ห้าวแต่เด็ก : เมื่อซลาตันโผล่ทดสอบฝีเท้ากับคิวพีอาร์

ห้าวแต่เด็ก : เมื่อซลาตันโผล่ทดสอบฝีเท้ากับคิวพีอาร์

หลังจากที่โลดแล่นในฐานะนักฟุตบอลอาชีพมานาน 24 ปี ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ก็ปิดฉากเส้นทางนี้ในปี 2023 หลังประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบเกมนัดปิดฤดูกาลของ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี กับ เอซี มิลาน

ดาวเตะวัย 41 ปี เริ่มต้นค้าแข้งกับ มัลโม่ ทีมดังในสวีเดน บ้านเกิด ก่อนสร้างชื่อกับ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม พร้อมย้ายไปเล่นให้ทีมดังมากมายทั้ง ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน, บาร์เซโลน่า, เอซี มิลาน, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แอลเอ กาแล็คซี่ ก่อนกลับมาปิดฉากอาชีพกับ รอสโซเนรี่ ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมด

ด้วยคาแรคเตอร์ที่หยิ่งผยอง ไม่เกรงกลัวใคร ประกอบกับฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม ทำให้ หอกเลือดไวกิ้ง เป็นหนึ่งในนักเตะที่น่าจดจำที่สุด และเขาก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยดาวรุ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นตอนอายุอานามมากขึ้น 

หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือสมัยที่เขาไปทดสอบฝีเท้ากับ ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ที่มี เจอร์รี่ ฟรานซิส เป็นกุนซือ และปล่อยหนึ่งในนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในยุคปัจจุบันให้หลุดมือไปเพราะความใจร้อนเกินเหตุของพวกเขาเอง

ทว่าสาเหตุที่ คิวพีอาร์ ถึงปล่อยให้นักเตะระดับเวิลด์คลาสหลุดมือก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยและ UFA ARENA จะพาไปพบเรื่องราวผ่านบทความนี้กัน…

 

สู่ยุคตกต่ำ

Image

ย้อนกลับไปในฤดูกาล 1998-99 ถือเป็นช่วงที่ คิวพีอาร์ อยู่ท่ามกลางความหายนะและน่าโศกเศร้าอย่างแท้จริง ซึ่งลากยาวตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 ไปจนถึงต้นยุคที่ 2000 เพราะนั่นคือตอนที่ทีมวนเวียนอยู่ในลีกดิวิชั่น 2 และ 3 ของประเทศพักใหญ่

ทีม ‘ทหารเสือราชินี’ เริ่มต้นยุค 90 ได้อย่างยอดเยี่ยมใน ลอฟตัส โร้ด ทั้งการโลดแล่นอยู่บนลีกสูงสุดของอังกฤษ มีกุนซือมากฝีมืออย่าง เรย์ วิลกิ้นส์ กุมบังเหียน และที่สำคัญมีนักเตะอย่าง เลส เฟอร์ดินานด์ คอยถล่มประตูให้เสมอ

และหลังจากการมาของ เจอร์รี่ ฟรานซิส คิวพีอาร์ ก็เข้าสู่ยุคทองในลูกหนังแดนผู้ดี พวกเขากลายเป็นทีมแถวหน้าของ ลอนดอน จบอันดับ  5 ในปีแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 1992-93 ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเขาผงาดขึ้นมารั้งหัวตารางแบบนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้าม แม้จบท็อป 10 ในพรีเมียร์ลีก อีก 2 หน ทว่า ฟรานซิส ก็ย้ายไปคุม ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1994 และ เฟอร์ดินานด์ ดาวยิงตัวความหวังก็ถูกขายให้กับ นิวคาสเซิล ในเดือนกรกฎาคม 1995 

ฤดูกาลที่ย่ำแย่ตามมาอย่างรวดเร็ว ในปี 1996 คิวพีอาร์ หล่นไปเล่นในลีกรองครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1983 จากนั้นใน 2 ฤดูกาลต่อมา พวกเขาก็ใช้งานผู้จัดการทีมถึง 5 คน (รวมตำแหน่งรักษาการด้วย) แต่ทีมก็ยังวนเวียนอยู่ท้ายตารางในดิวิชั่น 1 

