บูมสุดขีด : ยุคทองของแฟนบอลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลก

แฟนบอลไม่เคยพลาดชมเกมในสนามมานานร่วมปีนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  และหลังการฟื้นตัวจาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้สถิติผู้ชมถูกทำลายอีกครั้งหรือไม่

ในฤดูกาลปัจจุบัน แฟนบอลได้รับอนุญาตให้เข้าไปชมเกมในสนามได้แล้ว แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กีฬาชนิดนี้กลับมาเปิดประตูต้อนรับผู้ชมอีกครั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่ทำให้การแข่งขันหยุดชะงักลง

ในปี 1946 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แฟนบอลกลับมาชมเกมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อค้นหาความคุ้นเคยในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล การจำกัดการเดินทาง, การจำกัดการชุมนุม หรือการพกหน้ากากกันแก๊ส กลายเป็นวิถีชีวิตในช่วงการรบบนโลก ทั้งหมดนี้อาจค่อยๆหายไปหลังสงคราม แม้ว่าบาดแผลแห่งความขัดแย้งจะยังคงอยู่ก็ตาม

หลังจาก 7 ปีที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลลีก แฟนบอลส่วนใหญ่ในอังกฤษต่างหมดหวังที่จะเข้าไปชมการแข่งขันและเชียร์ทีมรักในสนาม โดยเกมลีกนัดสุดท้ายที่เกิดขึ้นในแดนผู้ดีขึ้นวันเสาร์ที่ 2 กันยายน ปี 1939 ที่แบล็คพูล เอาชนะ วูล์ฟแฮมป์ตัน ไป 2-1 ต่อหน้าแฟนบอล 20,000 คน

วันต่อมา สหราชอาณาจักรประกาศทำสงครามกับ นาซีเยอรมัน รัฐบาลสั่งปิดสถานที่ให้ความบันเทิงและสนามกีฬาทั้งหมด ก่อนที่ เอฟเอ จะประกาศในเวลาต่อมาว่าฟุตบอลถูกระงับการแข่งทั้งหมด…

 

ฟุตบอลช่วงสงคราม

How English football responded to the second world war | Soccer | The  Guardian

อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าพวกเขาก็ตัดสินใจว่ารูปแบบเกมที่จำกัดสามารถช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจและบรรเทาความกดดันจากความขัดแย้งที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแปดเดือนของสงครามลวง ตั้งแต่การประกาศนั้นจนถึงเดือนพฤษภาคม 1940 และการรุกรานฝรั่งเศสของเยอรมนีและประเทศเล็กๆก็มีเพียงการรบประปรายเท่านั้น

ฟุตบอลในช่วงสงครามโลกเป็นเวอร์ชันที่ถูกลดทอนขนาดเป็นอย่างมาก วิธีการจัดตารางการแข่งขันกระชับมิตรระหว่างทีมที่ถูกจัดตั้งขึ้นชั่วคราว โดยทีมต่างๆ ถูกจัดอยู่ใน 10 มินิลีกระดับภูมิภาคในอังกฤษ และมี 2 ทีมอยู่ในสกอตแลนด์ แต่นักฟุตบอลหลายร้อยคนได้สมัครเข้าร่วมสงคราม มีไม่น้อยที่ไม่ได้กลับมาเหยียบสนามฟุตบอลอีกเลย

ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีความตื่นเต้นสำหรับผู้เล่นในเกมลีกช่วงสงคราม เนื่องจากผู้เล่นที่เป็นอิสระจากสัญญาของพวกเขาสามารถเป็นแขกรับเชิญให้กับสโมสรอื่นได้ เช่น ทอมมี่ ลอว์ตัน ผู้ทำประตูสูงสุดในดิวิชั่น 1 ในฤดูกาล 1938/39 ให้กับเอฟเวอร์ตัน ย้ายไปเล่นให้กับเลสเตอร์, กรีน็อค มอร์ตัน, เชสเตอร์, อัลเดอร์ช็อต และใช้ผู้เล่นในช่วงสงครามทั้งหมด 168 คน

แต่ก็มีแฟนๆไม่กี่คนที่ได้เห็นฝีเท้าของ ลอว์ตัน และผู้ชมเกมในช่วงสงครามค่อนข้างต่ำ สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดด้านความปลอดภัยสาธารณะ เมื่อกองทัพนาซีเริ่มทิ้งระเบิดทางอากาศในสหราชอาณาจักร ทางการสั่งห้ามฝูงชนจำนวนมากไม่ให้มารวมกันในพื้นที่แออัด

