2 เกมเดือด : ย้อนรอยรัสเซียปะทะยูเครนในวงการลูกหนัง

ยูเครน

สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย และยูเครน กำลังได้รับการจับตาจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางสงครามที่เกิดขึ้นและอาจรุนแรงรุกรามมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ เริ่มต้นขึ้นในช่วงที่ ยูเครน ทำการปฏิวัติ ยูโรไมดาน (Euromaidan) ปี 2014 ต่อต้าน วิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีที่ถูกมองว่าโปรรัสเซีย และใช้กำลังสลายการชุมนุมจนถูกสภาขับออกจากตำแหน่งจนต้องลี้ภัยไปแดนหมีขาว และ วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ตอบโต้ด้วยบุกยึดไครเมียเป็นของตัวเอง ก่อนความขัดแย้งของ 2 ประเทศนี้ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆในเวลาต่อมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อด้านอื่น และกีฬาอย่างฟุตบอลก็เลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เพราะตั้งแต่ปี 2014 สหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป ออกกฎว่าสโมสรของสองชาตินี้ จะไม่จับสลากเจอกัน ในถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีก, ยูโรป้าลีก และแม้แต่ในฟุตบอลโลก กับฟุตบอลยูโรรอบคัดเลือก เพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าทั้ง 2 ชาติเก่าจากสหภาพโซเวียตจะไม่เคยแข่งขันกันในเกมอย่างเป็นทางการ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน เพียงแต่ต้องย้อนกลับไปในปี 1998 กับ 1999

และเป็นแค่ 2 ครั้งเท่านั้นที่พวกเขาเคยพบกันในวงการลูกหนัง…

 

เริ่มกันใหม่หลังแยกประเทศ

Juha Tamminen on Twitter: "Years of big changes... Euro 1988 USSR (Union of  Soviet Socialist Republics), Euro 1992 CIS (Commonwealth of Independent  States) and finally in Euro 1996 Russia. #UEFA @UEFAEURO #Euro1988 #

สหภาพโซเวียตถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก รวมไปถึงในวงการฟุตบอลด้วย แต่การที่พวกเขาล่มสลายในปี 1991 ทำให้ทีมฟุตบอลที่ผ่านเข้ารอบไปเล่น ยูโร 1992 ต้องเปลี่ยนมาเป็น ทีมรวมของเครือรัฐเอกราช หรือ CIS แทน ก่อนที่แต่ละประเทศจะทำประชามติแยกไปมีเอกราชเป็นของตัวเอง

ฟีฟ่าและยูฟ่าตัดสินใจว่า รัสเซีย จะเป็นทีมที่รับช่วงต่อจากทีมโซเวียต โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์และประวัติศาสตร์ ขณะที่ประเทศอิสระอื่นๆ ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมด นั่นทำให้ ยูเครน มองว่าไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เนื่องจากพวกเขาถือเป็นศูนย์กลางของทีมมานาน เช่นในยุค 80 ที่ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ กุมบังเหียนทีม ผู้ส่วนใหญ่ก็มาจาก ดินาโม เคียฟ และในนัดชิงยูโร 1988 ก็มีนักเตะจากชาติของพวกเขาไม่น้อยกว่า 7 คนที่ลงเป็นตัวจริงในวันนั้น

อีกทั้งการที่ ฟีฟ่า เปิดโอกาสให้นักเตะสามารถเลือกให้ชาติที่ต้องการได้ ทำให้แข้งชาวยูเครนไม่น้อยเลือกเล่นให้ รัสเซีย เนื่องจากมีโอกาสลงเล่นในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่มากกว่า จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องลำบากลำบนอย่างหนักในช่วงยุค 90 กับการสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมา และไม่ผ่านไปเล่นรอบสุดท้ายในฟุตบอลโลกหรือบอลทวีปได้เลย จนกระทั่งการมาของ อังเดร เชฟเชนโก้ กองหน้าดาวรุ่งทำให้พวกเขามีความหวังใหม่อีกครั้ง

