดเชือก

เดวี่ส์ รู้สึกว่า หากบอร์ดหนุนหลังเขาในเรื่องเสริมทัพ ก็จะทำให้ ‘เจ้าป่า’ มีลุ้นคว้าแชมป์เพื่อเลื่อนชั้นเต็มตัวแน่นอน แต่จาการล้มเหลวในรอบเพลย์ออฟ 2 ปีติด ทำให้เขาถูกยกเลิกสัญญาในซัมเมอร์ปี 2011

จากนั้นเก้าอี้กุนซือในถิ่น ซิตี้ กราวด์ ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไม่ต่างจากเก้าอี้ดนตรีในหลายๆปีต่อมา ทั้ง สตีฟ แม็คคราเลน ที่คุมทีมได้เพียง 10 นัดก็โดนเด้ง ก่อนที่ สตีฟ ค็อตเตอริลล์ จะประสบชะตากรรมเดียว หลัง ตระกูล อัล-ฮาซาวี่ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในซัมเมอร์ปี 2012

ฌอน โอดิสคอยล์ เข้ามาใช้เงินหลายล้านปอนด์ในการเสริมทัพ แต่ก็อยู่ในถึงช่วงบ๊อกซิ่ง เดย์ ส่วน อเล็กซ์ แม็คลิช เข้ามาคุมทีมได้เพียง 6 เกมก็ลาสโมสร

ดังนั้น พวกเขาจึงหันไปดึง เดวี่ส์ เข้ามาคุมทีมอีกครั้ง และหวังพาสโมสรจบท็อปซิกซ์เป็นครั้งที่ 3 ในแชมเปี้ยนส์ชิพ แต่ก็โดนปลดหลังพาทีมไม่ชนะใครมา 8 เกมติดในช่วงท้ายซีซั่น โดยฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นในเกมดาร์บี้มิดแลนด์สฝั่งตะวันออก ด้วยการพ่าย ดาร์บี้ ยับเยิน 5-0

ขณะที่กุนซือรายต่อๆมา มีทั้ง สจ๊วร์ต เพียร์ซ, โดกี้ ฟรีดแมน, ฟิลิปป์ มอนทาเนียร์ และ มาร์ค วอร์เบอร์ตัน แต่ก็ไม่มีใครพาทีมจบอันดับครึ่งตารางบนได้เลย

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ‘เจ้าป่า’ เกือบต้องไปเริ่มใหม่ใน ลีกวัน อีกครั้ง เมื่อฤดูกาล 2016-17 ทีมแพ้ยับรัวๆในยุคของ วอร์เบอร์ตัน แต่กลับรอดแบบเหลือเชื่อ เมื่อมี 51 แต้มเท่ากับ แบล็คเบิร์น ทีมอันดับที่ 22 แต่มีผลต่างประตูดีกว่าแค่ลูกเดียว 

 

กลับมามั่นคงอีกครั้ง

Nottingham Forest FC - 2020-21 seasonal hospitality on sale from Thursday

ฟอเรสต์ เริ่มต้นฤดูกาล 2018-19 โดยมี ไอตอร์ การันก้า เป็นกุนซือ พร้อมทำผลงานได้ดีด้วยการแพ้แค่ 2 จาก 20 นัดแรก ก่อนเริ่มสะดุดในช่วงเทศกาลเดือนธันวาคม แต่จากนั้นก็มาขอยกเลิกสัญญาในเดือนมกราคม หลังคุมทีมเพียงปีเดียว

มาร์ติน โอนีลล์ ตำนานแข้งของ เจ้าป่า ในยุค ไบรอัน คลัฟ พาทีมครองแชมป์ทั้งในอังกฤษและระดับทวีปช่วงปลายยุค 70 ได้เข้ามาแทนที่ การันก้า แต่ผลงานโดยรวมก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมนัก จบอันดับกลางตารางที่ 9 

แม้ได้โอกาสคุมทีมต่อไป แต่ก็มีรายงานว่า โอนีลล์ สูญเสียอำนาจการคุมทีมในห้องแต่งตัวไปแล้ว และสุดท้ายบอร์ดของทีมก็เลือกปลดเขาหลังทำงานคุมทีมในถิ่น ซิตี้ กราวด์ ได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น

ซาบรี ลามูชี่ อดีตแข้งทีมชาติฝรั่งเศส ที่แฟนบอลส่วนใหญ่ในอังกฤษไม่ค่อยรู้จัก ได้เข้ามาคุมทีมเพื่อกอบกู้ ‘เจ้าป่า’ ในฤดูกาล 2019-20 และเกือบพาทีมทำอันดับไปเล่นเพลย์ออฟได้ในรอบ 10 ปีด้วย แต่การสะดุดพ่าย 2 เกมสุดท้ายต่อ บาร์นสลี่ย์ และ สโต๊ค ซิตี้ ตามลำดับทำให้ทีมจบแค่อันดับที่ 7 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องดีๆก็ยังมี เพราะ ลามูชี่ กลายเป็นกุนซือของ ฟอเรสต์ คนแรกที่คุมทีมจนจบฤดูกาลในรอบเกือบทศวรรษ

แต่สุดท้ายก็เข้าสูตรเดิม เมื่อ ทีมจาก น็อตติ้งแฮมไชร์ กลับมาฟอร์มดึงลงเหวอีกครั้งในฤดูกาลถัดมา จนทำให้ กุนซือชาวฝรั่งเศส ถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม ก่อนที่ คริส ฮิวจ์ตัน จะเข้ามารับช่วงต่อ และดีกรีในการพา นิวคาสเซิ่ล หรือ ไบรท์ตัน เลื่อนชั้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกมาแล้ว นี่ทำให้เป็นการแต่งตั้งกุนซือใหม่ที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้วในตอนนั้น

