The Golden Team: ฮังการีผู้พ่ายแพ้ในบอลโลก 1954

The Golden Team: ฮังการีผู้พ่ายแพ้ในบอลโลก 1954

หากจะพูดถึงสุดยอดทีมในฟุตบอลโลกที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันถือว่ามีหลายทีมไม่ว่าจะเป็น เนเธอร์แลนด์ ในยุค 74 และ 78 หรือจะเป็นทีมชาติบราซิล 1982 ที่ว่ากันว่านี่คือทีมฟุตบอลที่เล่นเกมรุกได้สวยงามและตื่นตาตื่นใจที่สุด

แต่ยังมีอีกหนึ่งทีมที่ถือว่าเป็นสุดยอดในยุค 50 เรียกได้ว่าก่อน เปเล่ จะสร้างชื่อเสียอีก วันนี้พาทุกท่านย้อนไปดูสุดยอดทีมที่เคยครองความยิ่งใหญ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกอย่างทีมชาติฮังการีกัน

๐ แชมป์โอลิมปิกถล่มชาติต้นกำเนิดฟุตบอล

หนึ่งในทีมฟอร์มแรงที่สุดของทัวร์นาเมนท์คือ “แม็กยาร์” ฮังการี ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนท์พวกเขาประกาศศักดิ์ดาด้วยการคว้าเหรียญทองฟุตบอลโอลิมปิก 1952 ที่ประเทศฟินแลนด์ ด้วยการเอาชนะทีมแกร่งอย่าง ยูโกสลาเวีย 2-0

ทำให้พวกเขาคือเบอร์ 1 ของโลกในแรงกิ้งฟีฟ่า ครองสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกัน 24 เกม ในปี 1953 แวะไปสอนบอลให้กับทีมชาติอังกฤษที่ตอนนั้นมี สแตนลีย์ แมทธิว (เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนแรก 1956) และอัลฟ์ แรมซีย์ กุนซือแชมป์โลกในกาลต่อมา แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความร้อนแรงของ ฮังการี ที่ถล่ม คาเวมบลีย์ 6-3 ท่ามกลางผู้ชมกว่า 105,000

ความพ่ายแพ้ในเกมนั้นทำให้ อังกฤษ เสียหน้าเป็นอย่างมากชาติที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลโดนถล่มซะยับเยิน

ในปีต่อมา พวกเขานัดล้างตาขอบุกไปเยือนฮังการี ที่บูดาเปสต์ ก่อนเริ่มฟุตบอลโลก หวังที่จะล้างอาย แต่กลับโดน “โกลเด้น ทีม” ถล่มแหลก 7-1 กลายเป็นสถิติที่ทีมชาติอังกฤษ แพ้ให้กับคู่แข่งยับเยินมากที่สุดนับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้

เข้าสู่ทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลก

ในศึกฟุตบอลโลก 1954 ฮังการียังเป็นชุด “โกลเด้น ทีม” นำทัพมาโดยกัปตันทีมอย่าง เฟเรนซ์ ปุสกัส พร้อมด้วยคู่หูจากต้นสังกัดเดียวกัน (บูดาเปสต์ ฮอนเว็ด) อย่าง ซานดอร์ คอคซิซ ส่วนกุนซือคุมทัพคือ กุสตาฟ เซเบส มาในระบบ 3-2-1-4 บุกแหลกแหวกดง

ในรอบแบ่งกลุ่มมี 4 ทีม แต่ล่ะทีม ลงเล่นทีมล่ะ 2 เกม พวกเขาอยู่ในกลุ่มบี ร่วมกับ เยอรมันตะวันตก, ตุรกี และเกาหลีใต้ เริ่มต้นได้โหดสุด ๆ กับการถล่ม เกาหลีใต้ ขาดลอย 9-0 ตามด้วยการถล่ม เยอรมันตะวันตก อีก 8-3 ในรอบแรก ซานดอร์ คอคซิซ ทำแฮตทริก 2 เกมติด เขายิงคนเดียว 7 ประตูจากการลงเล่น 2 นัด (ยิงเกาหลีใต้ 4 ประตู เยอรมันฯ 3 ประตู)