ทว่า รัสเซีย ที่ควรจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ก็มีสภาพไม่ได้ดีไปกว่า ยูเครน เท่าไหร่ ทั้งปัญหาการจัดการสมาคมทำให้ผู้เล่นดังหลายคนปฏิเสธลงเล่นในฟุตบอลโลกปี 1994 จนตกรอบแบ่งกลุ่ม รวมถึงล้มเหลวใน ยูโร 1996 และไม่ผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกปี 1998 ทำให้ ยูโร 2000 เป็นความหวังสุดท้ายของผู้เล่นดังหลายคนที่ล้มเหลวในรายการระดับชาติช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ยูเครน ดูพร้อมสุดๆในฟุตบอลโลกปี 1998 รอบคัดเลือก ที่คว้าอันดับ 2 ในกลุ่มเหนือ โปรตุเกส เป็นรอง เยอรมัน เพียง 2 แต้ม แม้พ่ายให้กับโครเอเชีย ในรอบเพลย์ออฟ แต่พวกเขาก็ดูมีอนาคตที่สดใสรออยู่

 

เกมแห่งศตวรรษ

และแล้วโชคชะตาก็นำพาให้อดีต 2 ชาติจากสหภาพโซเวียตกลับมาพบกัน ในยูโร 2000 รอบคัดเลือก กรุ๊ป 4 ที่มี ฝรั่งเศส เป็นตัวเต็งแชมป์กลุ่ม ร่วมด้วย ไอซ์แลนด์, อาร์เมเนีย และ อันดอร์ร่า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทีมรองบ่อนทั้งสิ้น

ณ ตอนนั้น รัสเซีย ได้ดึง อนาโตลี บิโชเวตส์ เข้ามาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ในซัมเมอร์ปี 1998 แทนที่ บอริส อิกนาตีเยฟ ที่ล้มเหลวกับทีมในยูโรหนก่อน และสำหรับ บิโชเวตส์ ก็ไม่คนอื่นคนไกล เพราะเคยพา สหภาพโซเวียต คว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกปี 1988

ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 1996 ยูเครน ก็เคยพิจารณาดึง บิโชเวตส์ เข้ามาเป็นนายใหญ่เช่นกัน โดย โจเซฟ ซาโบ เพื่อนร่วมทีมของ บิโชเวตส์ สมัยค้าแข้งกับ ดินาโม เคียฟ ในยุค 60 เป็นคนแนะนำให้รับงานนี้ แต่การเจรจากับสมาคมไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ ซาโบ ได้รับงานคุม ยูเครน ไปแทน และทันใดนั้นอดีตเพื่อนร่วมทีม 2 คนก็ต้องห่ำหั่นกันเอง

เกมแรกเกิดขึ้นที่ เคียฟ ในวันที่ 5 กันยายน ปี 1998 ซึ่งเป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างยูเครนและรัสเซีย และนักข่าวบางคนระบุว่าเป็นเกมแห่งศตวรรษ พวกเขาคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกหนึ่งปีต่อมา

ทว่า รัสเซีย ที่เตรียมลงเล่นเกมสำคัญ ก็ปัญหาตั้งแต่ในประเทศเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธนำเครื่องบิน เนื่องจากต้องการค่าน้ำมันก่อนทีมต้องจ่ายเงินสดไป อีกทั้งยังขาดกองหลังคนสำคัญอย่าง ยูริ นิคิโฟลอฟ, ดีมิทรี เคห์สตอฟ ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ มอสโตวอย สตาร์ดังจาก เซลต้า บีโก้ แม้บินมาร่วมทีมได้ แต่ก็ไม่ฟิตสมบูรณ์พอเป็นตัวจริง 