สโมสรฟุตบอลต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากตำรวจท้องที่ก่อนที่จะเปิดสนาม และในขั้นต้นจำกัดผู้เข้าชมได้ไม่เกิน 5,000 คน ซึ่งต่อมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 จากนั้น 15,000 หรือราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม 

การจำกัดการเดินทาง 50 ไมล์ทำให้แฟนบอลไม่สามารถเดินทางไปชมเกมนอกบ้านได้หลายนัด ในขณะที่ผู้ที่เดินทางได้นั้นได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ซึ่งรัฐบาลแจกจ่ายให้พลเมืองทุกคน

 

สนามท่ามกลางเสียงระเบิด

แม้มีการทิ้งระเบิดและจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามที่เลวร้าย แต่ก็มีแฟนๆเข้ามาชมเกมเต็มความจุในสนามแบบจำกัด ณ เดือนเมษายนปี 1941 มีสักขีพยานกว่า 8,000 คนชมเกมที่ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ เอาชนะ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ขณะที่ 7,500 คนเห็น เชลซี คว้าชัยเหนือ อาร์เซน่อล

ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน สกอตแลนด์และอังกฤษถึงกับตกลงเตะเกมทีมชาติในช่วงยังการรบกันบนโลก ณ สนาม แฮมพ์เดน ปาร์ด โดยมีการจำกัดคนเข้าชม 50 เปอร์เซ็นต์ของสนาม ซึ่งในยุคนั้นมีความจุมากถึง 150,000 ที่นั่ง นั่นหมายความว่ามีแฟนเข้าชมถึง 75,000 คน ในเกมดังกล่าวและจบลงด้วยผลเสมอ 1-1

แน่นอนว่าย่อมมีความวิตกเกี่ยวกับขนาดของการชุมนุม เนื่องจากกลาสโกว์ซึ่งมีงานต่อเรือตามแม่น้ำไคลด์เป็นเป้าหมายของเครื่องบินทิ้งระเบิดของนาซี ทว่าประสบการณ์นั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้แฟนๆ ที่มีทนทุกข์จากสงครามได้พักผ่อนหย่อนใจ นักข่าวคนหนึ่งกล่าวว่าเสียงคำรามดังก้องกังวานจากฝูงชนในแฮมป์เดน ปาร์ค ไม่ต่างจากเสียงเพลงอันไพเราะเลยด้วยซ้ำ

แม้ว่ามาตรฐานฟุตบอลในรายการจะต่ำ แต่กีฬาดังกล่าวช่วยเบี่ยงเบนความสนใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากส่วนใหญ่ และอาจบอกได้ว่ามีส่วนเล็กๆเกี่ยวกับศึกสมรภูมิด้วย

“ฟุตบอลในช่วงสงครามไม่มีการเปลี่ยนตัว แต่มันมีจุดมุ่งหมายของมันอยู่” ทอม ฟินนี่ย์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ ที่เป็นแขกรับเชิญไปเล่นให้ เซาแธมป์ตัน ในช่วงนั้นก่อนถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ กล่าว

“ฟุตบอลช่วยให้ประเทศได้หลบหนีจากการใช้ชีวิต และมันก็สนุกอย่างทั่วถึง แม้จะมีระเบิดก็ตาม”

ในเดือนมกราคม 1946 เป็นเวลา 4 เดือนหลังจากสิ้นสุดสงคราม มีการประกาศว่าโปรแกรมลีกเต็มรูปแบบจะได้รับการฟื้นฟูสำหรับฤดูกาลถัดไป

“ประชาชนยืนอยู่ข้างเราอย่างกล้าหาญในช่วงการรบระหว่างชาติในโลก และพวกเขาจะได้รับการตอบแทนความจงรักภักดีนั้นโดยเร็วที่สุด” หนึ่งในผู้บริหารคนหนึ่งของวงการลูกหนังกล่าวกับ Yorkshire Post

เพื่อดึงดูดแฟน ๆ ให้กลับไปชมเกมอีกครั้ง เอฟเอ และ ฟุตบอลลีก ได้สั่งให้ลดราคาค่าเข้าชมมาตรฐานเหลือ 1 ชิลลิงกับ 3เพนนี (เทียบราคาเท่ากับ 2.70 ปอนด์ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม สโมสรบางแห่งขาดแคลนรายได้ที่เหมาะสมในช่วงสงคราม ทำให้มีการขึ้นราคาตั๋วอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียรายได้จากหน้าสนาม