ทว่าฟุตบอลได้ง่ายขนาดนั้น เมื่อ ฮิวจ์ตัน พาทีมเสมอไปถึง 16 นัดจาก 42 เกม แม้ได้ย่ำแย่จนต้องหล่นไปจมอยู่ในโซนตกชั้น แต่ก็มันห่างไกลจากการไปเล่นเพลย์ออฟเช่นกัน กับการจบอันดับที่ 17 ห่างจาก บอร์นมัธ อันดับ 6 ถึง 25 แต้ม

 

23 ปีที่รอคอย

ฮิวจ์ตัน ยังได้โอกาสจากบอร์ดให้คุมทีมต่อไปในฤดูกาล 2021-22 แต่การพาทีมไม่ชนะใคร 7 นัดแรกติดต่อกันในลีก ก็เพียงพอที่จะทำให้สโมสรตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกุนซืออีกครั้ง ก่อนหันไปเลือก สตีฟ คูเปอร์ ที่แยกทางกับ สวอนซี ในช่วงซัมเมอร์ปีเดียวกัน โดยเซ็นสัญญาคุมทีมในถิ่น ซิตี้ กราวด์ เป็นเวลา 2 ปี

คูเปอร์ เข้ามาสร้างอิมแพ็คให้กับทีม ‘เจ้าป่า’ ทันที ด้วยการแพ้นัดเดียวจาก 14 เกมแรกที่คุม พร้อมพาทีมขึ้นไปรั้งอันดับครึ่งตารางบนเป็นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนธันวาคม พร้อมส่วนอื่นๆก็พัฒนาขึ้นตามไปด้วย ทั้งประตูที่เกิดขึ้น หรือการครองบอลเฉลี่ยที่ 50.2% ติด 10 อันดับแรกในลีก

แม้ทีมไม่ได้หล่นจากครึ่งตารางบนเลยนับตั้งแต่นั้น แต่ กุนซือชาวเวลส์ ก็ต้องใช้เวลาจนถึงเดือนเมษายน กว่าจะทีมเข้าไปทำอันดับลุ้นไปเล่นเพลย์ออฟแบบเต็มตัว และทะยานขึ้นไปแบบไม่หันกลับไปมองข้างหลังอีกต่อไป

ฟอเรสต์ เก็บไป 21 จาก 24 แต้มเต็มในเดือนนั้น ยิงไป 19 ประตู และเสียเพียงแค่ 2 ลูก ทำให้โผล่ขึ้นมารั้งอันดับ 2 เป็นเวลาราวๆ 11 ชั่วโมง แต่ว่าการพ่าย บอร์นมัธ 0-1 ในต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้อันดับชองทีมตกลงมา แต่สุดท้ายก็ยังนิ่งพอที่จะจบอันดับ 4 เพื่อไปลุ้นเลื่อนชั้นต่อมารอบเพลย์ออฟ

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คือคู่แข่งของทีม ‘เจ้าป่า’ ในรอบตัดเชือก ซึ่งตอนแรกก็เหมือนจะผ่านไปได้แบบไม่มีปัญหา เมื่อบุกไปนำ 2-0 ถึง บรามอลล์ เลน แต่การที่ แซนเดอร์ เบิร์ก ยิงประตูตีไข่แตกให้ทีม ‘ดาบคู่’ ยังมีหวังในการไปเล่นที่ เวมลี่ย์

เกมเลกสองที่ ซิตี้ กราวด์ เบรนแนน จอห์นสัน พาทีมขึ้นนำไปก่อน แต่ เชฟฯยูไนเต็ด ก็ยังฮึดตามตีเสมอได้จาก มอร์แกน กิ๊บส์-ไวท์ และ จอห์น เฟล็ก ทำให้ต้องไปลุ้นกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ แต่ก็ต้องลากยากไปถึงช่วงยิงจุดโทษ เนื่องจากไม่มีใครยิงประตูเพิ่ม

ทว่าการที่ กิ๊บส์-ไวท์ ยิงพลาด ส่งผลให้ ทีมของ คูเปอร์ ได้เข้าไปเล่นนัดชิงที่ เวมบลี่ย์ โดยพบกับ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ อีกทีมตัวเต็งเลื่อนชั้นเช่นกัน

เกมนั้นมีประตูเกิดขึ้นแค่ลูกเดียว จากจังหวะที่ เจมส์ การ์เนอร์ กึ่งยิงกึ่งผ่านเข้าไปให้ ไรอัน เยตส์ ในกรอบเขตโทษ แม้ เลวี่ โควิลล์ พยายามสกัด ทว่าผิดเหลี่ยมจนบอลเข้าประตูไปต่อหน้าแฟนบอลทีม ‘เจ้าตูบ’ ที่ยืนอยู่เชียร์อยู่ในสนาม

  และการทีม ฮัดเดอร์สฟิลด์ ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ ทำให้ ฟอเรสต์ เอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 1-0 คว้าแชมป์เพลย์ออฟของแชมเปี้ยนส์ชิพไปครอง 

มากไปกว่านั้น แฟน ‘เจ้าป่า’ จะได้เห็นทีมรักกลับมาโลดแล่นในพรีเมียร์อีกครั้ง หลังจากต้องอดทนรอมานานกว่า 23 ปี และไม่ว่าอนาคตในฤดูกาลหน้าจะเป็นอย่างไร นี่จะเป็นอีกช่วงเวลาที่พวกเขาไม่มีทางลืมแน่นอน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ครบรส : 7 เกมเพลย์ออฟแชมเปี้ยนส์ชิพสุดมันส์
ครบรส : 7 เกมเพลย์ออฟแชมเปี้ยนส์ชิพสุดมันส์