เมื่อถึงวันแข่งจริง เป็นแฟนบอลเจ้าถิ่นในเคียฟกว่า 82,000 คนได้เฮลั่นสนาม เมื่อขึ้นไป 2-0 ตั้งแต่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงแรก จาก เซอร์กีย์ โปปอฟ และ เซอร์กีย์ สคาเชนโก้ 

แม้ส่ง มอสโตวอย ลงสนามในนาทีที่ 65 พร้อมมีส่วนช่วยให้ หมีขาว ได้ประตูจาก เยฟเจนี่ วาร์ลามอฟ แต่การที่ ดิมิทรี่ คาริน ผู้รักษาประตูทำฟาวล์ในกรอบเขตโทษโดนจนไล่ออก ทำให้เหลือผู้เล่นแค่ 10 คน พร้อมโดน เซอร์เกย์ เรบรอฟ ยิงเข้าให้ ยูเครนถึงห่าง 3-1

ถึง วิคตอร์ โอนอปโก้ จะยิงให้ทีมไล่ตามมา 2-3 แต่ก็ไม่ทันการณ์ ส่งผลให้พ่ายไปตั้งแต่เกมแรก และสำหรับ ยูเครน นี่เป็นการออกสตาร์ทได้เหมือนฝัน เนื่องจากฝรั่งเศสก็พลาดเสมอกับ ไอร์แลนด์ 1-1 ในวันเดียวกัน

อีก 2 นัดผ่านไป รัสเซีย ก็ยังไม่ฟื้น เมื่อพ่ายทั้ง ฝรั่งเศส 3-2 รวมไปถึงโดนทีมรองบ่อนอย่าง ไอซ์แลนด์ สร้างเซอร์ไพรส์ชนะไป 1-0 ทำให้สถานการณ์ในทีมยิ่งแย่เข้าไปอีก

ในเวลาเดียวกัน ทีมของ ซาโบ คว้าชัยชนะเหนืออันดอร์ราและอาร์เมเนียอย่างง่ายดาย และรั้งอันดับหนึ่งของตารางด้วยคะแนน 9 แต้ม ฝรั่งเศสเป็นอันดับสองด้วย 7 คะแนน ไอซ์แลนด์มี 5 โดยรัสเซียไม่มีแต้มเหมือนกับอันดอร์ร่า

 

ความหวังของหมีขาว

Russia – Ukraine – 1: 1, Euro 2020 qualifying round, game and goal of  Valery Karpin, October 9, 1999 – europe-cities.com

นั่นทำให้ รัสเซีย ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อปลด บิโชเวตส์ ออกจากตำแหน่ง หลังพ่ายไป 6 เกมติด (รวมเกมกระชับมิตรด้วย) และให้ โอเล็ก โรมันต์เซฟ จาก สปาร์ตัก มอสโก มารับช่วงต่อ และปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น

‘หมีขาว’ กลับมาโชว์ฟอร์มแกร่งอีกครั้งในเกมต่อๆมา ทั้งบุกถล่ม อาร์เมเนีย 3-0 และ อันดอร์ร่า 6-1 รวมถึงล้างตาทีม ตราไก่ ได้สำเร็จด้วยสกอร์ 3-2 ขณะที่ฝั่ง ยูเครน แม้ยังไม่แพ้ใคร แต่มาตรฐานก็ตกลงไปพอสมควร ทำให้เก็บผลเสมอถึง 4 จาก 5 ต่อมา ทำให้สถานการณ์ลุ้นเข้ารอบยูโรรอบสุดท้ายของทั้ง 2 ทีม รวมไปถึงฝรั่งเศส ต้องลุ้นกันในนัดสุดท้าย ซึ่ง รัสเซีย จะเปิดสนาม ลุซนิกี้ สเตเดี้ยม พบ ยูเครน ณ วันที่ 9 ตุลาคมปี 1999