แม้มีแฟนๆบ่นพึมพำ แต่กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ช่วงฟื้นฟูลูกหนัง

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลที่พวกเขากลับมาดูแตกต่างอย่างมากกับฟุตบอลที่พวกเขาจากไป ทุกๆทีมในลีกจำเป็นต้องสร้างทีมขึ้นมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับสนามเหย้าของหลายๆทีม ผู้เล่นหลายคนได้รับบาดเจ็บ ไม่ก็ล้มตาย หรือแก่เกินกว่าจะกลับมาเล่นฟุตบอลอาชีพแล้วในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 

ดาวรุ่งหลายคนโชว์ผลงานได้โดดเด่นในเกมลีกช่วงสมรภูมิโลก แต่ก็ยังขาดแคลนผู้เล่นอยู่ ในขณะเดียวกัน สนามที่ถูกโจมตีหรือถูกเปลี่ยนเพื่อทำการรบ และการขาดแคลนเงินและวัสดุทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมการซ่อมแซมได้อย่างง่ายดาย

โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีทางอากาศในปี 1940 และ 1941 จึงทำให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องย้ายไปเล่นร่วมสนามกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมอริร่วมเมืองแบบชั่วคราาวใน เมน โร้ด จนถึงปี 1949 ทางด้าน สแตมฟอร์ด บริดจ์, บรามอล เลน และ โรเคอร์ ปาร์ด ก็โดนถล่มจนเสียหายหนัก สนาม เซนต์แอนดรูว์ถูกระเบิด 20 ถึงครั้งและอัฒจันทร์ถูกไฟไหม้เมื่อพนักงานดับเพลิงพยายามดับไฟด้วยน้ำมันโดยไม่ได้ตั้งใจ

สนามที่เคยได้รับการร้องขอให้เป็นศูนย์ฝึก, สถานีโจมตีทางอากาศ หรือคลังเก็บสินค้า จะต้องได้รับการฟื้นฟูสู่จุดประสงค์เดิม เช่น ไฮบิวรี่ ที่ถูกใช้งานและเสียหายจากระเบิดในช่วงสงคราม ทำให้ อาร์เซน่อล ต้องย้ายไปเล่นใน ไวท์ ฮาร์ท เลน ในช่วงนั้น

หลายพื้นที่ถูกรื้อถอนราวบันไดและอุปกรณ์โลหะอื่น ๆ และอุปกรณ์เพื่อช่วยในการทำศึก ในขณะที่สโมสรบางไม้ไม่สามารถเปิดทำการสนามได้อีกครั้ง เพราะรังเหย้าของพวกเขายับเยินกว่าจะซ้อมแซมได้

ก่อนฤดูกาลลีก 1945/46 ในอังกฤษ การแข่งขันเอฟเอ คัพ ถูกจัดขึ้นอย่างเร่งรีบ ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลครั้งแรกหลังสงคราม และมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เมื่อการแข่งรอบก่อนถึงรอบรองชนะเลิศ ถูกจัดให้เตะเป็น 2 เลก เพื่อจัดหารายได้เพิ่มเติมให้กับสโมสรที่ขาดแคลนเงิน ซึ่งก็ตรงกับความต้องการแฟนบอลที่อยากเข้ามาชมเกมแบบเต็มประดาอยู่แล้ว

ทว่าความสนใจที่ท่วมท้นนี้ ประกอบกับความไม่เหมาะสมของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสมรภูมิและถูกละเลย นำไปสู่หายนะที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของฟุตบอลอังกฤษในเวลาต่อมา

ณ วันที่ 9 มีนาคมปี 1946 กองเชียร์มากถึง 80,000 คนรวมตัวกันที่เบิร์นเดน ปาร์ค เพื่อร่วมการแข่งขันเอฟเอ คัพ ระหว่างโบลตัน กับ สโต๊ค ซึ่งพื้นที่คาดว่าจะมีความจุ 69,500 แต่สภาพทรุดโทรมหลังสงครามก็ไม่สามารถยัดคนได้เต็มจำนวนตามปกติอยู่แล้ว ความคลั่งไคล้ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 33 คน ในขณะนั้นหนังสือพิมพ์เรียกมันว่า “โศกนาฏกรรมฝูงชนฟุตบอลที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ”

 