 ในช่วงปลายปี 1998 คิวพีอาร์ ตัดสินใจดึง ฟรานซิส กลับมากุมบังเหียนอีกครั้ง โดยหวังว่าเวทมนตร์เก่าๆ ของเขาจะช่วยกู้วิกฤตในทีมได้ และเสริมทัพในแนวรุกด้วยการคว้า เอียน โดวี่, คริส คิวอมย่า, เควิน กัลเล่น และ สตีฟ สเลด พร้อมเชิญดาวรุ่งวัย 16 ปี จากสวีเดน 2 คนเข้ารับมาทดสอบฝีเท้าเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ทั้งคู่คือดาวรุ่งอนาคตที่ มัลโม่ ปลุกปั้นมาตั้งแต่เด็ก นั่นก็คือ โทนี่ ฟลี่กาเร่ และ ซลาตัน อิบราโมวิช

 

“ไปตายห่าซะ”

QPR's Zlatan Ibrahimovic snub: Rangers turned down superstar when he came  for trial aged 16 | Daily Mail Online

หลายคนคงคิดว่าพวกเขาค่อนข้างกระตือรือร้นที่จะสร้างความประทับใจในอังกฤษ แต่สิ่งที่ ดาวเตะชาวสวีดิช ทำคงสร้างความประทับใจให้กับโค้ชในสนามวันนั้นไม่รู้ลืมแน่นอน

ฟลี่กาเร่ ได้เล่าย้อนถึงประสบการณ์ในการทดสอบฝีเท้าที่แดนผู้ดีกับ Daily Mail ในปี 2014 ว่า “ซลาตัน ครอบครองบอลนานเกินไป และโค้ชก็จัดการแทคเกิ้ลเขาแบบไม่ทันระวังตัว”

“ตอนนั้น ซลาตัน ก็แท็คเกิ้ลเขากลับไป และตอบโต้โค้ชกลับไปว่า ‘ไปตายห่าซะ’ ”

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าคาแรคเตอร์ดุดันและไม่เกรงกลัวใครอันเป็นเอกลักษณ์ของ ดาวเตะ เอซี มิลาน มีมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้ว

ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใจเช่นกันที่โค้ชของ คิวพีอาร์ จะไม่ปลื้มกับพฤติกรรมและคำพูดดังกล่าวของวัยรุ่นสวีดิช โดย ฟลี่กาเร่ ได้เล่าต่อว่า “เขาโกรธ ซลาตัน เป็นฟืนเป็นไฟเลยล่ะ”

“การอยู่ในอังกฤษ นั้นแตกต่างกันมาก เขาเพิ่งบอก ซลาตัน ว่า ‘สำหรับเรื่องนั้น แกจะได้เห็นดีแน่ๆ ’ ผมไม่มีทางลืมเลย และเราก็ไม่ได้ยินข่าวจาก คิวพีอาร์ อีกเลย ในความคิดของผม ซลาตัน ก็คงไม่อยากเล่นหรืออยู่ในอังกฤษ แหละ”

อิบราฮิโมวิช อาจสร้างวีรกรรมที่ยากจะลืมเลือนในขณะนั้น แต่อีก 18 ปี ต่อมาเขาก็พิสูจน์ว่าไม่ได้เกลียดความคิดที่จะค้าแข้งในลีกอังกฤษ ทั้งหมด เมื่อย้ายมาเล่นกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

แน่นอน ทัศนคติของ หอกแดนไวกิ้ง ที่มีต่ออังกฤษ อาจแตกต่างออกไปหากเทียบช่วงเวลาของเขาในปี 2016 กับปี 1998 ทั้งอายุที่ต่างกัน ลำดับความสำคัญต่างกัน แต่ คิวพีอาร์ ต้องคิดอย่างแน่นอนว่า ถ้าโค้ชของพวกเขาไม่รีบร้อนเข้าปะทะเพื่อแย่งบอลกลับมาหรือทำให้ อิบราฮิโมวิช หัวเสียเกินไป  นักเตะอาจเลือกค้าแข้งกับทีม, อาจกลายเป็นเสาหลัก หรือทำเงินให้สโมสรได้มากมายในอนาคต