รัฐบาลแดนหมีขาว ที่ไม่ได้ให้ความสนใจในฟุตบอลเท่าไหร่ กลับโผล่มาเชียร์ทีมบ้านเกิดถึงสนามแข่ง พร้อมโบนัสอัดฉีดมากมายหากเข้ารอบสุดท้าย โดยในเกมนั้นมีทั้ง วลาดิเมียร์ ปูติน ที่ตอนนั้นยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้ามาชม, ยูริ ลุจคอฟ นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก และนักการเมืองหลายคนได้เห็นเกมนี้จากอัฒจันทร์ของลุซนิกิ และมีข่าวลือว่าแม้แต่ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ก็อยากเข้าร่วมแม้ว่าสุขภาพของเขาจะย่ำแย่

แน่นอนว่านักเตะที่พวกเขาต้องระวังมากที่สุดคือ อังเดร เชฟเชนโก้ ยอดกองหน้าจาก เอซี มิลาน ที่กำลังโชว์ฟอร์มร้อนแรงทั้งในระดับสโมสร แต่ก็ประมาทนักเตะคนอื่นๆของ ยูเครน ไม่ได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ก็มาจาก ดินาโม เคียฟ ที่มี โลบานอฟสกี้ ดูแล

ทว่าประตูที่ทำให้ ฝรั่งเศส ขึ้นนำ ไอซ์แลนด์ ในอีกคู่ทำให้ รัสเซีย กดดันกว่าเดิม เพราะหากพวกเขาทำได้แค่เสมอในเกมนี้ก็จะร่วงไปที่ 3 ชวดแม้กระทั่งตั๋วเพลย์ออฟ

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ทีมของ โรมันต์เซฟ ต้องเดินหน้าบุกเพื่อทำประตูอย่างเดียว ขณะที่ทีมของ ซาโบ ก็ตั้งรับอย่างอดทน เพราะขอแค่ก็เสมอก็การันตีอันดับ 2 ได้อย่างเป็นอย่างน้อย

และแล้ว รัสเซีย ก็ได้ประตูที่ต้องการ เมื่อ วาเลรี่ คาร์ปิน ซัดฟรีคิกสุดสวยให้ทีมขึ้นนำในนาทีที่ 75 ยิ่งทำให้บรรยากาศของแฟนบอลเจ้าถิ่นในสนามครึกครื้นมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเนื่องจากได้ประตูที่ต้องการแล้ว การที่ ฝรั่งเศส ถูก ไอซ์แลนด์ ตามตีเสมอ 2-2 ทำให้พวกเขาทะยานขึ้นไปเป็นแชมป์กลุ่มครั้งแรก

 

การตอบโต้ของยูเครน

เมื่อเห็นทีมตกเป็นรองและเสียประตูแรกในเกมเยือนของรอบแบ่งกลุ่ม ซาโบ ก็ไม่รอช้าเปลี่ยน 2 ตัวรุกอย่าง เซอรเกย์ โควัลยอฟ และ เจนนาดี โมรอซ ลงไปทันทีเพื่อช่วยพลิกเกม ขณะที่ รัสเซีย ก็ลงไปตั้งรับอย่างเต็มตัวเพื่อรักษาผลสกอร์นี้ไว้ให้ได้จนจบเกม

อย่างไรก็ตามในนาทีที่ 88 ก็เกิดเหตุดราม่าขึ้น เมื่อ เชฟเชนโก้ กดฟรีคิกระยะไกลที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแบบที่ใครเห็นก็คงรับได้ แต่ อเล็กซานเดอร์ ฟิลิโมนอฟ นายทวาร หมีขาว กลับรับบอลพลาดปัดไม่อยู่จนบอลลอยเข้าไปประตูส่งผลให้สกอร์กลับมาเสมออีกครั้ง 1-1

ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ 4 นาที รัสเซีย ต้องการประตูเพื่อชัยชนะ และมีโอกาสเป็นจริง เมื่อ เซอร์ฮี มิซิน กองหลัง ยูเครน เคลียร์ไม่ขาด มาเข้าทางของ ดิมิทรี โค๊คห์ลอฟ ทว่า กองกลางจาก เรอัล โซเซียดาด กลับยิงโด่งข้ามคานออกไปแบบไม่ได้ลุ้น