แฟนบอลบูมสุดขีด

อย่างไรก็ตาม เมื่อลีกฟุตบอลกลับมาเตะกันอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 1946 แฟนบอลกลับหลั่งไหลเข้ามาท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก ผู้คนเกือบล้านคนเข้าร่วม 43 นัดเปิดสนามในอังกฤษ โดย 5 เกมจาก 11 เกมในดิวิชั่น 1 ดึงดูดแฟนๆได้มากกว่า 50,000 คน และ 61,464 คนก็ชมเกมที่ เชลซีเอาชนะโบลตันที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์

ข้ามไปยัง สกอตแลนด์ เทรนด์แฟนบอลแห่ชมเกมก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง เรนเจอร์ส ต้อนรับผู้ชมกว่า 50,000 รายในเกมเหย้านัดแรกของฤดูกาล 1946-47 เทียบกับเกมสุดท้ายช่วงก่อนสงครามมีเพียง 15,000 คนเท่านั้นในฤดูกาล 1939-40 ขณะที่ เซลติก มีผู้ชมกลับมาราวๆ 33,000 คน และในเดือนมกราคมปี 1947 มีแฟนๆชมเกม โอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี้ ที่ ไอบรอกซ์ กว่า 85,000 คน

ด้วยระยะห่างระหว่างฤดูกาลในลีกนานกว่า 7 ปี ทำให้แฟนบอลบางคนลืมไปว่าทีมไหนอยู่ในดิวิชั่นไหนบ้าง แบล็คเบิร์น และ เชฟฟิลด์ยูไนเต็ดได้รับการเลื่อนชั้นเมื่อจบฤดูกาล 1938-39 และเข้ามาแทนที่ในดิวิชั่นหนึ่งในปี 1946-47 ร่วมกับ กริมสบี้และเบรนท์ฟอร์ด ส่วน  แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ และเลสเตอร์อยู่ในดิวิชั่น 2

หลายคนที่ชมโปรแกรมในเกมนัดเปิดสนามต่างพบว่ารายชื่อ 11 ตัวจริงเต็มไปด้วยผู้เล่นที่ไม่คุ้นเคย ทีมทั้งระดับบนและล่างในแดนผู้ดีได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ นำไปสู่ฤดูกาลที่คาดเดาไม่ได้ เอฟเวอร์ตัน แชมป์เก่าหล่นไปอยู่กลางตาราง ขณะที่ อาร์เซน่อล จมอยู่ท้ายตาราง ส่วน ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ไม่ใช่ทีมเต็งก่อนสงครามโลก กลับขึ้นมาลุ้นแชมป์เต็มตัว ก่อนที่ หงส์แดง จะเป็นฝ่ายชูถ้วยแชมป์ลีก โดยมี 2 แต้ม เหนือ ยูไนเต็ด, วูล์ฟส์ และ สโต๊ค

ท้ายที่สุด ผลการแข่งขันและอันดับในลีกดูมีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมที่สูง ซึ่งดำเนินต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาล แม้ว่าการมาถึงของฤดูหนาวอันโหดร้ายจะทำให้ต้องเลื่อนการแข่งขันมากกว่า 140 นัด และขยายฤดูกาลออกไปอีกแปดสัปดาห์จนถึงกลางเดือนมิถุนายน

จำนวนแฟนบอลทั้งหมดที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกในฤดูกาล 1946-47 อยู่ที่ 35.6 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขก่อนสงครามที่ 27 ล้านคนในปี 1938-39

ในดิวิชั่น 2 นิวคาสเซิล เป็นทีมที่แฟนบอลเข้ามาให้กำลังใจมากที่สุด โดยมีผู้ชมเฉลี่ย 49,379 ราย ขณะที่ลีกสูงสุดเป็น ลิเวอร์พูล ที่มีแฟนบอลเข้าชมเฉลี่ย 45,732 คน

ในหลาย ๆ ด้าน ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเป็นยุคทองของแฟนฟุตบอล จำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางทีมอื่นๆ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แอสตัน วิลล่า และเอฟเวอร์ตัน ที่ตอกย้ำสถิติฝูงชนในช่วงที่บูมหลังสมรภูมิที่กินเวลากว่า 7 ปี โดยสถิติของยูไนเต็ดยังคงอยู่ในปัจจุบัน กับฝูงชนจำนวน 81,962 คนดูการเสมอกับอาร์เซนอลในเดือนมกราคม 1948 แม้ว่าในตอนนั้นพวกเขาเตะกันที่ เมน โร้ด สนามของเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ก็ตาม

 