ทำให้ในกลุ่มนี้ ทั้ง ฮังการี ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมไปแบบสบาย ๆ ส่วนเยอรมันตะวันตก ต้องไปเล่นเพลย์ออฟกับตุรกี พวกเขาต้องไปเจอกับบราซิลที่เพิ่งผิดหวังจากฟุตบอลโลกในบ้านเกิดของตัวเองเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

Battle of Bern การต่อสู้อันดุเดือดในสนามฟุตบอล

เกมนี้ถูกเรียกชื่อว่า “แบทเทิ่ล ออฟ เบิร์น” เพราะทั้งสองทีมไม่ได้สู้ด้วยด้วยเทคนิคฟุตบอลตามที่ควรจะเป็น ด้วยสภาพอากาศย่ำแย่ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายที่โหมกระหน่ำ กลายเป็นว่าทั้งสองทีมมาไล่หวดกันอย่างเดียว

โดยมีเหตุการณ์วุ่นวายในจังหวะที่บราซิลเสียจุดโทษ เจ้าหน้าทีมที่บุกลงไปในสนาม จนทำให้ตำรวจต้องเชิญตัวออกไป เกมนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นสงครามในสนามฟุตบอล ทำให้เกมนี้มีผู้เล่นถูกไล่ออกจากสนามถึง 3 ราย มีการฟาวล์มากถึง 42 ครั้ง และ 2 จุดโทษ (ฝั่งล่ะครั้ง)

โจเซฟ บอซซิค ที่สวมปลอกแขนกัปตันทีมในเกมนั้นแทนที่ของ เฟเรนซ์ ปุสกัส ที่ไม่บาดเจ็บในเกมพบกับ เยอรมันตะวันตก คือผู้เล่นของฮังการี ที่ถูกไล่ออกจากสนามไป ขณะที่ นิลตัน ซานโต๊ส และฮุมแบร์โต้ ก็คือสองผู้เล่นของบราซิลที่โดนใบแดงเช่นเดียวกัน

เกมจบลงด้วยชัยชนะของ ฮังการี ที่ถล่มบราซิล 4-2 จากการทำสองประตูของ ซานดอร์ คอคซิซ แต่ไฮไลท์สำคัญหลังจบเกม ผู้เล่นทั้งสองทีมเข้าไปทะเลาะกันต่อในอุโมงค์ มีรายงานว่าผู้เล่นของบราซิลบุกเข้าห้องแต่งตัวของฮังการีเพื่อไปสาวกันต่อ แม้จะมีหลักฐานชัดเจนถึงพฤติกรรมอันรุนแรงของทั้งสองฝ่าย แต่ฟีฟ่าก็นิ่งเฉยไม่ได้มีบทลงโทษอะไรตามมา

อาร์เธอร์ เอลลิส ผู้ตัดสินชาวอังกฤษที่ทำหน้าที่ในเกมนั้นได้กล่าวว่า

“ผมคิดว่าเกมนี้จะเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ผมไม่รู้ว่ามันมีการเมืองหรือเรื่องอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่มันน่าอับอายมาก ๆ พวกเขาทำตัวเหยี่ยงสัตว์ และอัปยศ ด้วยสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ผู้เล่นก็เดือดดาน สิ่งเดียวที่ผมตั้งใจคืออยากจะเป่าให้จบ ๆ ไปเสียที”

ส่วนผู้สื่อข่าวของ “เดอะ ไทม์ส” ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้พูดถึงบรรยากาศของการต่อสู้ในเกมนี้เอาไว้เช่นกัน

“ในชีวิตการทำงานของผมไม่เคยเห็นการต่อสู้ที่โหดร้ายและดุดันในสนามฟุตบอลแบบนี้มาก่อน พวกเขาเล่นฟุตบอลราวกับว่าใช้เคียวไล่ฟาดฟันกัน พร้อมด้วยการเล่นที่เหยียดหยาม มีการข่มขู่เกิดขึ้นมากมายภายในเกมนั้น”

ขณะที่ กุสตาฟ เซเบส กุนซือของทีมชาติฮังการีก็ไม่วายได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ด้วย เขามีแผลบริเวณใบหน้าทำให้ต้องเย็บ 4 เข็ม “นี่คือการแข่งขันที่โหดเหี้ยม และดุร้ายที่สุด” เขากล่าวทิ้งทาย