นั่นกลายเป็นจุดจบของ รัสเซีย ทันที ฝรั่งเศส เข้ารอบสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม ส่วน ยูเครน ได้ไปลุ้นเข้ารอบในฐานะทีมเพลย์ออฟ

ด้านสื่อยูเครนเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างดุเดือด โดย Den สื่อหนังสือพิมพ์ มองว่าประเทศของพวกเขาคว้าชัยชนะ และทวงความยุติธรรมจาก รัสเซีย เมื่อ 8 ปีก่อนได้สำเร็จ หลังถูกช่วงชิงมรดกฟุตบอลที่เคยสร้างร่วมกันมาสมัยเป็นสหภาพโซเวียต

ขณะที่สื่อของ รัสเซีย ก็เสียดสีไปแบบเจ็บแสบเช่นกัน โดย Moskovsky Komsomolets สื่อในประเทศพาดหัวข่าวว่า “นี่เป็นของขวัญชิ้นที่สองของเราสำหรับยูเครน ต่อจากแหลมไครเมียที่ให้เป็นชิ้นแรก” และ “การปลอบใจเพียงอย่างเดียวคือการได้เห็นยูเครนแพ้ในรอบเพลย์ออฟ ให้เราตายด้วยกัน เป็นคู่ต่อสู้ไปตลอดกาล”

 

รอวันล้างแค้น(ในสนาม)

Russia 1-1 Ukraine, 1999: 'This is our second present after Crimea' |  Soccer | The Guardian

หลังจากนั้น ยูเครน ก็ดวงดีไม่น้อย เมื่อเลี่ยงพบ อังกฤษ หลังจับฉลากเจอกับ สโลวีเนีย ทว่าคราวนี้กับเป็น อเล็กซานเดอร์ โชฟคอฟสกี้ รับบอลทำพลาด จนพ่ายไปก่อน 2-1 ในเกมแรก และการที่ทำได้แค่เสมอ 1-1 ทำให้ พวกเขาต้องคอตกกลับประเทศไปแบบมือเปล่า

หลังจากนั้นทั้ง 2 ทีมก็ไม่เคยโคจรกลับมาพบกันอีกเลยทั้งในเกมกระชับมิตรหรือเกมอย่างเป็นทางการ และนับตั้งแต่การยึดไครเมียกลับไปของ รัสเซีย ก็สร้างความขัดแย้งให้พวกเขาทั้ง 2 ชาติมากกว่าเดิม จน ยูฟ่า ต้องออกกฎไม่ให้ทั้งพวกเขาจับฉลากมาพบกัน ไม่ว่าในระดับสโมสรหรือระดับนานาชาติก็ตาม

และด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เชื่อว่าทั้ง รัสเซีย และ ยูเครน จะไม่กลับมาดวลแข้งกันในสนามในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

เชื่อว่ามีแฟนบอลแดนหมีขาวไม่น้อยที่เจ็บช้ำจากผลลัพธ์ใน ลุซนิกี้ สเตเดี้ยม และคงรอวันที่จะเห็นชาติของเขาล้างตาเอาชนะ ยูเครน หลังทำได้แค่เสมอกับแพ้อย่างละครั้งจาก 2 เกมที่พบกัน

แต่ก็เชื่อเช่นกันว่า แฟนบอลรัสเซียไม่น้อย ก็คงอยากเอาชนะ ยูเครน แค่ในสนามแข่งขันเท่านั้น ไม่ใช่ในสงครามจริงๆที่พรากชีวิตคนบริสุทธิ์ไปมากมายเช่นกัน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

รัสเซีย
Stop War : เอฟเฟควงการลูกหนังสงครามรัสเซีย-ยูเครน