พรีเมียร์ลีกยังเทียบไม่ได้

จำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกในปี 1948-49 อยู่ที่ 41.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.3 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 1938-39 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ปี 1948 มีผู้ชมมากถึง 1,167,446 คนในเกมลีก 44 นัดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 38,792 ในฤดูกาล 1948-49

ตัวเลขจำนวนขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยแม้แต่ในยุคพรีเมียร์ลีก โดยผู้ชมเฉลี่ยในทั้ง 4 ดิวิชั่นคือ 22,318 ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่ยังไม่ถูกทำลายเมื่อเปรียบเทียบกับปีหลังจากนั้น จำนวนผู้เข้าชมเฉลี่ยในลีกอังกฤษ ‘ปกติ’ ฤดูกาล 2018-19 อยู่ที่ 38,181 คนในพรีเมียร์ลีก และเฉลี่ย 16,168 คนจากทั้ง 4 ดิวิชั่น 

แนวโน้มแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามที่สูงขึ้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกทั่วโลก โดยมาถึงจุดสูงสุดอย่างแท้จริงในศึกฟุตบอลโลกปี 1950 ซึ่งเป็นนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกระหว่างอุรุกวัยกับเจ้าภาพ บราซิล เล่นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ณ มาราคาน่า สเตเดี้ยม สนามใหม่แกะกล่องในกรุงริโอ เด จาเนโร ซึ่งเป็นสนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอล และมีแฟนบอลกว่า 200,000 คนชมเกมที่ จอมโหด เฉือนชนะ เซเลเซา ไป 2-1 แม้ว่าจะมีแฟนบอลที่ซื้อตั๋วเข้าชม 173,850 รายเท่านั้น แต่ก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นเกมฟุตบอลที่มีแฟนๆเข้ามาชมมากที่สุดในโลก

 

ฟุตบอลหลังยุคโควิด

5 talking points as Premier League gets set to return with packed stadiums  - Independent.ie

ยุคทองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของฟุตบอลมีผู้เข้าชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากนั้นค่อย ๆ ลดลง โดยตัวเลขจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงที่ซบเซาของทศวรรษ 1980 อย่างไรก็ตาม กีฬาชนิดนี้ก็เพิ่มจำนวนผู้ชมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 จนกระทั่งมาหยุดชะงักลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อมีการยกเลิกข้อจำกัดของโรคระบาดในซัมเมอร์ แต่ข้อจำกัดด้านความปลอดภัยยังคงอยู่ และท้ายที่สุด ผู้ชมจะถูกจำกัดด้วยความจุของสนามกีฬา สโมสรในพรีเมียร์ลีกจะคาดหวังว่าสนามของพวกเขาจะเต็มความจุในฤดูกาลล่าสุด หากกระแสไวรัสค่อยลดลง แต่ความกระหายของแฟน ๆ ที่จะกลับไปชมฟุตบอลอีกครั้ง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสโมสรทุกระดับ

เป็นไปได้หรือไม่ที่การกลับมาอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดอาจทำให้มีการบันทึกสถิติใหม่ 75 ปีหลังจากการกลับมาของฟุตบอลหลังสงคราม? ในฤดูกาล 2019-20 ที่ถูกขัดจังหวะจากโควิด จนทำให้ผู้ชมเฉลี่ยของพรีเมียร์ลีกอยู่ที่ 39,349 คน ซึ่งหากไม่มีการเตะแบบปิดสนาม ก็อาจเป็นฤดูกาลที่ทำลายสถิติได้ เพราะจำนวนผู้เข้าร่วมโดยเฉลี่ยยังแตะระดับสูงสุดเหนือลีกอื่นในยุโรปก่อนเกิดโรคระบาด

ฤดูกาล 2020-21 เป็นปีที่เงียบเหงาที่ไร้เสียงของแฟนบอลเกือบทั้งฤดูกาล แต่ตอนนี้ประตูหน้าสนามกลับมาเปิดต้อนรับแฟนๆอีกครั้งในฤดูกาล 2021-22 และถ้าฤดูกาลนี้ปราศจากข้อจำกัด ความกระตือรือร้นของแฟนบอลในการกลับมาชมเกมในสนามก็อาจเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อบวกกับปัจจัยที่ดีในศึกยูโร 2020 อาจทำให้ตัวเลขผู้ชมของสโมสรและลีกอังกฤษเกิดสถิติใหม่ในวงการก็เป็นได้

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อัฟกานิสถาน
ฟุตบอลกลางไฟสงคราม : ทำความเข้าใจวงการลูกหนังอัฟกานิสถาน