ชัยชนะในเกมนี้ทำให้ ฮังการี ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับ “จอมโหด” อุรุกวัย เจ้าของแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัย และแชมป์เก่า

 

ปราบแชมป์เก่าอุรุกวัย

ในรอบรองชนะเลิศ ฮังการี ถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่งแบบแบเบอร์ พวกเขาต้องโคจรมาพบกับแชมป์เก่าอย่าง อุรุกวัย ที่เข้าร่วมฟุตบอลโลกมา 2 ครั้งได้แชมป์ทั้งสองครั้ง

ฮังการี ไม่มี เฟเรนซ์ ปุสกัส จอมทัพคนสำคัญที่บาดเจ็บไม่ได้ลงสนามตั้งแต่การพบกับบราซิล แต่ยังมีตัวทีเด็ดอีกหลายคน โซลตัน ซีบอร์ และนานโดร์ ฮิเดกคูติ ทำคนล่ะประตูให้ ฮังการี ออกนำไปก่อน 2-0 ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไร รอบชิงชนะเลิศกำลังรอพวกเขาอยู่ไม่ไกล

แต่ทว่า อุรุกวัย ไม่ยอมแพ้ 15 นาทีสุดท้ายมาได้ 2 ประตูรวดจาก ฮวน โฮร์เบิร์ก หัวหอกเชื้อสายอาร์เจนติน่า ทำให้ไล่ตามตีเสมอ 2-2 ต้องไปต่อเวลาพิเศษ

สุดท้ายกลายเป็น ซานดอร์ คอคซิซ ที่เงียบมาตลอดทั้งเกมโผล่ขึ้นมาเหมาสองประตูในช่วงเอ็กซ์ตร้าไทม์ ทำให้ ฮังการี เอาชนะอุรุกวัย 4-2 และยังเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกของทัพ “จอมโหด” ในการลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วย

การต่อสู้ของ ฮังการี และอุรุกวัย ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเกมฟุตบอลที่สวยงามที่สุดในทัวร์นาเมนท์นั้น เพราะต่อสู้กันด้วยเทคนิคเกมรุกที่น่าตื่นตาตื่นใจ ต่างจากเกมรอบ 8 ทีมที่พบกับบราซิลที่ไล่หวดกันราวกันสงคราม

 

Miracle Of Bern

หลังจากปราบทั้ง รองแชมป์ และแชมป์เก่าในฟุตบอลโลก 1950 อย่าง บราซิล และอุรุกวัย ลงได้ ฮังการี ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับ เยอรมันตะวันตก ทีมที่พวกเขาเคยถล่มมาแล้วในรอบแบ่งกลุ่ม 8-3

พวกเขาเข้าขิงฟุตบอลโลกเป็นหนที่ 2 หลังจากครั้งแรกพ่ายให้กับ อิตาลี ในยุคของเผด็จการฟาสซิสต์เมื่อปี 1938 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ทุกสื่อยกให้พวกเขาเป็นเต็งหนึ่งเพราะมีสถิติไม่แพ้ใครมา 32 เกมติด นับตั้งแต่ 1949

เกมนี้ฟาดแข้งกันที่ แวงค์ดอรฟ์ สเตเดี้ยม ฮังการี ปัญหาเดียวของพวกเขาคืออาการบาดเจ็บของ เฟเรนซ์ ปุสกัส แนวรุกกัปตันทีมคนสำคัญที่ไม่ได้ลงเล่นมา 2 รอบที่ผ่านมา ยังฟื้นตัวไม่เต็มร้อย แต่กุนซือ กุสตาฟ เซเบส ตัดสินใจเดิมพันนัดสำคัญด้วยการเข็นลงเป็น 11 ผู้เล่นตัวจริงในระบบ 3-2-1-4

พวกเขาเริ่มต้นได้อย่างร้อนแรงสมราคาทีมเต็งด้วยการออกนำตั้งแต่นาทีที่ 6 จาก เฟเรนซ์ ปุสกัส ที่ไม่ทำให้ผิดหวัง อีก 2 นาทีต่อมา ฮังการี ก็มาได้เพิ่มอีกลูกนำห่างเป็น 2-0 เรียกได้ว่าลงสนามไปเพียง 8 นาที พวกเขาขึ้นนำสองประตู