แต่ช่วงเวลาแห่งความองอาจและอีโก้ของดาวรุ่งชาวสวีดิช ได้หายไปจาก ลอนดอน แล้ว หลังเจ้าตัวเลือกกลับมา มัลโม่ และเปิดตัวอาชีพค้าแข้งที่นั่น และหลังจากนั้นไม่กี่ปี อาแจ็กซ์ ก็คว้าตัวไปร่วมทีมในซัมเมอร์ปี 2001

เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จในเอเรดิวิซี่ และช่วงเวลามหัศจรรย์ที่เขาจารึกไว้ในเสื้ออาแจ็กซ์ ก่อนที่จะโยกย้ายอีกครั้งไปยูเวนตุส หรือทีมดังอื่นๆ หลังกจากนั้น ก็คงพูดได้เต็มปากว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ อิบราฮิโมวิช ไม่มีวันเสียใจแน่นอน

 

พระเจ้าก็ยังเป็นพระเจ้า

Zlatan Ibrahimovic: Swedish legend announces retirement from football at  age 41 | CNN

ตัดภาพกลับมาที่ คิวพีอาร์ ความตกต่ำในทีมก็ยังดำเนินต่อไป หลังชวด อิบรา พวกเขาก็คว้า ลุค คอร์นเวลล์ ด้วยสัญญายืมตัวจาก ฟูแล่ม มาแทน ซึ่งไม่ได้ยิงให้ทีมแม้แต่ประตูเดียว ก่อนพเนจรค้าแข้งในลีกระดับล่างของอังกฤษ และแขวนสตั๊ดในปี 2007

ในเดือนพฤษภาคม ปี 1999 ‘ทหารเสือราชินี’ จบอันดับที่ 20 รอดตกชั้นได้สำเร็จ เนื่องจากมีผลต่างลูกได้เสียดีกว่า บิวรี่ ที่หล่นไปเล่น ดิวิชั่น 2

2 ฤดูกาลต่อมา เรนเจอร์ส ไม่โชคดีนัก เพราะต้องหล่นไปเล่นในดิวิชั่น 3 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ท่ามกลางมรสุมอันเลวร้ายจากการจัดการทางการเงินที่ผิดพลาดและเรื่องอื้อฉาวในสโมสร และกว่าจะกลับมาเล่นในพรีเมียร์ได้อีกครั้งก็ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีเลย

สำหรับ อิบราฮิโมวิช นี่ก็ไม่ใช่โอกาสสุดท้ายที่เขาอาจได้ย้ายไปอังกฤษ ในช่วงเริ่มต้นอาชีพของเขา

เพราะในปี 2001 ก่อนที่เซ็นสัญญากับ อาแจ็กซ์ ดาวรุ่งแดนไวกิ้ง ถูกเชิญไปลอนดอนอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มาจาก อาร์เซน เวนเกอร์ กุนซือของ อาร์เซน่อล

แต่ต่อมา อิบราโมวิช ก็เผยว่า “ผมไม่ได้ทดสอบฝีเท้าหรอก ผมมาเพื่อเจรจากับ อาร์เซน่อล แต่ เวนเกอร์ อยากให้ผมทดสอบฝีเท้า และผมก็ตอบกลับไปว่า ผมไม่ทดสอบหรอกนะ คุณก็รู้ว่าผมเป็นใคร”

และหลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นใน คิวพีอาร์ ก็ไม่แปลกที่ กองหน้าชาวสวีดิช จะเลือกปฏิเสธ ‘ปืนใหญ่’ เช่นกัน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อังเก้คนที่ 7  : 6 กุนซือเซลติกโยกคุมทีมแดนผู้ดีนับตั้งแต่ปี 2000
อังเก้คนที่ 7  : 6 กุนซือเซลติกโยกคุมทีมแดนผู้ดีนับตั้งแต่ปี 2000