แต่ดีใจได้ไม่นานเพียง 2 นาทีเท่านั้น แม็กซ์ มอร์ล็อค ก็มายิงประตูตีตื้นไล่มาเป็น 2-1 ก่อนที่ เฮลมุส ราห์น ผู้เล่นในตำแหน่งหน้าขวาจะมายิงให้ เยอรมันตะวันตก ไล่ตามตีเสมอ 2-2 อย่างรวดเร็วในนาทีที่ 18 และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นี้

ครึ่งหลัง ฮังการี พยายามโหมเกมรุกเข้าใส่อย่างหนักแต่ถูกบอลระบบของ เยอรมันตะวันตก ที่เล่นเกมรับได้อย่างเหนียวแน่น โทนี่ ทูเร็ค เซฟช่วยทีมไปหลายครั้ง

เกมดำเนินไปในนาทีที่ 86 เฮลมุส ราห์น ก็มาทำประตูให้ เยอรมันตะวันตก พลิกแซงขึ้นนำ หลังจากนั้น เฟเรนซ์ ปุสกัส ส่งบอลเข้าสู่ตาข่าย แต่ถูกจับล้ำหน้า ทำให้จบเกม เยอรมันตะวันตก เป็นฝ่ายเอาชนะฮังการีไปได้ 3-2 กลายเป็นที่มาของ “ปาฏิหาริย์แห่งเบิร์น” ทีมที่เล่นเกมรับเป็นผู้คว้าชัยชนะ

เยอรมันตะวันตกคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยแรก หลังสิ้นสุดยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วน ฮังการีต้องกลายเป็นทีมที่ต้องผิดหวัง ตลอดทัวร์นาเมนท์พวกเขาแพ้แค่เกมเดียว และดันเป็นนัดชิงชนะเลิศ เกมรุกคือจุดเด่นลงเล่นไป 5 เกม ยิงได้ถึง 27 ประตู ซานดอร์ คอคซิซ คว้าดาวซัลโวด้วยการยิงไป 11 ประตู

ถึงอย่างไรแม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่ชื่อของ เฟเรนซ์ ปุสกัส ได้ย้ายไปเล่นให้กับ “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด ในเวลาต่อมา ก่อนจะโอนสัญชาติไปเล่นให้กับทีมชาติสเปนในฟุตบอลโลก 1962

เขากลายเป็น 1 ใน 4 ของนักเตะที่เล่นฟุตบอลโลก 2 สัญชาติ เช่นเดียวกับ หลุยส์ มอนติ (อาร์เจนติน่า, อิตาลี), โรเบิร์ต โพรซิเนี๊ยคกี้ (ยูโกสลาเวีย, โครเอเชีย) และโรเบิร์ต ยานนี่ (ยูโกสลาเวีย, โครเอเชีย)

ส่วนซานดอร์ คอคซิซ คู่หูรุ่นน้องในทีมชาติก็ได้ย้ายมาค้าแข้งในสเปน เช่นเดียวกับแต่อยู่อีกฝั่งคือ “เจ้าบุญทุ่ม” บาร์เซโลน่า

หลังจากนั้นฮังการี ไม่เคยเข้าใกล้ความสำเร็จในฟุตบอลโลกอีกเลย แม้ว่าทีมในปี 1962 ที่ชิลี จะสร้างความตื่นตาตื่นใจแต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

พวกเขาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ครั้งล่าสุดคือปี 1986 ที่ประเทศเม็กซิโก และไม่เคยผ่านรอบคัดเลือกนับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

ถือว่านี่คือ “โกลเด้น ทีม” ชุดที่ดีที่สุดของพวกเขาอย่างแท้จริง กลายเป็น “ราชันผู้ไร้บัลลังก์” ทีมแรกในศึกฟุตบอลโลก ก่อนที่จะมี “ราชันไร้มงกุฎ” ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในยุคของ “โททัลฟุตบอล” ในเวลาต่อมา